ธุรกิจในเครือของ Jack Ma ยังคงถูกโจมตีจากรัฐบาลจีนอย่างต่อเนื่อง นี่อาจกล่าวได้ว่า อาณาจักรของแจ็ค หม่า กำลังถูกรัฐบาลจีนใส่ “บังเหียนบนหลังม้า” ให้ โดย “ม้า” หรือที่เปรียบเปรยว่าเป็นธุรกิจของหม่านี้ ถูกเตะตัดขาหลายครั้งโดยรัฐบาลจีน ทำให้ธุรกิจในเครือของหม่ามีมูลค่าลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียวจากเมื่อ 9 เดือนที่แล้ว อีกทั้งกระบวนการนี้ก็ยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากในตอนนี้ รัฐบาลจีนกำลังถอดชิ้นส่วนธุรกิจที่มีกำไรมากที่สุดบางส่วนของหม่าให้กับหุ้นส่วนใหม่ที่รัฐบาลเลือกให้ รวมไปถึงหนึ่งในบริษัทที่ทุจริตและการเงินสั่นคลอนมากที่สุดในจีนด้วย
ปี 2020 “แจ็ค หม่า” คือบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศจีน และเป็นผู้ก่อตั้ง Alibaba บริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของจีน และ Ant Group ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการเทคโนโลยีทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก อาณาจักรเครือธุรกิจของแจ็ค หม่า ได้บรรลุสถานะการเป็นมหาอำนาจของภาคเอกชน เทียบเท่ากับมหาอำนาจจากฝั่งตะวันตก โดยแค่เพียง Alibaba บริษัทเดียวก็มีมูลค่ามากกว่าบริษัทรายใหญ่อื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกา ยกเว้นเพียง Apple, Amazon และ Google เท่านั้น
นอกจากนี้ แจ็ค หม่า ยังเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลก และเป็นชาวจีนที่มีชื่อเสียงที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ จากผลสำรวจพบว่า แจ็ค หม่า เป็นที่รู้จักนอกประเทศจีนมากกว่า “สี จิ้นผิง” เสียอีก นอกจากนี้ เขายังถูกยกให้เป็น เจฟฟ์ เบโซส์, อีลอน มัสก์ และบิล เกตส์ ในคนคนเดียวกันอีกด้วย หรืออาจกล่าวได้ว่า แจ็ค หม่า เป็นหน้าเป็นตาของจีนยุคใหม่เลยทีเดียว แม้แต่สื่อจีนเรียกภาคเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตของประเทศว่า “ยุคของหม่า”
ทว่าโชคชะตาของแจ็ค หม่ากลับพลิกผันน่าตกใจ เมื่อทรัพย์สินของเขาถูกถอดถอนออกไปและลดมูลค่าลง
การยกเลิกการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรกหรือ IPO ของ Ant Group ในนาทีสุดท้ายถือเป็นการเปิดฉากความล้มเหลวของแจ็ค หม่า ทั้ง ๆ ที่การเสนอขาย IPO ครั้งนี้จะถูกยกให้เป็นสถิติโลก โดยมีการประเมินว่ามีขนาดใหญ่กว่าครั้งที่ Alibaba เสนอขายหุ้น IPO ในปี 2014 ถึง 40%
ทว่าขนาดของ IPO ก็ไม่ได้แสดงถึงขนาดของปรากฏการณ์ด้านการเงินแต่อย่างใด ในเดือนตุลาคม ปี 2020 การเสนอขายหุ้นของ Ant Group ในครั้งนี้ถือเป็นความบ้าคลั่งอย่างแท้จริง เนื่องจากราคาหุ้นในตลาดเอกชนพุ่งสูงขึ้นถึง 50% ก่อนวันเสนอขาย และมีผู้จองซื้อมากกว่า 80 เท่า โดยสื่อ The Wall Street Journal เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “การแย่งชิงซื้อหุ้นที่มีมูลค่า 3 ล้านล้านดอลลาร์”
ดูเหมือนว่าจะเป็นชัยชนะของหม่า เขาออกมาพูดว่า “นี่เป็นการเสนอขายหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นที่เมืองอื่นที่ไม่ใช่นิวยอร์ก ปาฏิหาริย์กำลังเกิดขึ้น”
สื่อ WSJ ยังรายงานอีกว่า หนังสือสั่งซื้อ (Order books) มีมูลค่ามากกว่า “มูลค่าของหุ้นทั้งหมดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของเยอรมนี” เสียอีก หลังจากนั้น รัฐบาลจีนก็ดับปาฏิหาริย์นี้ลง
หลังจากความล้มเหลวของ IPO หน่วยงานต่าง ๆ ที่กำกับดูแลก็เริ่มเข้ามาถอดชิ้นส่วนธุรกิจของ Ant Group ผ่านการกำหนดโครงสร้างใหม่ พร้อมกับพาร์ตเนอร์ใหม่ โดยธนาคารกลางมีคำสั่งให้ Ant Group จัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งเพื่อแยกธุรกิจออกเป็นส่วน ๆ ภายใต้ข้อกำหนดด้านเงินทุนที่ใช้กฎเช่นเดียวกันนี้กับธนาคาร ซึ่งจะสามารถเปิดประตูให้ธนาคารของรัฐขนาดใหญ่หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่ควบคุมโดยรัฐบาลเข้าซื้อกิจการได้
นอกจากนี้ รัฐบาลยังจับตาดูทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุดชิ้นหนึ่งของ Ant Group ด้วย นั่นก็คือ Big Data ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้มาจากธุรกรรมของผู้บริโภคนับพันล้านคน โดยการวิเคราะห์เชิงเทคโนโลยีแบบเข้มข้นที่มาจากแหล่งข้อมูลนี้จะเป็นพื้นฐานความได้เปรียบทางการแข่งขันของ Ant Group เหนือธนาคารแบบดั้งเดิมในด้านการตัดสินใจของผู้บริโภค ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงมีเป้าหมายที่จะแก้ไขความได้เปรียบนั้น ด้วยการสั่งให้ Ant Group หยุดการผูกขาดข้อมูล
ในเดือนเมษายน มีการเรียกเก็บค่าปรับจำนวน 2.8 พันล้านดอลลาร์จาก Alibaba ซึ่งเป็นเรือธงธุรกิจของแจ็ค หม่า ด้วยเหตุผลว่าบริษัทมีการละเมิดการผูกขาด โดยจำนวนเงินค่าปรับนี้ดูน้อยกว่าความเสียหายจากการล้มเหลวของ IPO ค่อนข้างมาก และผู้สังเกตการณ์บางคนก็ไม่สนใจ นอกจากนี้ บริษัทยังถูกกล่าวหาว่า “ใช้อำนาจครอบงำตลาดในทางที่ผิด” และเป็นอีกครั้งที่ถูกสั่งให้แก้ไขพฤติกรรมและลดขนาดธุรกิจลง
นอกจากนี้ในเดือนเมษายนนี้เอง แจ็ค หม่า ถูกปลดออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย Hupan ซึ่งเป็นโรงเรียนธุรกิจชั้นนำที่เขาก่อตั้งขึ้นในปี 2015 แล้วยังถูกรัฐบาลจีนบังคับให้ระงับการรับนักศึกษาใหม่ โดยมีชาวจีนท่านหนึ่งกล่าวว่า “นี่เป็นสิ่งที่น่ากังวลหากหม่าออกจากตำแหน่งไป เพราะสถาบันนี้มีชื่อเสียงเพราะตัวเขา ไม่ใช่เพราะหลักสูตร”
และเมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานว่า “หน่วยงานที่กำกับดูแลอนุมัติให้ Ant Group เริ่มดำเนินการบริษัทการเงินแห่งใหม่” โดยจะได้สิทธิ์ถือหุ้น 50% ส่วนอีก 50% จะถูกมอบให้กับหุ้นส่วนใหม่หลาย ๆ คน แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ Huarong Asset Management ได้รับหุ้นจำนวน 4.99% ด้วย ซึ่ง Huarong นั้นมีชื่อเสียงที่ไม่ดีเท่าไรนักในหมู่ของนักธุรกิจชาวจีน เนื่องจากในช่วงต้นปีที่ผ่านมา Huarong ที่เป็นผู้ออกตราสารหนี้ต่างประเทศที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์รายใหญ่ที่สุดของจีนด้วยมูลค่า 2.2 หมื่นดอลลาร์ กำลังมีความเป็นไปได้ที่จะผิดนัดชำระ โดยปัญหาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ในจีน และนอกจากนี้ ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา “ไล่ เสี่ยวหมิน” อดีตซีอีโอของ Huarong ได้ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยข้อหารับสินบนและยักยอกทรัพย์อีกด้วย ดังนั้น การนำ Huarong มาร่วมลงทุนในครั้งนี้จึงถูกมองว่าเป็นเหมือนการเย้ยหยันและดูหมิ่น อีกทั้งเป็นการเข้ามาฉุดรั้งบริษัทที่มีพลวัตและสร้างสรรค์ที่สุดเท่าที่จีนเคยมีมาให้ตกต่ำลง แม้ว่าข้อตกลงในการดำเนินธุรกิจครั้งใหม่นี้จะเป็นเสมือน “ไฟเขียว” ของแจ็ค หม่าและ Ant Group ก็ตาม
อ้างอิง Forbes
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด