บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประกวด Tech Saucier of The Year 2018 ในระดับ Professional เขียนโดย ผศ. ดร. สิริวัฒน์ สาครวาสี คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่
ธุรกิจการจัดการฟาร์มรูปแบบใหม่ในปีที่ผ่านมาถือว่ากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นแบบสุดๆ เห็นได้จากข้อมูลของเว็บไซต์ Agfunder ที่บ่งชี้ว่าเงินลงทุนกับบริษัทสตาร์ทอัพในกลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับปีก่อน เมื่อพิจารณาข้อมูลโดยละเอียดจะพบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นมาจากการลงทุนครั้งใหญ่มูลค่าถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจฟาร์มปลูกพืชในร่มจากเมืองซานฟรานซิสโก ชื่อว่า Plenty Inc. การลงทุนครั้งนี้มี Softbank เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ซึ่งคาดว่าจะเป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 100 ล้านเหรียญ ถือได้ว่าเป็นการระดมทุนที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของธุรกิจสตาร์ทอัพในกลุ่มเทคโนโลยีด้านการเกษตร ผ่านมาแล้วกว่าหนึ่งปีเรื่องนี้ยังคงเป็นที่สนใจของผู้คนทั่วไปและนักลงทุนว่าเพราะเหตุใด Softbank จึงเลือกลงทุนกับ Plenty Inc. ในจำนวนเงินที่สูงขนาดนั้น
กลุ่มธุรกิจฟาร์มปลูกพืชในร่มโดยใช้แสงไฟแอลอีดีมีผู้เล่นหลักอยู่หลายรายแต่มีเพียงสามรายที่ระดมเงินทุนได้สูงติดสิบอันดับแรกของปี 2017 ที่ผ่านมา โดยแต่ละรายมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป รายแรกคือบริษัท Plenty Inc. ใช้เทคโนโลยีการปลูกพืชในแนวตั้งที่เป็นเอกลักษณ์ โดยระบบปลูกมีลักษณะเป็นเสาหรือกำแพงที่ให้พืชเจริญออกมาจากด้านข้าง การวางระบบแบบนี้ทำให้ประหยัดวัสดุสำหรับใช้ทำโครงสร้างได้มาก รายที่สองคือบริษัท AeroFarms ซึ่งตั้งอยู่ในนิวเจอร์ซีย์ บริษัทนี้ใช้การปลูกพืชแนวนอนอยู่ในชั้นที่ซ้อนกันในแนวตั้งสูงถึงราว 12 ชั้น จุดเด่นของ AeroFarms คือเทคโนโลยีแอโรโพนิกส์ซึ่งเป็นการพ่นสารละลายธาตุอาหารพืชเป็นฝอยขนาดเล็กให้กับรากพืชโดยตรง ระบบลักษณะนี้มีปริมาณน้ำที่ขังอยู่บนชั้นน้อยทำให้น้ำหนักของชั้นปลูกเบาจึงซ้อนกันขึ้นไปในแนวตั้งได้หลายชั้น รายที่สามคือบริษัท Bowery Farming Inc.จากนิวยอร์ก ใช้ระบบปลูกพืชในสารละลายตามแนวนอนโดยมีชั้นปลูกที่ซ้อนกันขึ้นไปประมาณ 5 ชั้น จุดเด่นของโบเวอรี่คือการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิตทำให้ประหยัดแรงงานคนได้มาก เมื่อดูผิวเผินทั้งสามบริษัทที่กล่าวมาต่างก็มีเทคโนโลยีที่มีความโดดเด่นแตกต่างกันไปคนละอย่าง แต่เพราะเหตุใด Softbank ถึงเลือกหนุนหลัง Plenty Inc. เพื่อตอบคำถามนี้เราอาจต้องทำความเข้าใจวิสัยทัศน์ในการลงทุนของ Softbank เสียก่อน
Softbank ก่อตั้งโดย มาซาโยชิ ซัน (Masayoshi Son ชื่อเล่นที่เรียกกันคือ มาซา) ชาวญี่ปุ่นเชื้อสายเกาหลีที่ถูกจัดอันดับให้เป็นผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศญี่ปุ่นเวลานี้ Softbank ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1981 โดยเริ่มต้นจากการทำธุรกิจขายชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และมีการเติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่เน้นการลงทุนในธุรกิจด้านเทคโนโลยี ในปี ค.ศ. 1999 Softbank ลงทุน 20 ล้านเหรียญกับธุรกิจ e-Commerce ขนาดกลางจากประเทศจีนรายหนึ่งที่มีเจ้าของชื่อ แจ็ค หม่า ใช่แล้วครับ บริษัท อาลีบาบา นั่นเอง ในปัจจุบันเงินจำนวนนั้นมีมูลค่าเพิ่มกลายเป็น 100,000 ล้านเหรียญ มาซา ถูกยกย่องว่าเป็นนักลงทุนที่มีวิสัยทัศน์ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่ง เมื่อปลายปี 2016 เขาเขย่าวงการเทคโนโลยีด้วยการประกาศระดมทุนก้อนใหญ่ที่เรียกว่า “Vision Fund” ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ 100,000 ล้านเหรียญ ทุนก้อนนี้จะถูกนำไปลงทุนกับบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยที่การลงทุนแต่ละครั้งจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านเหรียญ ในปี 2017 ที่ผ่านมา Plenty Inc. ก็เป็นหนึ่งในบริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งที่ได้รับเงินลงทุนจาก Vision Fund เป็นที่เข้าใจกันว่าเป้าหมายสูงสุดของ มาซา ในการระดมทุนก้อนนี้นั้นคือการปฏิวัติโลกของเทคโนโลยีครั้งยิ่งใหญ่ในทุกมิติ ดังนั้นบริษัทที่เขาจะลงทุนด้วยก็จะต้องมีความทะเยอทะยานในระดับที่สูงกว่าบริษัทสตาร์ทอัพทั่วๆไปอย่างชัดเจน
ย้อนกลับมาที่คำถามที่ได้เริ่มไว้ตั้งแต่ต้นว่าเพราะเหตุใด Softbank ถึงเลือกลงทุนกับ Plenty Inc. โดยส่วนตัวแล้วผมวิเคราะห์ว่ามีสามเหตุผลหลักที่เป็นไปได้ เหตุผลแรกคือ Plenty Inc.มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในแง่ของการสร้างเครือข่ายระบบฟาร์มในร่มให้ครอบคลุมทั้งโลก โดยเมื่อต้นปี 2018 ที่ผ่านมา แมทธิว บาร์นาร์ด (Matthew Barnard) CEO ของบริษัทเดินทางไปที่กรุงปักกิ่งเพื่อจ้างพนักงานสำหรับการมองหาสถานที่สำหรับการสร้างฟาร์มในจีนแล้ว โดยในเบื้องต้นบาร์นาร์ดระบุว่าฟาร์มของ Plenty Inc.แต่ละแห่งจะมีขนาดมโหฬารถึงราว 12,000 - 40,000 ตารางเมตร (ปกติต้นทุนของระบบปลูกพืชในร่มเฉลี่ยอยู่ที่ราว 120,000 บาทต่อตารางเมตร ลองคิดดูว่าต้องใช้ทุนสูงขนาดไหนในการสร้าง) นอกจากจีนแล้วบาร์นาร์ดยังพบกับตัวแทนรัฐบาลจากประเทศอื่นๆอีกจำนวนหนึ่งด้วยเพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการขยายกิจการในประเทศเหล่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาบริษัทสตาร์ทอัพอื่นๆที่ดำเนินธุรกิจฟาร์มปลูกพืชในร่ม Plenty Inc. นั้นเป็นบริษัทเดียวที่แสดงท่าทีอย่างชัดเจนที่สุดว่าต้องการสร้างเครือข่ายฟาร์มในร่มระดับโลกมาตั้งแต่แรก ด้วยวิสัยทัศน์ที่อลังการแบบนี้เองที่น่าจะตรงกับความต้องการของ Softbank
เหตุผลที่สองคือ Plenty Inc. นั้นอาจจะมี “หมัดเด็ด” เป็นเทคโนโลยีบางอย่างซึ่งกำลังถูกพัฒนาอยู่และยังไม่ได้เปิดเผยสู่สาธารณชน เป็นไปได้ว่าสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ เนื่องจากในตอนหนึ่งของการสัมภาษณ์โดยนักข่าวจากเว็บไซต์ Agfunder บาร์นาร์ด พูดถึงความสำคัญของการใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อลดการพึ่งพาแรงงานคน พร้อมกับเผยออกมาว่าบริษัทกำลังพัฒนาบางสิ่งที่แปลกใหม่สุดๆเกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิต อีกหนึ่งความเป็นไปได้ของหมัดเด็ดนี้คือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา Plenty Inc รับอดีตพนักงานของ Tesla เข้าทำงาน 2 คนและหนึ่งในนั้นคือ เคิร์ท เคลตี้ (Kurt Kelty) ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ของ Tesla มาก่อน เคลตี้นั้นเข้ามาร่วมกับ Plenty Inc. หลังจากที่บริษัทได้รับทุนจาก Vision Fund เพียงไม่นาน พลังงานไฟฟ้าถือเป็นปัจจัยหลักของการทำฟาร์มในร่มโดยคิดเป็นประมาณ 28% ของต้นทุนดำเนินการทั้งหมด ดังนั้นความสำเร็จของการทำฟาร์มในร่มจึงขึ้นอยู่กับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสำคัญ
เหตุผลที่สามคือ Plenty Inc. นั้นไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพียงแค่การผลิตผักใบเหมือนกับบริษัทอื่นๆ แต่สนใจที่จะผลิตผักกินผลอย่าง มะเขือเทศ รวมไปถึงผลไม้ด้วย ทั้งนี้บาร์นาร์ดเคยให้ข้อมูลว่าฟาร์มของ Plenty Inc. สามารถผลิตสตรอเบอร์รี่ได้แล้ว นอกจากนี้ทีมวิจัยของบริษัทยังทดลองปลูกพืชที่ไม่ใช่ผักใบอีกหลายชนิดมาระยะหนึ่งแล้วด้วย โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตผักและผลไม้เหล่านี้ใกล้เคียงกับการผลิตในรูปแบบดั้งเดิมมากที่สุด ด้วยศักยภาพการผลิตที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ผักใบนี้เอง ที่อาจทำให้ Plenty Inc. ถูกมองว่ามีเทคโนโลยีที่เหนือชั้นกว่าบริษัทอื่นในกลุ่มธุรกิจเดียวกันอยู่ในระดับหนึ่ง
สามเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ Softbank เลือกลงทุนกับ Plenty Inc. เชื่อแน่ว่า มาซา คงคาดหวังให้ Plenty Inc.เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติเทคโนโลยีครั้งยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติที่เขาเป็นคนจุดประกายขึ้นอย่างแน่นอน
อ้างอิงที่มาของข้อมูล
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด