สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ Thai Union
Thai Union ธุรกิจคนไทยที่ส่งออกปลาทูน่าเป็นอันดับ 1 ของโลก รวมถึงเป็นผู้แปรรูปปลาทูน่าในปริมาณสูงสุด และผู้ส่งออกกุ้งแช่แข็งปริมาณสูงสุดแก่สหรัฐอเมริกาอีกด้วย
Thai Union ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2520 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2537
Thai Union แสวงหาวัตถุดิบจากมหาสมุทรทั่วทุกมุมโลก และมีฐานการผลิตรวม 12 ประเทศ ทั่วทั้ง 5 ทวีป ได้แก่ อเมริกาเหนือ ยุโรป แอฟริกา กลุ่มทวีปออสเตรเลีย และเอเชีย
Thai Union ตั้ง GII (Global Innovation Incubator) ศูนย์วิจัยแห่งแรกในโลกที่ศึกษาเฉพาะผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า และจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน หรือ Global Innovation Center เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทในเครือทั่วโลก
Food Technology (Food Tech) ที่นำ Deep Tech มาประยุกต์ใช้คือตัวแปรสำคัญต่อกลยุทธ์บริษัทแห่งนวัตกรรมให้ราชาแห่งวงการค้าอาหารทะเลอย่างกลุ่ม Thai Union ที่เดินเกมเก็บวัตถุดิบไร้ราคามาเพิ่มค่าในแนว Co-products จากคำบอกเล่าของ ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ผู้ย้ำว่ายังไม่สายเกินไปที่จะพัฒนาคนไทยให้ก้าวทันกับการนำวิทยาการล้ำสมัยมาใช้ในอุตสาหกรรมหากเริ่มตื่นตัวตั้งแต่วันนี้
ทั้งนี้กลุ่มบริษัท Thai Union เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจอาหารทะเลของโลกที่ก่อตั้งมากว่ากว่า 40 ปี โดยครอบครัวจันศิริ โดยปัจจุบันบริษัทยังเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าบรรจุภาชนะชนิดต่าง ๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยยอดขายต่อปีมากกว่า 133.3 แสนล้านบาท (4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ)
ด้วยพันธกิจที่ปักหมุดเป็นบริษัทแห่งนวัตกรรม ผ่านความเชื่อที่ว่าเป็นดังหมากเด็ดในการขับเคลื่อนและสร้างการเติบโตให้ Thai Union ซึ่งทางบริษัทคาดว่าด้วยจุดแข็งแห่งการพัฒนาวิยาการด้านต่าง ๆ จะสร้างรายได้กลับคืนให้บริษัทในสัดส่วน 10% ของรายได้ยอดขาย 3-5 ปีข้างหน้า หรือสร้าง gross margin ไม่ต่ำกว่า 25%
เรามองว่า ณ จุดนี้คือ Deep Tech ที่เราต้องใช้นวัตกรรมที่มีรากฐานจากการวิจัย ตั้งแต่ระดับโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไม่ใช่แค่การปรับปรุงกลิ่น สี หรือ รส ของอาหารเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปยังจุดอื่น ๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น เวลาที่กินมันฝรั่งทอดเข้าไป สิ่งสำคัญที่สุดอาจจะไม่ใช่กลิ่น สี หรือรส แต่ที่สำคัญที่สุดคือเสียง ด้วยการทำให้เป็นแผ่นหยัก
อีกตัวอย่างคือปลา ที่ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อปลาจากการใช้ตาก่อนที่จะกินเข้าปาก ด้วยการที่มองจากภาพว่าปลาที่ดี อร่อยควรจะเป็นอย่างไร สีควรจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องของการที่เกิด oxidation (การทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ) ระหว่างเนื้อปลากับอากาศที่จะทำให้สีของปลาเปลี่ยน ซึ่งถ้าเราสามารถป้องกันการเปลี่ยนสีของเนื้อปลาได้โดยใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย ก็จะได้รสสัมผัสและสีที่เปลี่ยนไป
ไม่เพียงเท่านั้นผู้บริโภคยังคาดหวังกับเรื่องชิ้นเนื้อปลาด้วยว่าจะเป็นอย่างไร เช่น สีของเนื้อปลา ความนุ่มของเนื้อปลา ซึ่งความอร่อยของคนทั่วโลกก็ยังแตกต่างกันด้วย จึงต้องใช้วิทยาศาสตร์การอาหารในเรื่องของ Degree of Liking (DOL) เข้ามาช่วยในระดับหนึ่ง
ในปัจจุบันนั้น อุตสาหกรรมอาหารของไทยยังถือว่าเป็น traditional มาก เราจึงเห็นว่าการอัพเกรดกระบวนการหรือ processing เป็นสิ่งที่น่าเข้ามาทำ
ผมคิดว่าเรื่องการลงทุน เพราะบริษัทอาหารใหญ่ ๆ หลายบริษัทในไทยที่ว่าใหญ่แล้ว ถ้าไปเทียบกับระดับโลกยังถือว่าเล็กมาก จะเห็นว่านวัตกรรมที่เกิดขึ้นจะมาจากบริษัทข้ามชาติเป็นส่วนใหญ่ เพราะมี economies of scale ที่สูงกว่ามาก เช่น Nestlé มีงบลงทุน 2 พันล้านยูโรต่อปีในการทำการวิจัยและพัฒนา (R&D) ถ้ามองกลับมาที่ไทยก็ยังไม่ค่อยมี เหตุผลเพราะยังไม่กล้าเสี่ยง เพราะการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาถือว่ามีความเสี่ยงสูง
อีกย่างหนึ่งคืออุตสาหกรรมอาหารเติบโตมาจากการซื้อหรือลอกเลียนแบบเทคโนโลยี จึงยังมีคำถามเกิดขึ้นว่า ถ้าวันนี้เราซื้อและ copy เทคโนโลยีได้ แล้วทำไมจะทำต่อไม่ได้ เพราะต้นทุนมันต้องถูกกว่าอยู่แล้ว
นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคในเรื่องการใช้เวลา กว่าจะทำ R&D เสร็จ ความต้องการของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่าเราเริ่มช้า รวมถึงหลายคนก็มองว่ารอให้มหาวิทยาลัย หรือสถาบันวิจัยต่าง ๆ เป็นคนทำ แต่ผลคือยังไม่ commercial และสร้าง impact ใหญ่ ๆ มากพอ ดังนั้นมองว่าอาจต้องไปสนับสนุนเรื่อง commercial แก่สถาบันการศึกษาให้มากขึ้น
“ผมคิดว่าปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้ Food Technology ในเมืองไทยไม่พัฒนาเท่าที่ควร คือเรื่องการลงทุน ความเสี่ยง และระยะเวลา”
ประเทศส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปไปไกลกว่าเรามากแล้ว โดยปัจจุบันประเทศเหล่านี้จะสนับสนุนหรือทำงานร่วมกับกลุ่ม Startup ซึ่งแยกตัวออกมาจากพวกมหาวิทยาลัยหรือจากองค์กรธุรกิจ ซึ่งมีรากฐานที่ดีจึงสามารถต่อยอดได้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้อีกมาก แล้วเราก็เริ่มช้าแล้วด้วย
ทั้งนี้มุมมองที่ต้องปรับเปลี่ยน อย่างแรกคือ คน ผมคิดว่าคนไทยมีความสามารถ แต่อาจจะยังไม่มีโอกาส และหลายคนยังมองไม่ออกว่าจะไปต่ออย่างไร อาจจะต้องงมีคนเข้ามาช่วยสนับสนุน
นอกจากนี้ผมยังคิดเสมอว่าการที่นำต่างชาติเข้ามาทำงานร่วมกับเรา ไม่ได้ถือว่ามาแย่งงานเรา แต่มาสอนงาน ฉะนั้นต้องมองภาพจุดนี้ให้ได้ว่าไม่มีใครเก่งทุกอย่าง ถ้าสามารถจะดึงคนเก่งเข้ามาช่วยได้จะยิ่งไปได้เร็วขึ้นกว่าการสอนกันเอง เพราะทั้ง Deep Tech และ Food Tech ในต่างประเทศไปได้ไกลกว่าเราแล้ว
ตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ ที่ดึงคนข้างนอกเข้ามาช่วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งผมเชื่อว่าความพร้อมและความสามารถของคนที่ถูกสร้างขึ้นมาอาจจะนำประเทศไทยไปก่อน แต่เราก็ยังมีโอกาสตามทัน เพราะมีแหล่งวัตถุดิบและอุตสาหกรรม แต่สิ่งที่เราต้องทำคือสร้างคน
ขึ้นอยู่กับจริยธรรมของแต่ละบริษัท การที่เราทำงานกับนักวิจัยและพัฒนาทั้งหมดเราต้องมีสัญญาและให้ความเคารพกับทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับนักวิจัย (IP Xpedite) เพราะฉะนั้นการทำงานกับอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งทุกคนต่างก็มี IP ของตัวเอง จึงต้องมีข้อตกลงในเงื่อนไขต่าง ๆ กันตั้งแต่แรก ซึ่งส่วนมากก็ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะคุยกันและมีข้อตกลงที่เป็นโครงสร้างชัดเจนตั้งแต่แรก ทำให้เรารู้ว่าใครเป็นเจ้าของอะไร
ผมเชื่อเสมอว่าไม่มีใครเก่งเพียงคนเดียว ถ้าไม่ได้ร่วมงานกับบริษัทนี้ก็หาต่อไปเรื่อย ๆ เราเองก็ไม่อยาก take advantage จากคนอื่น ขณะที่ก็ไม่อยากให้คนอื่นมา take advantage จากเราเหมือนกัน ก็ต้องเข้ามาถึงจุดที่เป็นกลางทั้งสองฝ่ายที่ทุกคนได้ผลประโยชน์เท่าเทียมกัน
ผมทำงานกับบริษัทข้ามชาติมาโดยตลอด ไม่เคยคิดว่าจะกลับมาทำงานที่ไทย เพราะมองว่าเทคโนโลยีเขาไปไกลกว่า และรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ไปเจอ product ใหม่ ๆ จนคุณธีรพงศ์ (ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร)มาคุยกับผมว่าต้องการจะสร้างนวัตกรรมอย่างจริงจัง ใช้เวลาคุยกันเป็นปี ผมก็ถามเขาว่าแน่ใจแล้วใช่ไหม แน่ใจขนาดไหน เพราะมีความเสี่ยง ต้นทุนสูง และใช้เวลานาน สุดท้ายก็ตัดสินใจทำ
“ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นเพราะได้กลับมาช่วยอุตสาหกรรมอาหารในไทย แต่ที่ตื่นเต้นที่สุดคือ เราสร้างทุกอย่างจากศูนย์ ทั้งนโยบายและกลยุทธ์นวัตกรรมของ Thai Union ว่าเราควรจะเริ่มอย่างไร ที่ต้องคิดก่อนว่าควรจะมีนวัตกรรมอย่างไร อยู่ที่ไหน”
แต่เมื่อมองว่าหากจะสร้างศูนย์วิจัยเองก็จะช้าไปแล้ว แต่ถ้าไปจ้างคนอื่นก็แพง จึงเลือกทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ที่สำคัญคือได้รับการส่งเสริมการลงทุนเป็นจำนวนเงิน 300 ล้านบาท ตั้งแต่ต้นปี 2558 เป็นเวลา 5 ปีจาก BOI (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ทำให้สามารถสร้างศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน หรือ Global Innovation Center (GIC) ขึ้นมาได้
ทั้งนี้จึงเริ่มดึงนักวิจัยจากต่างประเทศหรือคนไทยที่อยู่ต่างประเทศให้มาทำงานร่วมกันกับนักวิจัยที่เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง ที่ถือว่าเป็นการสร้างองค์กรใหม่และสร้างโอกาสให้นักวิจัยได้มีพื้นที่ในการทำงานวิจัย แล้วยังเป็นองค์กรที่มีความต่างทั้งเรื่องอายุ (ตั้งแต่ 20 ปี ถึง 60 ปลาย ๆ ) สัญชาติ และเพศที่แตกต่างกัน จึงก่อให้เกิดมุมมองที่หลากหลายด้วย
“ตัวผมเองไม่มีความรู้เรื่องปลาเลย คนที่ทำงานกับผมที่จบเกี่ยวกับปลาก็มีน้อย ซึ่งเมื่อเราให้คนที่ไม่รู้ได้มาศึกษาเพิ่ม ก็อาจจะได้ภาพออกมาที่แตกต่าง แต่ถ้าให้คนที่รู้อยู่แล้วมาทำ ก็อาจจะไม่ได้มองภาพแตกต่างไป เพราะก็จะคิดว่าเขารู้อยู่แล้ว”
นอกจากนี้ผมยังมีความเชื่อเรื่อง Industry 4.0 (การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เป็นการนำสารสนเทศมาประยุกต์ผสมผสานกับเทคโนโลยีอุตสาหกรรม) เพราะถ้าเป็นไปไม่ได้บริษัทเราก็อยู่ไม่ได้ ด้วยคนงานที่มีอยู่ 20,000-30,000 คน และเราก็ไม่ได้หวังว่าอีก 10 ปีข้างหน้าเขาจะอยู่ที่นี่ แล้วถ้าเขาไม่อยู่เราจะอยู่ได้อย่างไร หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง ตอนนี้เราเริ่มใช้เทคโนโลยีหลาย ๆ อย่าง การเรียนรู้ของ AI ในโรงงานมีมูลค่ามหาศาล ทุกคนพูดเหมือนกันว่าในที่สุดจะชนะกันด้วยข้อมูลหรือ data จริง ๆ เพราะในอุตสาหกรรมอาหาร data คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณเข้าใจทั้งในกระบวนการผลิต คุณภาพและผลิตภัณฑ์
ฉะนั้นวันนี้การที่เราเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ ก็ยิ่งมี data เป็นจำนวนมากเช่นกัน อย่างไรก็ตามแม้ว่าเมื่อก่อน data ค่อนข้างจะกระจัดกระจาย แต่เรานำ data เหล่านั้นมารวมกันเพื่อทำความเข้าใจ ทำให้ต่อไปนี้ก็สามารถคาดการณ์เรื่องต่าง ๆ ได้มากขึ้น
นวัตกรรมไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์แต่เป็นได้ทั้งธุรกิจและเทคโนโลยี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมปลาทูน่า ถ้าเราไม่ทำการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยเราก็อยู่ไม่ได้
ตอนที่ผมมาสัมภาษณ์งาน ผมต้องไปเดินในโรงงาน ซึ่งผลิตปลา 3-4 แสนตันต่อปี แต่ส่วนที่เหลือครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไปเป็นของที่ low-value จึงคิดว่าน่าจะนำมาทำอะไรให้มีมูลค่ามากขึ้นจากวัตถุดิบที่อยู่ในโรงงานอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์
พอคิดว่าเราสามารถทำผลิตน้ำมันปลาทูน่าเองได้ ผมก็ไปเสนอกับผู้บริหารว่าควรตั้งสายงานใหม่เป็น Marine Ingredient Division ซึ่งได้เปิดขึ้นมาแล้วเป็นธุรกิจใหม่และเป็นความหวังของบริษัท จากนั้นเราก็มาสร้างโรงงานน้ำมันปลาทูน่าบริสุทธิ์ให้กับบริษัทผู้ผลิตนมผง ก็เป็นอะไรที่เกิดขึ้นแล้วและไม่ได้เกินกำลังความสามารถ
หลังจากนี้ก็มองไปถึงด้านผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ในแง่การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างกระดูกปลาทูน่าและได้จดสิทธิบัตรแล้ว ซึ่งเป็นแคลเซียมที่ได้จากธรรมชาติ จึงสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีกว่าแคลเซียมที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้กระบวนการอยู่ระหว่างเตรียมผลิตจริงในโรงงานต้นแบบที่ฝรั่งเศส
จุดเริ่มต้นเกิดเมื่อ 3 ปีก่อน ที่คิดว่าทำไมจึงไม่สร้าง ecosystem ที่มุ่งเน้นเรื่องอุตสาหกรรมอาหารและ Deep Tech ที่เกิดจาก 2 หน่วยงานแรกคือเราและ NIA หรือสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ก่อน แต่ก็ใช้เวลากับการชวนบริษัทอื่น ๆ ในวงการอุตสาหกรรมอาหารมาร่วมด้วยแต่ก็ตัดสินใจช้า เราเลยไม่รอแล้วเริ่มเดินหน้าทำ และคิดว่าตัดสินใจทำสิ่งที่ถูกต้อง
ในที่สุดจึงเกิดโครงการ SPACE-F ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง T้U มหาวิทยาลัยมหิดล และ ที่มีเป้าหมายส่งเสริมและพัฒนา Startup เพื่อค้นหา บ่มเพาะและเร่งการเติบโตของ Startup ด้าน Food Technology แห่งแรกของโลก โดยจะให้บริการด้านนวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพนวัตกรรมอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 โปรแกรม คือ โปรแกรม Incubator สำหรับสตาร์ทที่อยู่ในระยะบ่มเพาะ และโปรแกรม Accelerator สำหรับบริษัท Startup ที่อยู่ในระยะเร่งการเติบโต
โดย SPACE-F ตั้งอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง โดยจะให้บริการตั้งแต่ห้องแล็บ เครื่องมืออันทันสมัยที่จะช่วยให้การวิจัยและการพัฒนาทางความคิดเป็นไปได้อย่างสะดวก นอกจากนี้การขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่น ๆ ก็สามารถทำได้ง่ายขึ้นด้วยการเข้าถึงพื้นที่ทำงานของ WeWork Labs ได้ใน 60 แห่งทั่วโลก รวมถึงการสนับสนุนของเครือข่ายทั่วโลกของ บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป และโปรแกรมของสนช. ที่ส่งเสริม Startup สู่ตลาดต่างประเทศ
เราคิดว่าเป็นการสร้าง ecosystem ในไทยให้เพิ่มมากขึ้น และคิดว่าเราและเขา (Startup) ได้ประโยชน์ร่วมกัน นอกจากที่เราให้เงินรายละประมาณ 1 แสนบาทแล้วแต่เรายังลงทุนในคนเพื่อเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงด้วย
ผมคิดว่าจะทำให้ Deep Tech ในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดอาจจะมีบริษัท Tech Company เกิดขึ้นในไทยก็เป็นไปได้
ในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ เรียนรู้ secret sauce การขับเคลื่อนบริษัทแห่งนวัตกรรมจากดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ที่งาน Techsauce Culture Summit 2019 ใน Hands On Workshop หัวข้อ 'Culture of innovation: The secret sauce of jumping to a new S curve' ในด้านการส่งเสริม startups การผลักดันความคิดสร้างสรรค์ และการปรับรูปแบบธุรกิจสำหรับการทำงานในรูปแบบ new S curve กับมหาวิทยาลัยและสถาบันการวิจัยและพัฒนา เพื่อผลักดัน FoodTech startups ในประเทศไทย ภายใต้โปรแกรม SPACE-F เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและซื้อบัตรได้ที่ http://bit.ly/2mwJvkg
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด