พลิกจากค้ารถสู่ asap Car Rental ที่ใช้ App ดึงลูกค้า | Techsauce

พลิกจากค้ารถสู่ asap Car Rental ที่ใช้ App ดึงลูกค้า

asap Car Rental ที่บุกเบิกโดยนักธุรกิจค้ารถอย่าง ทรงวิทย์ ฐิติปุญญา ผู้พลิกโอกาสจากแนวโน้มที่ภาคองค์กรธุรกิจชะลอการซื้อรถมาครอบครอง เสริมแกร่งด้วย App รองรับความต้องการของผู้เช่ารถยุคใหม่ ที่นิยม Car Sharing เปิดตัว asap GO เวอร์ชั่น 2 ที่ครอบคลุมบริการถึงลูกรายย่อยภายในเดือนเมษายนนี้ รวมถึงเดินหน้าขยายแฟรนไชส์ asap AUTO PARK ให้เช่ารถและขายรถมือสองทั่วไทยที่จะเปิดถึง 5 จุดภายในปีนี้

ก่อนที่ทรงวิทย์ ฐิติปุญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ หรือ asap จะชักชวนอีกหนึ่งผู้ก่อตั้ง asap คือ ปริญดา วงศ์วิทวัส (ปัจจุบันเป็นทั้งผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัท) เข้าสู่วงการรถเช่านั้น ครอบครัวของทรงวิทย์เคยเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อ Toyota ในจังหวัดพิษณุโลก และเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อ  Nissan ในกรุงเทพและปริมณฑล ปัจจุบันยังเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าในชื่อ “โตโยต้า แอท ยูไนเต็ด” ่(บริหารโดยบจก. โตโยต้า แอท ยูไนเต็ด)

ในปี 2549 จึงจัดตั้ง asap เพื่อประกอบธุรกิจรถยนต์ให้เช่า (Car Rental) โดยเริ่มจากบริการรถยนต์ให้เช่าระยะยาวแบบครบวงจรซึ่งมุ่งเน้นการให้บริการแก่ลูกค้านิติบุคคลเป็นหลัก โดยมีกลุ่มลูกค้าหลัก ได้แก่ บริษัทผู้ให้บริการด้านงานไปรษณีย์และการขนส่งสินค้าระดับโลก บริษัทข้ามชาติที่ประกอบธุรกิจค้าปลีก/ส่ง และผู้บริหารของลูกค้านิติบุคคลที่ใช้บริการรถยนต์ให้เช่าจากบริษัท ตลอดจน หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ

หลังจากก้าวขึ้นมาเป็นรายใหญ่ในวงการรถยนต์ให้เช่าระยะยาวได้แล้ว asap จึงไม่รอช้าเปิดธุรกิจรถยนต์ให้เช่าระยะสั้นตามมา ในช่วงปลายปี 2558 ซึ่งนอกจากเป็นการขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายโดยใช้ทรัพยากรของบริษัทและฐานลูกค้าที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว ยังเป็นการตอบรับต่อความต้องการเช่ารถยนต์ระยะสั้นที่เพิ่มมากขึ้น จากปัจจัยที่ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่่ยนไป รวมถึงการที่ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวของประเทศด้วย

ทั้้งนี้ในปี 2560 ตลาดรถให้เช่า (Car Rental Market) มีมูลค่า 4.25 หมื่นบ้านบาท แบ่งเป็นเช่าแบบระยะยาว (4-5 ปี) ที่ 70% และระยะสั้นที่ 30% โดยระหว่างปี 2549 ถึง 2560 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ท่ี่ 15% ทั้้งนี้คาดว่าในปี 2561 น่าจะมีอัตราการเติบโตของตลาดรวมที่ 6-8% ซึ่งน่าจะทำให้มูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 4.5 - 4.59 หมื่นล้านบาท

เรามองเห็นโอกาสในระยะยาวที่องค์กรขนาดใหญ่จะมีอัตราส่วนของการเช่ารถมากกว่าซื้อรถ ที่จะทำให้เรารักษาฐานลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องกว่าการเป็นเพียง dealer อีกทั้งมองว่าธุรกิจให้เช่ารถจะเปิดกว้างมากขึ้นด้วย

car-rent-asap-ceo

ทรงวิทย์ เล่าว่าตัวเขาผ่านการเรียนรู้มามากมายในช่วงของการผันตัวจากธุรกิจขายรถมาบุกเบิก แม้ในตอนแรกยังไม่กล้าที่จะลงทุนมากนัก กระทั่งผ่านช่วง 4-5 ปีแรกของการก่อตั้งธุรกิจที่ฐานลูกค้าเริ่มแข็งแรง สามารถขายรถมือสองที่นำมาให้เช่าได้กำไร และมีการเติบโตของรายได้ดีขึ้น จึงเริ่มขยับการลงทุนเพิ่มและให้น้ำหนักกับการสร้างแบรนด์มากขึ้นในช่วงต่อมา โดยเลือกใช้ asap เพียงชื่อเดียวในการให้บริการรถยนต์ให้เช่าทุกประเภทของบริษัท

“ช่วง 4-5 ปีแรกเป็นช่วงที่เราเรียนรู้และหาประสบการณ์ ทำให้ฐานลูกค้าแข็งแรง ช่วงต่อมาเริ่มสร้างแบรนด์และขยายฐานลูกค้า สร้างจุดแข็งด้านบริการ เช่น สามารถ commit กับลูกค้าที่เช่ารถได้ ทั้งในเรืื่องเวลาส่งมอบรถ และเวลาที่ซ่อมรถเสร็จ ช่วงที่สามก็ถึงเวลาต้องก้าวกระโดดแล้ว”

ทรงวิทย์ เล่าอีกว่าช่วงที่ 3 ได้เรียนรู้ว่าอุปสรรคที่ขัดขวางการเติบโตแบบก้าวกระโดนคือ ความเชื่อมั่นของลูกค้า จำนวนรถที่เพียงพอ และแหล่งเงินทุน ที่ asap พยายามสร้างจุดแข็งในสามเรื่องนี้ โดยมีตัวชี้วัดความสำเร็จของธุรกิจเห็นได้จากปริมาณรถยนต์ให้เช่าที่เติบโตอย่างรวดเร็วจาก 96 คัน ในปี 2549 เป็น 6,375 คัน ในปี 2559 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการเติบโตแบบก้าวกระโดดของภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ในประเทศ จนปีที่แล้วมีรถให้บริการถึง 17,000 คัน ซึ่งถือว่าเป็นลำดับต้น ๆ ของวงการ Car Rent ในประเทศไทย

หลังจากผ่านมากว่า 10 ปีที่ asap ค่อย ๆ ขยายการเติบโตมาเรื่อย ๆ จนล่าสุด ณ สิ้นปี 2561 บริษัททำรายได้ไปกว่า 2.6 พันล้านบาท ซึ่งราว 83% มาจากธุรกิจให้เช่ารถ 16% มาจากขายขายรถมือสอง และอีก 2% จากอื่น ๆ สำหรับปีนี้ตั้งใจจะเพิ่มจำนวนรถให้เช่าอีก 3,000 - 4,000 คัน เพื่อให้จบสิ้นปีนี้ที่ยอด 20,000 คัน ซึ่งจะส่งผลให้ asap เป็นผู้นำในตลาด

โดยในปี 2563 ตั้งเป้าขยายการเติบโตเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่จำนวนรถที่ให้เช่า ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเป็น 22,000 คัน และสามารถทำรายได้รวมถึง 4 - 4.5 พันล้านบาท ซึ่งจะมีรายได้จากการเช่ารถระยะยาวอยู่ที่ 80% และอื่น ๆ อยู่ที่ 20% เพื่อสุดท้ายแล้วจะทำให้ asap เป็นผู้นำในตลาดรถเช่า ที่มีจำนวนรถให้เช่าสูงสุด เป็นผู้จัดหน่ายรถยนต์มือสองที่ใหญ่ที่สุด มีเครือข่ายให้เช่ารถระยะสั้นที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้กว้างขวางที่สุด ตลอดจนมีเครือข่ายของระบบ Car Sharing ที่แข็งแกร่งที่สุด้วย

ปีนี้คาดว่าเป้าหมายรายได้จะโตที่ประมาณ 25% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาจะเฉลี่ยที่ 25-30%

car-rent-asap-ceo

asap Car Rental 4 รูปแบบ

ปัจบุัน asap มีบริการให้เช่ารถยนต์ใน 4 รูปแบบ ได้แก่

บริการรถยนต์ให้เช่าระยะยาว (Operating Lease) แบบครบวงจร ซึ่งมุ่งเน้นการให้บริการแก่ลูกค้าองค์กร และส่วนใหญ่มีการทำสัญญากับลูกค้าเป็นระยะเวลาประมาณ 4 - 5 ปี โดยการให้เช่ารถยนต์ระยะยาวแบบครบวงจรประกอบด้วยบริการด้านต่าง ๆ ได้แก่ การจัดหารถยนต์ การออกแบบและปรับแต่งรถยนต์ตามความต้องการของลูกค้า การซ่อมและบำรุงรักษารถยนต์ การให้บริการรถทดแทน และบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง

บริการรถยนต์ให้เช่าระยะสั้น ซึ่งมุ่งเน้นการให้บริการแก่ลูกค้าบุคคลธรรมดา

บริการรถยนต์ให้เช่าพร้อมคนขับ (Limousine) ซึ่งมุ่งเน้นการให้เช่ารถยนต์ระยะยาวแก่ลูกค้าองค์กรที่มีความต้องการเช่ารถยนต์พร้อมคนขับรถ โดยมีบริการด้านต่าง ๆ เช่นเดียวกับบริการรถยนต์ให้เช่าระยะยาวแบบครบวงจร แต่มีบริการเพิ่มเติม คือ บริการคนขับรถ และบริการบริหารจัดการรถและคนขับรถ

บริการรถยนต์ให้เช่าผ่าน App ซึ่งมุ่งเน้นการให้บริการแก่ลูกค้าองค์กรและลูกค้าบุคคลทั่วไปที่มีความต้องการใช้รถยนต์ชั่วคราวตามจุดจอดรถทั่วกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันฐานรายได้หลักของ asap ที่ 95% มาจากกลุ่มองค์กร (เช่าระยะยาว) ขณะที่ 5% มาจากรายย่อย (เช่าระยะสั้นและผ่าน app) แต่ไม่ว่าจะลงมาเปิดตลาดรายย่อยมากแค่ไหน ก็ไม่มีโอกาสที่จะขยับอัตราส่วนไปได้มากกว่า 10-20% ทั้งนี้ตลาดรายย่อยจะมีความเบี่ยงเบนของภาวะตลาดสูงจากหลายปัจจัย เช่น การท่องเที่ยว เศรษฐกิจโลก เป็นต้น สำหรับในอนาคตภายใน 2-3 ปีข้างหนั้น asap ต้องการปรับสัดส่วนรายได้จากลูกค้าองค์กรให้อยู่ที่ราว 80% ขณะที่รายย่อยอยู่ที่ราว 20%

การเช่ารถผ่าน App จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้อัตราส่วนรายได้จากรายย่อยขึ้นไปถึง 20% ได้ในอนาคต

ด้วยรายได้หลักจากการให้เช่ารถระยะยาวของบริษัทค่อนข้างชัดเจนและสม่ำเสมอ ทำให้การรับรู้รายได้มีความเสถียร ขณะที่รายได้จากขายรถมือสองก็ขึ้นกับว่ามีราคาเท่าไร ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดวิกฤติอย่างไรจึงไม่ค่อยส่งผลกระทบกับธุรกิจของ asap มากนัก

ส่วนสงครามตัดราคาไม่ใช่เป็นสถานการณ์ระยะยาว ที่จะส่งผลกระทบกับรายได้ของบริษัท เพราะสุดท้ายแล้วเรื่องอุปสงค์อุปทานก็จะเป็นตัวที่กำหนดทิศทางราคาที่แท้จริงในแต่ละช่่วงเวลา

แม้ที่ผ่านมาจะมีความไม่มั่นคงทางการเมือง แต่ปีนี้และปีหน้า หรือปีถัด ๆ ไป (เรา) ก็ยังมีรายได้สูงขึันเรื่อย ๆ ไม่มีอะไรจะมากระทบกระเทือนมากมาย

asap App โลดแล่น

แม้แรกเริ่ม App สำหรับให้เช่ารถของ asap จะเปิดตัวโดยให้บริการกับกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นลูกค้าองค์กรธุรกิจก่อนในรูปแบบของ Haupcar (ดำเนินการโดยบริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ผลิตแพลตฟอร์มและให้บริการ Car Sharing) กระทั่งเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้จึงเริ่มพัฒนา asap GO (ที่ยังอยู่ภายใต้ Haupcar) ขึ้นมา เพียงแต่ยังให้บริการกับกลุ่มลูกค้าองค์กรที่มีพนักงานจำนวนหลายพันคน เช่น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

"asap GO ช่วยให้ลูกค้าองค์กรบริหารจัดการเรื่องการใช้รถได้โดยไม่ต้องมีทีมงานมาดูแลเรื่องส่งมอบรถและอื่น ๆ"

แต่ภายในเดือนเมษายนปีนี้ จะขยายขอบเขตไปถึงลูกค้ารายย่อย โดยต่อไปจะเหลือ App ให้บริการเพียงหนึ่งเดียวคือ asap (ซึ่ง asap GO เป็นระบบเช่ารถภายใต้ asap) ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานที่เข้ามาใช้อย่างสม่ำเสมอแล้วเกือบ 10,000 ราย และหากเริ่มเปิดให้ใช้กับกลุ่มรายย่อยได้ก็น่าจะมีผู้ใช้งานเพิ่มอีกเป็นราว 50,000 รายภายในปีนี้ จนสามารถเพิ่มเป็นหลักหลายแสนรายได้ตามเป้าหมายระยะยาว ที่มาจากทั้งฝั่งลูกค้ากลุ่มองค์กรและรายย่อยที่มาใช้ App ของบริษัท

นอกจากนี้ asap GO แตกต่างกว่า App ด้าน Car Sharing อื่น ๆ ตรงที่ผู้ใช้จะเช่ารถขับด้วยตัวเอง จึงราคาถูกกว่าเล็กน้อย ให้ความเป็นส่วนตัวกว่า และไม่ต้องรถนาน เพราะผู้ใช้สามารถขับรถออกมาเองได้เลยและสามารถนำไปคืนได้สะดวก

asap GO จะพัฒนาให้เป็น mobility service ที่มีบริการให้หลากหลายและครบถ้วนมากขึ้นภายในปีนี้ ไม่ว่าจะเช่าแต่รถ หรือจะต้องการแค่คนขับ หรือจะเป็นคนขับพร้อมรถก็ได้

car-rent-auto-apart-asap

asap AUTO PARK ทั่วไทย

แม้จะทำได้สำเร็จระดับหนึ่ง แต่ระหว่างทางก็มีอุปสรรคหลายด้านมาท้าทาย เช่น การแข่งขันด้านราคา การบริหารต้นทุนการดำเนินธุรกิจให้แข่งขันได้ หรือแม้แต่ปัญหารถมือสองราคาตกรุนแรงจากมาตรการรถคันแรกของรัฐบาลเมื่อ 6 ปีที่แล้ว

“หลังจากหมดสัญญาเช่ารถระยะยาว 4-5 ปีแล้ว เราจะนำรถมือสองมาจำหน่ายเพื่อแปลงมาเป็นเงินสด ซึ่งหากราคาตกก็ทำให้รายได้จากตรงนี้ลดลง เราจึงต้องปรับตัวแล้ววางแผนรับมือกับปัญหาในอนาคต เช่น จากขายผ่านลานประมูลก็เปลี่ยนเป็นขายกับลูกค้ารายย่อยโดยตรงมากขึ้นด้วย asap AUTO PARK”

ดังนั้น อีกหนึ่งแนวทางที่จะสร้างฐานรายได้ของ asap ให้มั่นคง เพื่อรับมือกับปัจจัยที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย โดยแตกไลน์ธุรกิจใหม่มาเสริม จึงเลือกบุกตลาดทั่วประเทศด้วยแฟรนไชส์ asap AUTO PARK (ราคาขั้นต่ำ 500,000 บาท) ซึ่งเป็นบริการรถยนต์ให้เช่าระยะสั้นและจำหน่ายรถยนต์มือสองครบสัญญาเช่าของ asap ที่เปิดตัวเมื่อราวเดือนกรกฎาคมปี 2561

ทั้งนี้ภายในปี 2562 จะสามารถเฟ้นหาพันธมิตรที่มีทำเลเหมาะสมและพร้อมที่จะเปิดกิจการ asap AUTO PARK ได้ราว 5 ราย ที่จะมีขนาดของแฟรนไชส์แตกต่างกันไป ได้แก่ กรุงเทพ (อ่อนนุช) นนทบุรี อุบลราชธานี นครราชสีมา และเชียงใหม่

นอกจากนี้ asap ยังได้นำนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้เพื่อทำให้เป็นผู้ให้บริการด้านรถเช่าแบบครบวงจรที่เทียบได้กับผู้ให้บริการ mobility solution ด้วยมองว่าพฤติกรรมการใช้รถของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป เช่น ความสนใจที่จะเป็นเจ้าของรถยนต์เริ่มน้อยลงเรื่อย ๆ นั่นคือแม้ฝันของการมีรถยนต์จะยังคงอยู่แต่รูปแบบของการครองครองแตกต่างจากเดิม เช่น ในวันที่ต้องการไปพักผ่อนกับครอบครัวจะต้องการใช้รถซึ่งมีจำนวนหลายที่นั่งเพื่อให้โดยสารไปพร้อมกันได้ด้วยรถเพียงหนึ่งคัน จึงเลือการเช่ารถที่ย่อมสะดวกและปลอดภัยกว่า

ทั้งนี้ด้วยอุปกรณ์สมองกลที่ติดตั้งภายในรถที่ให้เช่า เช่น OBD เป็นต้น จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้สามารถเรียนรู้ทั้งพฤติกรรมการใช้รถและการขับรถของผู้บริโภค โดยนำข้อมูลดิบเหล่านี้มาวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยี Machine Learning ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดเพื่อพัฒนารายการส่งเสริมการขายและบริการใหม่ ๆ หรือแม้แต่ทำ cross selling เพิ่มขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ตรงจุด

เช่น ถ้าพบว่าลูกค้าชอบเช่ารถไปเชียงใหม่ช่วงวันหยุดและเข้าพักที่โรงแรมใดเป็นประจำ ก็สามารถเสนอส่วนลดโรงแรมหรือร้านอาหารในย่านนั้นได้


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะกลยุทธ์ ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ IKEA ร้านเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่เอาตัวรอดในยุคดิจิทัล

กลยุทธสำคัญอย่าง ‘ปรับแต่ไม่เปลี่ยน’ ที่ทำให้ IKEA สามารถรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของบริษัท ไปพร้อมกับการปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง...

Responsive image

ทำไมนวัตกรรมถึงสำคัญกับองค์กร และสำคัญมากยิ่งขึ้นในยุค AI

ถ้าเราใช้วิธีเก่า ในการแก้ปัญหาใหม่ หรือถ้าเราใช้โมเดลธุรกิจเดิม กับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผลลัพธ์จะออกมาไม่ดีนัก และทางออกของปัญหาที่เราอยากชวนทุกคนมารู้...

Responsive image

5 ปัญหาหลักของ HR เมื่อต้องเฟ้นหา Tech Talent ให้ตอบโจทย์องค์กร

5 ปัญหาหลักของ HR เมื่อต้องเฟ้นหา Tech Talent ให้ตอบโจทย์องค์กรยุคใหม่ ด้วย TalentSauce ครอบคลุมทุกความต้องการในการจ้างงาน...