จุดจบ Startup ลวงโลก : Theranos ต้นตอความล้มเหลวมาจากพิษร้าย 'วัฒนธรรมองค์กร'

จุดจบ Startup ลวงโลก : Theranos ต้นตอความล้มเหลวมาจากพิษร้าย 'วัฒนธรรมองค์กร'

บทความนี้เขียนโดยคุณชาญณรงค์ จันทร์โส

เมื่อปี 2014 Theranos เป็น Startup การแพทย์ที่ฮอตที่สุดตัวหนึ่ง แต่พอถึงปลายปี 2015 ก็เกิดมรสุมครั้งใหญ่กับบริษัทเพราะความหลอกลวงที่ซ่อนไว้ถูกเปิดเผย

John Carreyrou นักข่าวสืบสวนจาก The Wall Street Journal ได้ทำการขุดคุ้ยความลับของ Theranos บริษัทนี้อ้างว่ามีเครื่องมือที่ชื่อว่า Edison ที่สามารถตรวจเลือดได้โดยใช้เลือดเพียงไม่กี่หยดและรู้ผลวินิจฉัยได้ภายใน 30 นาที สิ่งนี้ถือว่าพลิกวงการเลยทีเดียวเพราะปกติการตรวจเลือดต้องใช้เลือดเป็นหลอดๆ และต้องรอผลเป็นอาทิตย์ ถ้า Theranos ทำได้จริงจะทำให้แพทย์สามารถตรวจเลือดได้บ่อยขึ้น สามารถติดตามปฏิกิริยาที่ร่างกายมีต่อยาได้อย่างใกล้ชิด และนำไปสู่การยืดชีวิตผู้ป่วยให้ยาวขึ้น

แต่จากการขุดคุ้ย Carreyrou ก็พบว่าสิ่งที่ทาง Theranos โอ้อวดเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ เครื่อง Edison ไม่สามารถให้ผลตรวจที่แม่นยำ ผลตรวจเลือดที่ได้ก็มาจากการเอาเลือดของคนไข้ไปเพิ่มปริมาณโดยใส่สารเคมีเข้าไปจากนั้นก็ตรวจด้วยเครื่องตรวจยี่ห้อทั่วๆไป

ก่อนหน้าที่จะถูกเปิดเผยความลับ Theranos ได้ระดมทุนจากนักลงทุนจนถูกตีมูลค่าสูงเกือบๆ 10,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ แต่เมื่อความเชื่อที่สร้างเอาไว้ถูกทำลายลง มูลค่าของ Theranos จึงกลายเป็นศูนย์และต้องปิดตัว

เมื่อถามว่า Elizabeth Holmes ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง Theranos ตั้งใจที่จะหลอกเอาเงินนักลงทุนแต่แรกเลยรึเปล่า Carreyrou ตอบว่า “Elizabeth Holmes ไม่ใช่ Bernie Madoff ผมค่อนข้างแน่ใจว่าเธอไม่ได้ตั้งใจออกจากสแตนฟอร์ดเพื่อมาสร้างเรื่องหลอกลวงอันยาวนานนี้หรอกนะ”

ภาพ Elizabeth Holmes/The New York Times

ถ้าย้อนดูพฤติกรรมตอนเด็กของ Holmes ข้อสันนิษฐานของ Carreyrou ก็ดูมีน้ำหนักทีเดียว

ตอนที่เธออายุ 7 ขวบ เธอก็มีความคิดที่จะสร้างไทม์แมชชีนด้วยตัวเอง พออายุ 9 ขวบ ญาติก็ถามเธอว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เธอตอบว่า “อยากเป็นมหาเศรษฐีค่ะ” พอญาติๆถามกลับว่าหนูไม่อยากเป็นประธานาธิบดีเหรอ เธอกลับตอบว่า “ไม่ค่ะ ประธานาธิบดีต้องมาแต่งงานกับหนูเพราะหนูมีเงินเป็นพันๆ ล้าน”

นอกจากนี้เธอยังมีนิสัยชอบเอาชนะตั้งแต่ยังเด็ก เธอชอบเล่นเกมเศรษฐีกับน้องชายและลูกพี่ลูกน้อง เธอจะเล่นจนกว่าเกมจบ จบในที่นี้คือสะสมบ้าน โรงแรม และเธอต้องเป็นคนชนะ แต่ถ้าเธอแพ้ เธอจะเดินหนีอย่างฉุนเฉียว

ดังนั้นเป็นไปได้ว่าเธอตั้งใจที่จะทำตามสิ่งที่เธอพูดให้สำเร็จจริงๆ เพียงแต่ช่องว่างระหว่างสิ่งที่เธออวดอ้างกับสิ่งที่เธอทำได้จริงมันห่างไกลซะจนกลายเป็นการฉ้อโกงครั้งใหญ่

ต้นตอของการหลอกลวงส่วนหนึ่งมาจาก 'วัฒนธรรมองค์กร'

ผลของการหลอกลวงทำให้ Theranos ล่มสลายแต่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดการหลอกลวงมันคืออะไรล่ะ Carreyrou เห็นว่า ต้นเหตุส่วนหนึ่งมาจากวัฒนธรรมองค์กร

ช่วงที่ Theranos รุ่งเรือง ในบริษัทมีพนักงานประมาณหลักร้อยคน การคุมคนเป็นร้อยๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายและมันถือเป็นงานหนักของผู้ก่อตั้งเลยทีเดียว สิ่งที่ผู้ก่อตั้งควรทำคือสร้างวัฒนธรรมองค์กรตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานที่ดีจะได้ส่งผลให้พนักงานมีกำลังใจในการทำงานและเดินไปในทิศทางเดียวกับที่ผู้ก่อตั้งวางเอาไว้

ว่าแต่วัฒนธรรมองค์กรนั้นจะต้องสร้างกันตอนไหน

Joe Gascoigne ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Buffer ให้คำแนะนำว่า ถ้าตอนนี้ในบริษัทมีแค่เราคนเดียวหรือมีสองคนถ้านับผู้ร่วมก่อตั้งอีกคน มันก็ยังไม่ใช่เวลาที่จะมาสนใจวัฒนธรรมองค์กร แต่เมื่อไหร่ที่เรามีทีมที่ใหญ่พอ เมื่อนั้นแหละที่ต้องมาเริ่มคิดถึงวัฒนธรรมองค์กร และวัฒนธรรมองค์กรนั้นจะต้องมีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ มันไม่ใช่สิ่งที่เรากำหนดครั้งเดียวแล้วจบไป

กรณีของ Gascoigne พอเขาเริ่มมีทีมประมาณ 8-9 คน เขาก็เริ่มคิดเรื่องวัฒนธรรมองค์กรแล้ว ส่วน Holmes ล่ะ แม้จะมีพนักงานเป็นร้อยแต่ก็ยังไม่คิดจะสนใจ ที่จริงจะบอกว่า Theranos ไม่มีวัฒนธรรมองค์กรก็ไม่ถูกซะทีเดียว วัฒนธรรมองค์กรน่ะมี แต่ไปในทางที่เละเทะ

วัฒนธรรมองค์กรของ Theranos เละขนาดไหน

Carreyrou เรียกวัฒนธรรมองค์กรของ Theranos ว่าเป็นพิษร้าย พนักงานที่นี่ไม่มีความสุขในการทำงาน ก่อนหน้าที่จะใช้ชื่อ Theranos นั้น Holmes เคยตั้งชื่อว่า Real-Time Cures แต่พนักงานรุ่นแรกๆ คิดว่ามันน่าจะเรียกว่า Real-Time Curses มากกว่า

การทำงานที่ Theranos จะเรียกว่าเป็นโรงงานนรกก็ว่าได้ Holmes เป็นเจ้านายที่มีความต้องการสูง เธอต้องการให้พนักงานของเธอทำงานหนักเหมือนอย่างที่เธอทำ เธอจะให้ผู้ช่วยของเธอทำการบันทึกเวลาเข้าออกของพนักงานในแต่ละวัน พยายามกระตุ้นให้พนักงานเข้างานเร็วและกลับช้าและบางทียังให้มาทำงานในวันหยุด

นอกจากจะทำงานหนักแล้วยังมีการแข่งขันกันสูงด้วย Holmes เคยจ้างทีมวิศวกรมา 2 ทีมและให้พวกเขาแข่งขันกันเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาการตรวจวิเคราะห์เลือด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกระตุ้นให้มีการแข่งขันในระดับที่เหมาะสมสามารถทำให้พนักงานมีไฟที่จะทำงานอย่างเต็มความสามารถ แต่ถ้าระดับการแข่งขันสูงเกินไปจะทำให้พนักงานเครียดและตีตัวออกห่างจากกัน ซึ่งกรณีหลังเกิดขึ้นกับ Theranos ผลคือพนักงานฝีมือดีหลายคนขอลาออก คนที่ไม่สามารถทำได้ตามที่คาดหวังถูกไล่ออกและออกจากบริษัทไปโดยที่ไม่ได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น

เรื่องการจ้างคนล่ะ วัฒนธรรมองค์กรที่ดีจะต้องประกอบไปด้วยพนักงานที่มีฝีมือและเข้ากับองค์กรได้ แต่ Holmes กลับทำให้มันมั่วซั่วซะเอง

เธอให้ Ramesh “Sunny” Balwani ซึ่งเป็นแฟนของเธอเข้ามาทำงาน แม้ว่าเขาจะมีประสบการณ์มาบ้างแต่มันก็ไม่ได้มากพอที่จะคู่ควรเป็น No.2 ของบริษัท ความรู้เขาอาจจะน้อยกว่าเด็กม.ปลาย สายวิทย์คณิตด้วยซ้ำ มีครั้งหนึ่งเขาคิดว่าตัว P ในตารางธาตุ คือ Potassium แต่ที่จริงมันต้องเป็นตัว K ส่วนตัว P น่ะ มัน Phosphorus ต่างหาก เด็กม.ปลายคงไม่พลาดเรื่องแบบนี้แน่ๆ นี่ยังไม่นับเรื่องที่โดนลูกน้องปั่นหัวเหมือนเป็นตัวตลกอีก

เท่านั้นไม่พอเธอยังจ้าง Christian Holmes น้องชายของเธอ ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์เลย วันๆ เขาเอาแต่อ่านข่าวกีฬาและยังรับเอารุ่นพี่รุ่นน้องจากมหาวิทยาลัยเดียวกันเข้ามาทำงาน

จุดที่ถือว่าหนักที่สุดคือ Holmes ใช้การบริหารแบบรวมศูนย์

ใน Silicon Valley หลายๆ Startup ให้คุณค่ากับการมอบอำนาจในการตัดสินใจ แต่ที่ Theranos บริหารแบบทหารในกองทัพ พนักงานทุกระดับต้องรายงานโดยตรงต่อ Holmes ทุกการตัดสินใจเกิดขึ้นจาก Holmes แต่เพียงผู้เดียว นอกจากนี้ยังมีรูปแบบเหมือนเผด็จการอีกด้วย

หลายครั้งเลยทีเดียวที่พนักงานเห็นว่า Holmes กำลังพาบริษัทเดินลงเหว พวกเขาจึงแจ้งต่อบอร์ดบริหาร ซึ่งตอนแรกบอร์ดก็ตัดสินใจที่จะหาคนที่มีประสบการณ์มากกว่ามาบริหารแทน Holmes แต่พอ Holmes เข้าโน้มน้าว บอร์ดกลับเปลี่ยนใจให้ Holmes บริหารตามเดิม ส่วนพนักงานที่แจ้งเรื่องกลับถูกฟ้องร้อง

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่มีการถ่วงดุลอำนาจที่จะคอยไตร่ตรองการตัดสินใจของ Holmes

การบริหารแบบนี้ก็มีข้อดีเช่นกัน มันสามารถทำให้เกิดการตัดสินได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดทั้งเวลาและทรัพยากร แต่จุดอ่อนก็คือ มันเปราะบางเกินไป โชคชะตาของบริษัทที่เป็นแหล่งรวมหลายร้อยชีวิตกลับขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนเพียงคนเดียว มันเป็นเรื่องที่เสี่ยงมากเกินไปและยังเป็นช่องโหว่ให้เกิดการฉ้อโกงได้

ดังนั้นผลกระทบทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับ Theranos ก็เป็นเพราะ Holmes เพียงคนเดียว เธอรู้อยู่แล้วว่าเธอไม่มีเทคโนโลยีที่จะทำให้ผลลัพธ์เป็นจริง เธอใช้วิธีที่ผิดศีลธรรมปิดบังความจริงที่อยากเก็บซ่อน ทุกการหลอกลวงเกิดขึ้นด้วยการตัดสินใจของเธอเอง จุดจบของ Theranos คงไม่เป็นแบบนี้ ถ้าในบริษัทมีการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน

ถ้า Holmes เพียงแต่ให้ความสนใจกับสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมองค์กร เราอาจจะเห็นความสำเร็จของ Theranos ก็เป็นได้

Carreyrou ได้เคยกล่าวไว้ในการพูดคุยครั้งหนึ่งว่า วัฒนธรรมของ Silicon Valley ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดคนแบบ Holmes

ที่นั่นมีคำกล่าวอย่างเช่น 'Move Fast and Break Things, Fail fast, Fake it until you get it' หรือไม่ก็ความเชื่อที่ว่าผู้ก่อตั้ง Startup มีแต่คนอัจฉริยะที่ไม่มีทางผิดพลาด วัฒนธรรมพวกนี้กำลังแพร่ขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ

“มันกำลังแพร่เข้าไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ เข้าไปสู่รถยนต์ไร้คนขับ เข้าไปสู่อุตสาหกรรมการแพทย์” Carreyrou กล่าว

เมื่อคุณจะเข้าไปหาโอกาสในอุตสาหกรรมที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิต คุณไม่สามารถทำแค่การพูดซ้ำๆ และค่อยแก้จุดบกพร่องไปเรื่อยๆ ได้หรอกนะ คุณต้องทำให้ผลิตภัณฑ์ของคุณทำงานได้ดีซะก่อน

ถ้าเหล่าผู้ก่อตั้งยังคงไม่ใส่ใจกับวัฒนธรรมองค์กรและปล่อยให้ตัวเองถูกวัฒนธรรมของ Silicon Valley ครอบงำ ในอนาคตก็คงจะเกิดกรณีแบบ Theranos อีกแน่นอน

อ้างอิงข้อมูลจาก: Business Insider, WIRED, ABC News, Medium

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

4 เสาหลักสู่นวัตกรรม ความสำเร็จที่ยั่งยืน ที่องค์กรขาดไม่ได้

ปัญหาจริงของการขาดนวัตกรรมคือ "คุณภาพ" รวมถึงวิธีการ ”เลือก” ไอเดียที่เหมาะสมเพื่อนำไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าได้จริง จากการวิจัย องค์กรที่ประสบความสำเร็จในด้านนวัตกรรมมักม...

Responsive image

ไขความลับ Gen AI โอกาส ข้อจำกัด และวิธีใช้ ในการวางกลยุทธ์สำหรับ CEO

เรากำลังประเมินความสามารถของ AI สูงเกินไปหรือไม่? และ AI จะสามารถช่วยเหลือในด้านใดของการวางแผนกลยุทธ์? บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้ผ่านกรณีศึกษาสองกรณีเกี่ยวกับการใช้ gen AI ในการวา...

Responsive image

เมื่อพายุเศรษฐกิจโหมเข้า CFO จะขับเคลื่อนองค์กรอย่างไร? ดีลอยท์ชวรรู้จัก CFO Trilemma

CFO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างสมดุลระหว่างการฟันฝ่าวิกฤต สร้างคุณค่าระยะยาว และพัฒนาขีดความสามารถของทีม เพื่อความยั่งยืนขององค์กร...