ในยุคที่อนาคตพุ่งเข้าหาเราด้วยความเร็วสูงกว่าเคย ทุกประเทศทั่วโลกต้องปรับตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การปรับตัวดังกล่าวทำให้รูปแบบการแข่งขันของประเทศเปลี่ยนไปในทิศทางที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การเรียนรู้เพื่อเข้าใจขีดการแข่งขันใหม่ของโลกจึงจำเป็นอย่างเลี่ยงไม่ได้ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทยหรือ TMA องค์กรที่สนับสนุนการเพิ่มขีดการแข่งขันของประเทศไทยมานานถึง 55 ปี จึงจัดเสวนาพิเศษ TMA Leaders Forum ฉลองการครบรอบ 55 ปี ในหัวข้อ “The new competitiveness agenda: designing a compatible future for all”
เสวนาครั้งนี้ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยและองค์กรชั้นนำของโลก ทั้งศาสตราจารย์ Stephane Garelli, Founder of IMD World Competitiveness Center ประเทศสวิตเซอร์แลนด์, Martin Wezowski, Chief Designer & Futurist and Chief innovation office, SAP's Innovation Center Network และ ศาสตราจารย์ ดร. Barry Katz, IDEO fellow, Consulting Professor of Mechanical Engineering, Stanford University
เริ่มต้นการเสวนาด้วยการไล่เลียงถึงปัญหาโดยวิทยากรทั้ง 3 ท่าน โดย ศ. Garelli กล่าวว่า แม้เราจะอยู่ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบันมานานนับร้อยปี แต่เรากลับรู้เรื่องเศรษฐกิจ “น้อยกว่า” เมื่อ 40 ปีก่อน เรามีอัตราการว่างงานสูงที่สุดในรอบ 45 ปี เรามีดอกเบี้ยที่ต่ำและไม่เกิดประโยชน์กับใคร ธนาคารกลางที่ใหญ่ที่สุด 4 แห่งของโลกเก็บสินทรัพย์รวมเป็นมูลค่ามากกว่า 14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในแง่การผลิต ความเรื่องธุรกิจที่คนระดับศาสตราจารย์มีอยู่ในปัจจุบันอาจไม่เพียงพอต่อการสอบผ่านในมหาวิทยาลัย แสดงให้เห็นว่าความรู้เดิมๆ ที่เรามี ไม่ได้พาเราออกไปในจุดที่ดีกว่าอย่างที่ควรจะเป็นได้เลย
โมเดลธุรกิจในปัจจุบันเองก็ดำเนินธุรกิจได้โดยที่ไม่ได้แลกเปลี่ยนด้วยของหรือสกุลเงิน เช่น “Facebook” ที่ผู้ใช้จ่ายค่าบริการเป็น “ข้อมูลส่วนตัว”หรือ “Spotify” หรือ “Netflix” ที่ไม่ได้ขายสื่อบันเทิงแต่ขาย “การรับชม” สื่อบันเทิง และ N26 ธนาคารดิจิทัลที่ประกาศชัดว่าไม่ได้มองหาผลกำไร แต่มองไปยังการเป็น “กระเป๋าสตางค์” ของผู้คน บริษัทเหล่านี้คือที่ที่คุณไม่สามารถขอซื้อสินค้าจากพวกเขาได้โดยตรงหรือไม่แม้แต่รับเงินเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้า พวกเขาเห็นอะไรบางอย่างมากกว่าการ “ผลิตของขาย” นี่คือโมเดลธุรกิจแบบกลับหัวกลับหาง (Upside-Down) ที่เราต้องเจอในอนาคต
ศ. Garelli ยังกล่าวต่อว่าโมเดลธุรกิจแบบกลับหัวกลับหางกำลังก่อภาพชัดเจนมากขึ้น ทั้งการที่ Facebook และ Google ทำธุรกิจด้วยการโฆษณา Amazon ทำธุรกิจขายอาหาร หรือแม้แต่ Apple ที่กลายเป็นผู้ผลิตนาฬิการายใหญ่เมื่อปี 2018 มากกว่าทุกแบรนด์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์รวมกัน บริษัทเหล่านี้คือบริษัทเทคโนโลยีที่เปลี่ยนตัวเองไปจากเดิม ลบภาพเดิมๆ ของ IBM และ HP ที่เน้นการส่งมอบสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว
สุดท้าย ศ. Garelli กล่าวว่า ในอนาคต องค์กรธุรกิจเดิมจะแข่งกับใคร ถ้าบริษัทเทคโนโลยีเองก็หันมาทำประกันภัย บริษัทรถยนต์หันมารับส่งคน บริษัทขายสินค้าหันมาออกเงินกู้
คุณ Wezowski กล่าวว่า เพื่อไปสู่อนาคตในจุดที่เราควรจะเป็น เราต้องการ “Big Story” ที่จะผลักดันเราไปสู่จุดนั้น อนาคตเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับทุกคน โดยพวกเราคือตัวเอกในเรื่องราวของตัวเอง และสำหรับคนรุ่นเก่า เราต้องถามตัวเองเสมอว่า อนาคตที่เราออกแบบเพื่อคนรุ่นใหม่นั้น เป็นสิ่งที่เขาคาดหวังจริงๆ หรือเปล่า
ทุกวันนี้ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มนุษย์สามารถใช้เทคโนโลยียกระดับความสามารถของตัวเองได้และการฝึกฝนตัวเองเพื่อเพิ่ม Hard Skill มีบทบาทน้อยลงเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ AI ร่วมกับแพทย์เพื่อผลการตรวจโลกที่แม่นยำมากขึ้น หรือแม้แต่แนวคิดผสาน Bio-neuro Technology อย่างการดื่มเครื่องดื่มเพื่อรับความทรงจำหรือทักษะบางอย่างเข้าสู่สมองโดยตรง
ความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงดังกล่าวทำให้เราต้องตั้งคำถาม 2 ข้อ ได้แก่ อะไรคือสิ่งที่ตัวเราควรรู้ และอะไรคือสิ่งที่เราควรบอกคนรุ่นใหม่ ซึ่งทั้ง 2 คำถามยังไม่มีคำตอบที่ดีพอ และต้องอาศัยการเรียนรู้เพื่อเรียบเรียงคำตอบออกมาและถ่ายทอดสู่ทุกคน
คุณ Wezowski กล่าวว่าการที่เราจะสร้างความเปลี่ยนแปลง เราต้องมีทักษะ 3 อย่างด้วยกัน ข้อแรกคือการรู้ในสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ทำสิ่งที่มีอยู่ตอนนี้ให้ดี ข้อที่สองคือการคาดการณ์สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นจากสิ่งที่เรามีในระยะสั้น ส่วนข้อสุดท้ายคือการมองการณ์ให้ไกลไปยังอนาคต แน่นอนว่าเราไม่สามารถมองสิ่งนี้ได้แม่นยำแต่เราจำเป็นต้องทำ ซึ่งข้อสุดท้ายนี้จะทำให้เราสร้าง “วิสัยทัศน์” ซึ่งแม้ว่าวิสัยทัศน์จะไม่อาจคาดการณ์ตลาด แต่วิสัยทัศน์คือเรื่องราวในอนาคตที่เราถ่ายทอดไปยังคนอื่นได้
คุณ Wezowski ชี้ว่า การที่บรรดา Talent มองเห็นตลาดใหม่ที่คนอื่นมองไม่เห็นก็เพราะพวกเขามี “วิสัยทัศน์” บางอย่างที่ไม่เหมือนคนอื่น เราสามารถเรียนรู้ได้จากการพูดคุยกับเขา ถามเขาว่าพวกเขาเห็นอะไร พวกเขาคาดหวังอะไร และพวกเขาจินตนาการถึงสิ่งใดบ้าง
ศ.ดร. Katz ชี้ว่า ทุกวันนี้โลกของเรามีความเปลี่ยนแปลงอันซับซ้อนและไหลเลื่อนจนยากจะคาดเดา โดยสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างน้อยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งความเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันยังก้าวไปข้างหน้าด้วยอัตราเร่งที่ไม่ช้าลงแน่นอน และด้วยความเร็วนี้อาจทำให้เราพบกับภัยพิบัตได้
สาเหตุที่เราอาจพบภัยพิบัตอย่างแรงคือ การพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งของความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะสถานการณ์โลกในปัจจุบัน อย่างสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ แม้สหรัฐฯ จะมองว่าตัวเองมีสิทธิ์ชนะอย่างง่ายๆ แต่ขึ้นชื่อว่าสงครามโลกย่อมต้องมีผู้แพ้ที่เจ็บหนัก ทั้งผลลัพธ์มีแนวโน้มไปในทางที่แย่ลงมากกว่าดีขึ้น
อีกสาเหตุหนึ่งคือ Political Transparency หรือความโปร่งใสในทางการเมือง ปัจจุบันด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีทำให้ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูล แต่สิ่งที่ประชาชนต้องการนั้นคือการเข้าถึง “ข้อมูลเชิงลึก” เพื่อการตัดสินใจ ซึ่งมีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งต้นเหตุของ Political Transparency มาจากการเชื่อในวิธีแก้ปัญหาแบบ Top Down ของรัฐ ซึ่ง ศ.ดร. Katz เชื่อว่าไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพกปืนที่นำไปสู่การกราดยิงในบางพื้นที่ของสหรัฐฯ ซึ่งภาคประชาสังคมควรมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้วย
สาเหตุสุดท้ายคือความขัดแย้งระหว่างการหาผลประโยชน์ส่วนตัวตอนนี้หรือการรักษาผลประโยชน์ร่วมกันอนาคต ศ.ดร. Katz ยกตัวอย่างว่าในสหรัฐฯ ปัญหาการกราดยิงในที่สาธารณะมาจากการเรียกร้องให้พกปืนซึ่งเป็นผลประโยชน์ระยะสั้นของผู้ที่พกปืนรวมถึงธุรกิจขายปืน และยังยกตัวอย่างถึงโฆษณาอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพซึ่งไม่คำนึงถึงประชาชนจนทำให้เด็กสหรัฐฯ มีน้ำหนักเกินเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม คนจำนวนมากเองก็เลือกที่จะตอกย้ำปัญหาด้วยการ “เลือก” ที่จะทำด้วย เช่น เลือกที่จะครอบครองปืน เลือกที่จะทานอาหารที่ไม่ดีด้วย
คุณ Wizowski และ ศ.ดร. Katz ยังร่วมกันตอบคำถามถึงมุมมองต่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ด้วยว่าเทคโนโลยีนี้จะไม่เข้ามาแทนที่มนุษย์ แต่จะช่วยในกระบวนการย่อย (Sub-Task) เพื่อให้มนุษย์ทำงานใช้เวลาทำงานน้อยลง อย่างไรก็ตาม บางอาชีพที่มีขั้นตอนการดำเนินซ้ำๆ อาจจะโอเคที่มี AI ช่วยเหลืองาน แต่บางอาชีพที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะทางทำงานซ้ำๆ ตลอดเวลาอาจจะไม่รู้สึกดีที่มี AI เข้ามาช่วย
เรียกว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจในเสวนานี้ไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อผู้ตอบเป็นนักวิเคราะห์และผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการคาดการณ์อนาคต ซึ่งทั้ง 3 ท่านได้ร่วมกันแสดงความเห็นว่าในปี 2100 มนุษย์เราจะเป็นอย่างไร
ประเด็นแรกที่ยกขึ้นมาคือในอีก 80 ปีข้างหน้า เราจะยังคงเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนโลก แต่โลกของเราจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เราก่อปัญหามลภาวะมากมาย สิ่งที่เราต้องทำตอนนี้คือปฏิรูปความคิดต่อการบริโภคเพื่อชะลอปัญหาสภาวะแวดล้อม
อีกประเด็นใหญ่ที่สุดคือคุณค่าของมนุษย์ ในอนาคตเราจะมีตัวช่วยในการทำงานมากมาย แต่หากระบบงานของเรายังไม่มุ่งเน้นคุณค่าความเป็นคน โลกคงเป็นสถานที่ที่น่ากลัวสำหรับมนุษย์ ทั้งนี้ หากเราได้รับการเติมเต็มจากการกระทำเพื่อดำรงชีพ (กิน นอน ขับถ่าย) โดยไม่หวังจะสร้างคุณค่าใดมากขึ้น ก็คงไม่ต่างอะไรจากสัตว์
คุณค่าที่สำคัญสำหรับพวกเราอนาคตคือการคิดว่าเราเป็นใครและเรากำลังจะเป็นอะไร มนุษย์เป็นสัตว์สังคม พวกเราสามารถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้ และร่วมกันทำเรื่องสร้างสรรค์ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้สร้างคุณค่าให้กับมนุษย์ในอนาคตได้
บทความนี้เป็น Advertorial
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด