DeFi 101 เริ่มต้นเรียนรู้โลก DeFi ฉบับมือใหม่ โอกาสทางการเงินแห่งอนาคต | Techsauce

DeFi 101 เริ่มต้นเรียนรู้โลก DeFi ฉบับมือใหม่ โอกาสทางการเงินแห่งอนาคต

ในปัจจุบันนี้หากใครเอ่ยถึงคำว่า Bitcoin หรือ Cryptocurrency ก็ดูจะไม่ใช่อะไรที่แปลกใหม่อะไรนัก แต่หากเราพูดถึง DeFi (Decentralized Finance) มันก็จะเป็นอะไรที่หลายคนสงสัยว่ามันหมายถึงอะไรกันแน่ ซึ่งหากคุณยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร ผมอยากจะบอกว่ามันเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจที่สุดของระบบการเงินในปัจจุบันเลยทีเดียว

 >> อ่านเรื่อง 5 เรื่องที่คุณต้องรู้ เกี่ยวกับ Bitcoin และ Blockchain

DeFI คืออะไร ?

DeFi คือ ระบบการเงินที่ไม่มีตัวกลาง ซึ่งเป็นคำศัพท์ใหม่ล่าสุดในวงการ Blockchain และ Cryptocurrency โดยสื่อถึงระบบการเงินที่ใช้รหัสคำสั่งโปรแกรมบนบล็อกเชนทำงานแทนมนุษย์

สำหรับใครที่เคยได้ยินคำว่า Bitcoin กันมาบ้าง จะเข้าใจว่าโดยพื้นฐานแล้ว Bitcoin คือระบบการเงินไร้ตัวกลางที่สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องอาศัยธนาคารหรือตัวกลางใดๆ ไม่ว่าใครก็สามารถใช้งาน Bitcoin ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใคร หรือไม่ต้องกังวลว่าธุรกรรมของเราจะถูกใครซักคนหยุดยั้งได้

การใช้งานของ Bitcoin ที่เป็นการโอนเงินนั้นอาจจะไม่ใช่การใช้งานที่ดูน่าตกใจอะไร เพราะในความเป็นจริง มันรองรับธุรกรรมจำนวนมากไม่ได้และยังมีต้นทุนการโอนที่สูงกว่าระบบการโอนเงินแบบดั้งเดิม

แต่ส่วนที่เป็นหัวใจหลักของ Bitcoin คือ “การทำงานที่จะถูกต้องเสมอโดยไม่ต้องมีตัวกลาง” ถ้าเราคิดภาพระบบการเงินทั้งหมดนั้นล้วนเต็มไปด้วยตัวกลางมหาศาล ในแง่นึงแล้วตัวกลางเหล่านี้ต่างอำนวยความสะดวกแก่เรา แต่มันก็ตามมาด้วยข้อจำกัดทางการเงินมากมายที่ทำให้เราต้องปฎิบัติตามหลักการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขออนุญาตในการเปิดบัญชี การฝากเงิน หรือการโอนเงิน เป็นต้น

ตัวกลางเหล่านี้ถูกสร้างมาเพื่อให้กระบวนการทางการเงินนั้นถูกตรวจสอบ และให้ทุกคนในระบบเชื่อใจได้ว่าจะไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น แต่ด้วยการตรวจสอบจากตัวกลางจำนวนมากทำให้ระบบการเงินแบบดั้งเดิมเชื่องช้ามาก เพราะต้องขออนุญาตจากหลายๆฝ่าย และยังเพิ่มต้นทุนในการสร้างอย่างมหาศาล

เพราะเหตุนี้จึงทำให้แนวคิดของรหัสคำสั่งโปรแกรมบนบล็อกเชน (Smart Contract) ถูกพัฒนาต่อยอดขึ้นมาในชื่อโปรเจค Ethereum ซึ่งเป็นเหรียญอันดับสองของโลก โดยมีมูลค่าตลาดรองจาก Bitcoin นั้นน่าสนใจมาก เพราะในขณะที่ Bitcoin ทำได้แค่การโอนเงินแต่ Ethereum นั้นกลับนำเสนอแนวคิดที่จะทำให้เราสามารถใส่โปรแกรมการทำงานที่ซับซ้อนลงไปบน Blockchain ได้ และหากมันถูกนำไปใช้กับระบบการเงิน นั่นก็เท่ากับว่าเราจะได้ระบบการเงินไร้ตัวกลางแบบใหม่ ที่ทำงานได้ประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าระบบการเงินแบบดั้งเดิมอย่างแน่นอน

ระบบการเงินแบบใหม่ที่ทำอะไรได้มากกว่าแค่การโอนเงินนี้เอง คือสิ่งที่เราเรียกว่า DeFi (Decentralized Finance) ซึ่งในปัจจุบันระบบนี้สามารถทำงานได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงิน  การสร้างสินทรัพย์ การค้ำประกัน การแลกเปลี่ยน และอื่นๆอีกมากมาย ที่สามารถเป็นไปได้ในระบบการเงินแบบดั้งเดิม โดยไม่จำเป็นต้องมีองค์กรหรือธนาคารใดๆเป็นเจ้าของมัน สิ่งนี้สามารถทำงานได้อย่างอิสระเหมือนเครื่องจักรที่มีชีวิต และในปัจจุบันก็มีคนที่เชื่อใจในระบบ DeFi จนมีคนยอมฝากเงินไว้ในระบบนี้รวมกันมูลค่ามากกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ

และด้วยการที่แพลตฟอร์ม DeFi ต่างๆทำงานด้วย Code หรือรหัสคำสั่งโปรแกรมบนบล็อกเชน (Smart Contract) ที่มีความน่าเชื่อถือ ดังนั้นหาก Code นั้นๆระบุว่าจะมีเพียงเราซึ่งเป็นเจ้าของเท่านั้น ที่สามารถ ฝาก-ถอน เงินของเราได้ มันก็จะเป็นเช่นนั้นเสมอ จึงไม่มีทางเลยที่เจ้าของแพลตฟอร์ม DeFi จะสามารถขโมยหรือถอนเงินของเราออกไปได้ และสิ่งนี้เองที่ทำให้เราไม่จำเป็นต้องเชื่อใจในมนุษย์อีกต่อไป เราเพียงแค่เชื่อใจใน Code ก็พอ แต่ในทางตรงกันข้ามหาก Code ของแพลตฟอร์ม DeFi นั้นๆ ตั้งใจเขียนออกมาเพื่อขโมยเงินของเรา และเราไม่ได้ตรวจสอบให้ดี เราก็สามารถสูญเสียเงินได้เช่นกัน ผมจึงขอนิยามโลก DeFi ว่า “Code is law” หรือ Code คือกฎของทุกสิ่ง

นอกจากเรื่องความน่าเชื่อถือของ Code แล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้ DeFi สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดก็คือการสร้าง Sharing Economy ที่มีผลตอบแทนให้แก่ทุกคนที่มีส่วนร่วมในระบบนี้ ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์ม Uniswap ซึ่งเป็น Decentralized Exchange หรือตลาดแลกเปลี่ยนไร้ตัวกลาง โดย Uniswap นี้ทำงานเป็นที่แลกเปลี่ยนสกุลเงินคล้ายๆกับ Super Rich เพียงแต่มันเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล โดยทุกคนสามารถฝากเงินเข้ามาในระบบนี้เพื่อรับส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นจริงได้

ปัญหาหนึ่งที่มีมาตลอดไม่ว่าจะในวงการ Cryptocurrency หรือวงการการเงินทั่วไปคือ หากคุณต้องการจะเปิดตลาดแลกเปลี่ยน คุณต้องทำการเตรียม Liquidity (สภาพคล่องเพื่อการซื้อขาย) ให้ได้มากเพียงพอ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีลูกค้าเข้ามาแลกเปลี่ยน Cryptocurrency หรือสกุลเงินใดๆในแพลตฟอร์มของคุณ

ซึ่ง Uniswap นั้นได้แก้ปัญหานี้อย่างสวยงาม ในปัจจุบัน Uniswap นั้นคิดค่าธรรมเนียมการแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 0.3% ต่อการซื้อขาย ซึ่ง Uniswap จะนำค่าธรรมเนียมในจุดนี้แบบ 100% มามอบให้กับใครก็ตามที่ฝากเงินที่เป็นคู่ซื้อขายสกุลเงินนั้นๆเข้ามาในแพลตฟอร์ม และสิ่งนี้เองทำให้ Uniswap สามารถแก้ไขปัญหาเรื่อง Liquidity ได้อย่างสวยงาม และยิ่งหากมีคนเข้ามาแลกเปลี่ยนบน Uniswap มากเท่าไหร่ คนที่ฝากเงินบน Uniswap ก็จะได้รับผลตอบแทนมากขึ้นเท่านั้น

ในปัจจุบันใครก็ตามที่ฝากสกุลเงินดิจิทัลประเภท Stablecoin ซึ่งเป็นเหรียญที่มีมูลค่าคงที่บน Uniswap ที่จัดว่ามีความเสี่ยงต่ำ จะได้รับผลตอบแทนประมาณ 7-20% ต่อปี ขึ้นกับว่ามีคนซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลบนแพลตฟอร์มมากเท่าไหร่ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับผลตอบแทนในระบบการเงินแบบดั้งเดิม

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นในขณะที่ธนาคารหรือตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราใดๆ ต้องใช้ทรัพยากรด้านกำลังคนมหาศาลในการดูแล แต่ Uniswap นี้กลับถูกสร้างและดูแลโดยโปรแกรมเมอร์เพียง 20 คนเท่านั้น ซึ่งมันสามารถเกิดขึ้นได้บนโลก DeFi โดยทุกวันนี้มีคนมาซื้อขายแลกเปลี่ยนบน Uniswap มูลค่าประมาณ 1.35 พันล้านดอลลาร์ฯต่อวัน และมีปริมาณเงินฝากรวมกว่า 5.6 พันล้านดอลลาร์ฯ

Uniswap นั้นเป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างแพลตฟอร์ม DeFi ที่เปิดตัวมานานที่สุด และยังมีแพลตฟอร์มต่างๆรวมถึงความเป็นไปได้อีกมากมายที่สามารถเกิดขึ้นได้บนโลก DeFi นี้ เราสามารถ ปล่อยกู้ กู้ยืมเงิน ซึ้อขายแลกเปลี่ยน สร้างสกุลเงิน รวมไปถึงขนาดที่ว่าเราสามารถสร้างหุ้นขึ้นมาซื้อขายได้โดยไม่ต้องมีหุ้นจริงๆด้วยซ้ำ!

แต่ไม่ว่ามันจะน่าสนใจขนาดไหนบนโลก DeFi นั้นไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ไร้ความเสี่ยง” เนื่องจากมันยังเป็นอะไรที่ใหม่ และแม้ว่าจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้สร้างตั้งใจให้มันเกิดขึ้น กรณีความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากช่องโหว่ของ Smart Contract ก็มีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากจะกระโจนลงไปสู่โลก DeFi คุณควรจะศึกษาความรู้ให้มาก เพราะราคาของความผิดพลาดนั้นไม่ใช่อะไรที่ถูกอย่างแน่นอน โดยคุณสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองใน รายการ DeFi WTF หรือติดตามข้อมูล DeFi ที่น่าสนใจได้บนเฟสบุ๊คเพจ Kim DeFi Daddy

คราวหน้าเราจะมาเล่าเกี่ยวกับ การสร้างสินทรัพย์หรือที่เราเรียกว่าสินทรัพย์จำลองบนโลก DeFi กันครับ


บทความนี้เป็น Guest Post โดย คุณกานต์นิธิ ทองธนากุล ผู้ก่อตั้งเพจ Kim DeFi Daddy และ Bitcoin Addict Thailand

บทความที่คุณอาจสนใจ

รู้จักกับ Unicorn ในวงการสตาร์ทอัพ พร้อมทิศทางการเกิด Unicorn ในไทย

DeFi 101 ทำความเข้าใจสินทรัพย์สังเคราะห์หรือ Synthetic Asset สกุลเงินดิจิทัลที่ไม่สามารถถูกหยุดยั้งได้


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะเบื้องหลังดีล Zipevent และ Link Station Group สู่การขยายธุรกิจอีเวนต์ในภูมิภาค SEA

การเข้าซื้อกิจการระหว่าง Zipevent แพลตฟอร์มจัดการอีเวนต์และจำหน่ายบัตรออนไลน์ในประเทศไทย กับ Link Station Group บริษัทญี่ปุ่นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบจำหน่ายบัตร (Ticketing System) ถือเ...

Responsive image

KBank x Orbix Technology x StraitsX สาธิตการชำระเงินข้ามพรมแดนด้วยบล็อกเชนที่ SG FinTech Festival 2024

ธนาคารกสิกรไทยร่วมกับ Orbix Technology และ StraitsX เปิดตัวนวัตกรรมชำระเงินข้ามพรมแดนด้วย e-Money on Blockchain ในงาน Singapore FinTech Festival 2024 ชูศักยภาพฟินเทคไทยบนเวทีโลก...

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...