ย้อนวิวัฒนาการอุตสาหกรรมอวกาศ จากเรื่องราวเหนือจินตนาการ สู่ โอกาสที่มวลมนุษย์จับต้องได้ | Techsauce

ย้อนวิวัฒนาการอุตสาหกรรมอวกาศ จากเรื่องราวเหนือจินตนาการ สู่ โอกาสที่มวลมนุษย์จับต้องได้

 จากการระบาดของ COVID-19 ทำให้เงินของการลงทุนไหลไปลงกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ แต่ดูเหมือนว่ายังมีอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่เติบโตขึ้นมาอย่างมาก โดยเฉพาะ ช่วงตั้งแต่ปี 2020 นั่นก็คือ อุตสาหกรรมอวกาศ โดยข้อมูลจาก McKinsey รายงานว่า นักลงทุนหันไปทุ่มเงินกว่า 9 พันล้านดอลลาร์ลงทุนในบริษัทด้านนี้ 

รวมทั้งบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานอวกาศให้กับ NASA ก็เป็นอีกหนึ่งความสนใจของนักลงทุน ในขณะเดียวกันก็มีบริษัทที่พร้อมจะลงทุนและเดินหน้าในอุตสาหกรรมอวกาศนี้ด้วยตัวเอง และหนึ่งในกิจการที่กำลังเป็นที่จับตามองในตอนนี้ คือ การท่องเที่ยวในอวกาศ ที่หลายคนพร้อมจะทุ่มหลายล้านดอลลาร์ไปร่วมลงทุน

หากมองย้อนกลับไปในปี 1961 เมื่อ 60 ปีก่อน อุตสาหกรรมอวกาศในยุคเริ่มแรกนั้นเปรียบเสมือนกับนิยายวิทยาศาสตร์ ที่หลาย ๆ คนมองว่าเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยาก เป็นแค่เรื่องราวของนักฟิสิกส์ หรือนักบินอวกาศเท่านั้นที่จะเข้าใจ และการที่จะนำคนขึ้นไปบนอวกาศ ปัจจัยเรื่องความปลอดภัยของนักบินอวกาศ ก็เป็นเรื่องที่กังวลกันเป็นอย่างมากในเวลานั้น แต่เมื่อเวลาล่วงผ่านไปจนมาถึงปัจจุบัน บริษัทต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมนี้ก็แสดงให้เห็นว่า การเดินทางไปอวกาศของมนุษย์นั้นทำได้ง่ายขึ้น และมีความปลอดภัยมากกว่าเดิม 

ด้วยระบบที่พัฒนา และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น การเดินทางไปอวกาศของมนุษย์ในอุตสาหกรรมอวกาศสมัยใหม่กลายเป็นเรื่องง่ายดายมากกว่าเดิม แล้วในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป จะมียานอวกาศส่วนตัวพามนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศได้ไหม หรือจะมีนวัตกรรมอวกาศก้าวหน้าไปมากขนาดไหน บทความนี้จะพาทุกคนไปวิเคราะห์ความเป็นมา และอนาคตที่เป็นไปได้ของอุตสาหกรรมอวกาศกัน


ภาพจาก NASA : ยูริ กาการิน นักบินอวกาศชาวโซเวียต คนแรกของโลกที่ขึ้นไปบนอวกาศและกลับมาอย่างปลอดภัย 

คำว่า ‘แรก’ สัญญะแสดงความยิ่งใหญ่ ของประเทศมหาอำนาจ 

ในอดีตเรามักจะเคยได้ยินว่า ประเทศยักษ์ใหญ่มหาอำนาจของโลกอย่าง สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกาต้องการจะเป็นที่ 1 ของโลกในทุก ๆ ด้าน รวมถึงการขึ้นไปบนอวกาศด้วยเช่นกัน และคำว่า “ครั้งแรก” หรือ “คนแรก” ก็เป็นคำที่ใช้ยืนยันความเป็นที่หนึ่งของโลกได้ ทั้ง “มนุษย์คนแรกบนอวกาศ” “มนุษย์คนแรกที่เหยียบดวงจันทร์” และ “สถานีอวกาศแห่งแรก” ประโยคเหล่านี้ เคยสร้างอำนาจและความยิ่งใหญ่ให้ประเทศต่าง ๆ 

หากจะแยกย่อยเป็นไทม์ไลน์ของเรื่องราว “ครั้งแรก” บนอวกาศ นับตั้งแต่ปี 1961 เป็นต้นมา สามารถแบ่งได้ ดังนี้

  • 12 เมษายน 1961: ยูริ กาการิน นักบินอวกาศชาวโซเวียต ที่เป็น “คนแรก” ของโลกที่บินขึ้นไปบนอวกาศและกลับมายังโลกอย่างปลอดภัย

  • 5 พฤษภาคม 1961: อลัน เชพเพิร์ด นักบินอวกาศชาวอเมริกัน ขึ้นบินด้วยยาน Freedom 7 เขาเป็นนักบิน “คนแรก” ของสหรัฐอเมริกา และเป็นคนที่สองของโลกที่ขึ้นไปบนอวกาศและกลับลงมาอย่างปลอดภัย

  • 16 มิถุนายน 1963: วาเลนตินา เทเรชโควา ชาวโซเวียต ซึ่งเป็นผู้หญิง “คนแรก” ที่ขึ้นไปบนอวกาศ

  • 18 มีนาคม 1965: อะเลคเซย์ เลโอนอฟ นักบินอวกาศชาวโซเวียต ที่เดินบนอวกาศเป็น “คนแรก”

  • ธันวาคม 1968: ยาน Apollo 8 ของ NASA สามารถเดินทางพ้นจากวงโคจรต่ำของโลกเป็น “ครั้งแรก” และเดินทางเข้าวงโคจรของดวงจันทร์ได้เป็น “ครั้งแรก”

  • 20 มิถุนายน 1969: ยาน Apollo 8 ของ NASA ได้ลงจอดบนดวงจันทร์ และ นีล อาร์มสตรอง นักบินอวกาศชาวอเมริกัน ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ เป็น “คนแรก” ที่เหยียบดวงจันทร์ ตามด้วยบัซ อัลดริน

  • 19 เมษายน 1971: สหภาพโซเวียต ได้ปล่อย Salyut 1 สถานิอวกาศ “แห่งแรก” ไปสู่วงโคจรต่ำของโลก 

  • มิถุนายน 1975: NASA ปล่อยยานอวกาศ Apollo ขึ้นไปบนวงโคจรต่ำของโลก เพื่อไปทำงาน และทำการทดลองร่วมกับยานอวกาศ Soyuz ของสหภาพโซเวียต

  • 12 เมษายน 1981: NASA ปล่อยกระสวยอวกาศ “ลำแรก” ขึ้นบนอวกาศ

  • 2 พฤศจิกายน 2000: นักบินอวกาศของ NASA พร้อมกับนักบินอวกาศของสหภาพโซเวียตอีก 2 นาย เป็นผู้เข้าเยี่ยมชม “กลุ่มแรก” ของสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station หรือ ISS)

ในระยะเวลาก่อนเข้าสู่ปี 2000 นี้จะเห็นได้ว่า มหาอำนาจนั้นแข่งขันกันเป็นเจ้าของการบุกเบิกสู่อวกาศ และก็นับเป็นช่วงเวลาที่มนุษยศาสตร์ได้เห็นการพัฒนาที่สร้างความเปลี่ยนแปลงมากมาย และต่อมาในช่วงปี 2001-2009 บริษัท Space Adventure บริษัทด้านการท่องเที่ยวบนอวกาศของสหรัฐอเมริกาที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1998 ได้ทำการส่งผู้โดยสารไป ISS ด้วยยาน Soyuz ของรัสเซีย และค่าตั๋วสำหรับเดินทางครั้งนี้อยู่ที่ประมาณ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ต้องยอมรับเลยว่า Space Adventure เป็นบริษัทแรกเริ่มผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวบนอวกาศตั้งแต่ช่วงต้น ๆ ของปี 2000 แต่เมื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมพัฒนารุดหน้าไปไกล อุตสาหกรรมนี้ก็มีการแข่งขันกันมากขึ้น และขณะเดียวกันรัฐบาลของประเทศมหาอำนาจทั้งหลายก็หันมาสนับสนุนวงการนี้กันมากขึ้น ทำให้ในบริษัทเอกชนต่าง ๆ หันมาเล่นในสนามการท่องเที่ยวอวกาศอย่างที่เราเห็นได้ในปัจจุบันนี้

ภาพจาก NASA : International Space Station (ISS)

‘การท่องเที่ยวบนอวกาศ’ จากเรื่องราวเหนือจินตนาการ สู่ความจริงที่มนุษย์จับต้องได้

เรื่องราวหน้าตื่นเต้นอย่าง “การขึ้นไปบนอวกาศ” เป็นความฝันของหลาย ๆ คน แต่ที่ผ่านมาคนที่ขึ้นไปบนอวกาศได้นั้นจะต้องผ่านการฝึกฝน และศึกษามาเป็นอย่างดี ถึงจะเป็นนักบินอวกาศ พร้อมกับปฏิบัติภารกิจบนอวกาศได้ คงไม่มีใครคิดว่าวันหนึ่ง “การขึ้นไปบนอวกาศ” จะเป็นเรื่องที่ทุกคน (ที่มีทุนเพียงพอ) ทำได้  

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2000 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน การท่องเที่ยวบนอวกาศ กลายเป็นอุตสาหกรรมที่บริษัทเทคฯ หลายแห่งเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมของตัวเองเพื่อพามนุษย์ขึ้นไปท่องเที่ยวบนอวกาศ เราลองมาดูกันว่าไทม์ไลน์ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวบนอวกาศนี้ มีความเป็นมาอย่างไรบ้าง

  • 2001: เดนนิส ติโต้ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน เป็นนักท่องเที่ยว “คนแรก” ที่ขึ้นไปเยี่ยมชม ISS โดยเขาเดินทางไปกับบริษัท Space Adventure

  • 2010: SpaceX บริษัทผู้ผลิตยานและส่งมนุษย์ไปอวกาศ ที่เกิดมาจากความต้องการของ CEO อย่าง Elon Musk ที่อยากจะส่งคนขึ้นไปบนดาวอังคารเพื่อสร้างโลกใหม่ ในปีนี้ทาง SpaceX เป็น “บริษัทเอกชนรายแรก” ที่สามารถส่งยานอวกาศขึ้นไปบนวงโคจรต่ำของโลกและกลับลงมาอย่างปลอดภัย

  • 2017: SpaceX เผยแผนการนำนักท่องเที่ยวอวกาศท่องเที่ยวรอบวงโคจรของดวงจันทร์

  • 2018: Virgin Galactic บริษัทด้านอวกาศของ เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน นักธุรกิจชาวอังกฤษ เป็น “บริษัทแรก” ที่สามารถทำการทดสอบการบินโดยมนุษย์ขึ้นไปเหนือชั้นบรรยากาศได้สำเร็จ

  • 2019: NASA เปิดให้มีนักท่องเที่ยวอวกาศไปเยี่ยมชม ISS ได้

  • 2021: Virgin Galactic และ Blue Origin ของมหาเศรษฐี Jeff Bezos ทำการทดสอบการบินขึ้นไปเหนือชั้นบรรยากาศ พร้อมลอยตัวอยู่ในบรรยากาศแบบไร้แรงโน้มถ่วงกว่า 4 นาที ก่อนหลับมายังพื้นโลกได้สำเร็จ

  • 2021+: บริษัทต่าง ๆ มีแผนเปิดให้คนที่สนใจสามารถขึ้นบินไปเหนือชั้นบรรยากาศ รวมทั้งเปิดให้บินขึ้นไปเยี่ยมชม ISS อย่างทาง SpaceX มีแผนจะปฏิบัติภารกิจ Inspiration4 ที่จะขึ้นไปบนวงโคจรของโลกในช่วงปลายปี 2021 และยังได้ร่วมมือกับทาง NASA และ Axiom Space บริษัท Startup ที่จะมาร่วมกันดำเนินภารกิจสร้างที่พัก และห้องทำงานบน ISS ในขณะเดียวกันทาง Axiom Space ก็มีแผนจะส่งผู้เดินทางขึ้นไปบน ISS ด้วยยานของ SpaceX ในปี 2022 ด้วยเช่นกัน ในฟากของ Space Adventures ก็ได้มีแผนร่วมกับ SpaceX ที่จะส่งคนขึ้นไปบนวงโคจรของโลกด้วย

ภาพที่เห็นได้ชัดในตอนนี้คือ ธุรกิจการท่องเที่ยวบนอวกาศมีแต่จะพัฒนาไปข้างเรื่อย ๆ อีกทั้งเป็นเรื่องคนหันมาให้ความสนใจกันเป็นอย่างมาก ส่งผลให้การลงทุนหลั่งไหลเข้าไปในธุรกิจกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างที่เห็นได้จากบริษัท SPAC (Special Purpose Acquisition Company) ได้เริ่มตั้งเป้าที่จะเข้าซื้อบริษัทด้านอวกาศมากขึ้น เพื่อให้บริษัทเหล่านั้นได้เข้าสู่ตลาดหุ้นต่อไป 

นอกจากเรื่องของการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นในวงการนี้แล้ว เราจะเห็นว่าเทคโนโลยีอวกาศที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการสำรวจดาวดวงอื่น ๆ เป็นอีกหนึ่งสัญญาณบ่งบอกว่า อวกาศ ยังเป็นที่ให้มนุษย์ขึ้นไปสำรวจและทำการศึกษาได้อีก

ริชาร์ด แบรนสัน ผู้ก่อตั้ง Virgin Galactic ทะยานสู่อวกาศได้สำเร็จ

‘ความปลอดภัย’ และ ‘ราคาที่ต้องจ่าย’ ยังคงข้อจำกัดของการเข้าถึง 

ความกังวลแรก ๆ หากเราอยากเดินทางไปท่องอวกาศคือเรื่องของ “ความปลอดภัย” และ “ราคาที่ต้องจ่าย” ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะมาช่วยพัฒนาให้เกิดระบบที่แข็งแรง และนวัตกรรมที่ปลอดภัย แต่ความกังวลเรื่องความปลอดภัยก็ยังคงมีอยู่ จากเหตุการณ์ทดสอบการบินต่าง ๆ ที่ผ่านมา มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและผิดพลาด อย่าง เหตุกระสวยอวกาศ Challenger และ Columbia ที่เกิดเหตุระเบิดคร่าชีวิตนักบินอวกาศไปกว่า 10 คน หรือจะเป็นยาน VSS ในภารกิจ VSS Enterprise ของ Virgin Galactic ที่เกิดเหตุผิดพลาดระหว่างทดสอบการบินในปี 2014 ส่งผลให้นักบินเสียชีวิต 1 รายและบาดเจ็บสาหัสอีกหลายราย ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

อีกประเด็นที่สำคัญ คือเรื่องของราคาที่ต้องจ่ายในการเดินทางไปอวกาศ เราสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำเลยว่า การเดินทางแบบนี้มีมาเพื่อมหาเศรษฐีระดับโลกเท่านั้น จากที่ผ่านมามีการสำรวจราคาของการขึ้นบินกับบริษัทต่าง ๆ ราคาที่ต้องจ่ายนั้นสูงมาก อย่างเช่นทาง Axiom Space ที่คิดค่าเดินทางเป็นเงินเบ็ดเสร็จประมาณ 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,825 ล้านบาท ในขณะที่ Virgin Galactic ได้เปิดเผนราคาว่าอยู่ที่ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.2 ล้านบาท ในส่วนของ Blue Origin จะมีราคาประมาณ 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 920,000,000 บาท (ราคาตั๋วของ Blue Origin ยังไม่มีการยืนยันออกมาอย่างเป็นทางการ เนื่องจากมีบางแหล่งข่าวบอกว่าราคาตั๋วอยู่ที่ประมาณ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 16,400,000 บาท) และ SpaceX จะมีราคาเท่ากับทาง Axiom Space

Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Blue Origin ทะยานสู่อวกาศและกลับลงมาได้สำเร็จ

ต้องยอมรับเลยว่า อุตสาหกรรมอวกาศ ในตอนนี้เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างมาก เพราะตลาดในธุรกิจประเภทนี้มีนักลงทุนมากมายที่พร้อมจะเทเงินให้ รวมทั้งทางรัฐบาลของประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ที่เล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมนี้ยังเติบโตและเดินหน้าไปได้อีกไกล ซึ่งพวกเขาเหล่านี้พร้อมที่จะทุ่มให้เกิดการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมนี้ไปอีก

จากจุดเริ่มต้นที่มนุษย์ต้องการจะเป็นที่ 1 ของโลก สู่การพัฒนาจนเกิดมาเป็นธุรกิจท่องเที่ยวที่แปลกใหม่ และไม่มีใครคาดคิดว่าจะทำได้ขนาดนี้ ในอนาคตเราอาจจะเห็นธุรกิจใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมนี้ที่ไปไกลกว่าที่เราคิดได้ อย่างการทำเหมืองแร่อวกาศ หรืออาจจะเป็นธุรกิจการผลิตบนอวกาศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นจริงก็ได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม เราก็ยังต้องติดตาม รอดูพัฒนาการของอุตสากรรมอวกาศนี้กันต่อไป


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

17 เรื่อง AI ต้องรู้ จากรายงาน AI Index 2024

Techsauce ได้สรุป 17 ประเด็นสำคัญจากรายงาน AI Index Report 2024 ซึ่งจัดทำโดย Stanford Institute for Human-Centered Artificial Intelligence (HAI) ที่รวบรวมประเด็นต่างๆ ของปัญญาประดิ...

Responsive image

แนะเทรนด์ลงทุนในสตาร์ทอัพปี 2024 พร้อมช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากงาน KATALYST TALK MEETUP #3

บทความที่เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพควรอ่านเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการเผชิญความท้าทายในปีนี้ จากการรับฟังภายในงาน KATALYST TALK MEETUP #3 ‘Navigating the Startup Challenges in 2024 and Beyond’...

Responsive image

เตรียมพบกับงาน SEA Blockchain Week 2024 (SEABW) ยกขบวนกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และ Web 3 ระดับโลกกว่า 100 คน มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ที่เมืองไทย

Southeast Asia Blockchain Week หรือ SEABW งานด้านบล็อกเชนสุดยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ที่เตรียมจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 24-25 เมษายน 2567 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ True ICON HALL ช...