รพ.บำรุงราษฎร์ มุ่ง Medical Technology สร้างความต่างอย่างสากล | Techsauce

รพ.บำรุงราษฎร์ มุ่ง Medical Technology สร้างความต่างอย่างสากล

  • Medical Technology มีบทบาทกับธุรกิจสุขภาพมากขึ้นเมื่อต้องรับมือกับ Digital Disruption
  • Big Data AI และ Life Science จะถูกนำมาใช้กับแวดวงการแพทย์เพิ่มขึ้นในหลายรูปแบบ
  • นวัตกรรมคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้ รพ.บำรุงราษฎร์ ทั้งแตกต่างและเป็นสากลยิ่งขึ้น
  • ความท้าทายของธุรกิจคือการโน้มน้าวให้บุคลากรเปิดใจและใช้ Technology เพื่อประโยชน์ของคนไข้

Medical Technology ที่ปัจจุบันมาในบทบาทของ Big Data AI และ Life Science (วิทยาศาสตร์ชีวภาพ) ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงถูกนำมาใช้ในหลายมิติเพื่อรับมือกับ Digital Disruption และส่งเสริมให้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เดินหน้าสู่สถานะการบริบาลสุขภาพแบบองค์รวมระดับโลก (World-class holistic healthcare) ที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งช่วยตอบโจทย์แตกต่างด้วยนวัตกรรม คาดติดอาวุธเทคโนโลยีด้าน wellness รองรับสังคมผู้สูงอายุขยายตัว

รพ.บำรุงราษฎร์เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2523 ปัจจุบันเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ด้วยขนาด 580 เตียง พร้อมมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทันตแพทย์ทั้ง Full Time และ Part Time รวม 1,300 คน และพนักงานอีกราว 4,000 คน

โดยมีผู้ป่วยนอกเข้ามารับบริการประมาณ 3,000 คนต่อวัน (หรือกว่า 1.1 ล้านราย/ปี) คิดเป็นสัดส่วนจำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่ 50% (หรือกว่า 520,000 ราย/ปี) และมีรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติที่ 65% ซึ่งมีเภสัชกรหญิงอาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ รับหน้าที่ผู้นำคนใหม่อย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนมกราคม 2562 ผู้สวมหมวกผู้อำนวยการด้านบริหาร (CEO) แห่งรพ.บำรุงราษฎร์

อาทิรัตน์ ประกาศวิสัยทัศน์การทำงานที่มุ่งตอกย้ำการเป็นผู้นำ World-class holistic healthcare ที่สร้างความแตกต่างด้วยนวัตกรรม ภายในปี พ.ศ. 2565 โดยกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินงานไว้ใน 5 ปีข้างหน้า มุ่งเน้นให้ความสำคัญใน 3 ส่วนหลัก ๆ

ประกอบด้วย 1. การปรับเปลี่ยนจากการรักษาผู้ป่วยเป็นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Care) 2. การประมวลข้อมูลที่มีอยู่จำนวนมากเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ของการบริบาลอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม (Big Data) ตลอดจนการนำเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence:AI) เข้ามาปรับใช้ และ 3. การเชื่อมโยงระหว่างกันของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งคน เทคโนโลยี และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง (Connected, Team)

สำหรับแรงขับเคลื่อนที่จะทำให้ รพ.บำรุงราษฎร์สู่การเป็น World-class holistic healthcare ได้จำเป็นต้องนำ Medical Technology มาใช้เพื่อสุขภาพเชิงรุก (Proactive) ซึ่งให้ผลดีกว่าการตั้งรับรักษาอาการเจ็บป่วย (Reactive) โดยเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่โรงพยาบาลนำมาใช้จะคำนึงถึงผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Patient Centric) รวมถึงนำระบบบริหารจัดการในลักษณะ Operational Excellence มาใช้ในองค์กร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ป่วยมากที่สุด (Patient Safety)

อาทิรัตน์อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า กระแส Digital Disruption สำหรับธุรกิจสุขภาพ ในตอนนี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง Big Data และ AI ที่เข้ามามีผลต่อธุรกิจอย่างมาก กระทั่งทำให้บุคลากรทางการแพทย์หวั่นเกรงว่าจะมาแทนที่แรงงานคนหรือไม่ แต่ในความเป็นจริงแล้วเทคโนโลยีพวกนี้จะมาช่วยเหลือในเชิงความแม่นยำและความรวดเร็วของการรักษามากกว่า

สำหรับนวัตกรรมในอนาคตที่ อาทิรัตน์ มองว่าจะส่งเสริมความเป็นมาตรฐานสากลให้แก่รพ.บำรุงราษฎร์ยิ่งขึ้นนั้น จะเกี่ยวข้องกับด้าน wellness โดยเน้นหนักในส่วนการป้องกันการเกิดโรค เพื่อที่จะช่วยให้ผู้คนใช้ชีวิตในวัยชราได้อย่างมีสุขภาพที่ดี รวมถึงแม้แต่ช่วยให้คนไข้สามารถฟื้นฟูร่างกายหลังเจ็บป่วยหรือหลังได้รับการผ่าตัดได้รวดเร็วขึ้น เช่นเดียวกับที่ลดโอกาสการกลับมาป่วยใหม่ได้ดีกว่าเดิม

Bumrungrad-CEO-Medical-Tech

Medical Technology หลายมิติ

ปัจจุบันรพ.บำรุงราษฎร์ริเริ่มนำ Medical Technology มาปรับใช้ในหลายส่วนสำหรับด้าน Holistic Care ที่การดูแลสุขภาพต่อไปในอนาคตจะมุ่งเน้นการดูแลเชิงป้องกัน (Prevention) ไม่ให้เกิดโรค ด้วยนวัตกรรมต่าง ๆ เช่น Next-Generation Sequencing Technology (NGS) ช่วยให้คาดการณ์ความเสี่ยงในการโรค (Prediction) เช่น สามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์ DNA หาความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง หรือความเสี่ยงการแพ้ยาบางชนิด

รวมถึงการนำมาใช้ในการตรวจรักษาโรคได้อย่างแม่นยำและจำเพาะต่อตัวบุคคล (Precision and Personalization) เพื่อให้เข้าใจถึงรหัสพันธุกรรมของผู้ป่วยแต่ละราย (DNA Wellness) ซึ่งจะช่วยกำหนดแนวทางการรักษาเพื่อดูแล รวมถึงส่งเสริมสุขภาพที่ดีและเหมาะสมที่สุดแก่ตัวผู้ป่วย โดยในส่วนนี้โรงพยาบาลได้ทำงานร่วมกับศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ (VITALLIFE)

สำหรับในฝั่งของ Big Data และ AI นั้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา รพ.บำรุงราษฎร์ร่วมมือกับ BIOTIA ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพด้านบริการเทคโนโลยีสุขภาพจากสหรัฐอเมริกา ในการเก็บข้อมูลและค้นคว้าวิจัย โดยอาศัย NGS Technology และ Big Data เพื่อศึกษาปัญหาเชื้อดื้อยา

ปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นเรื่องสำคัญของประเทศไทยและวาระเร่งด่วนระดับโลก โดยทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 700,000 ราย และหากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ในอีก 30 ปีข้างหน้า คาดว่าการเสียชีวิตจะสูงถึง 10 ล้านคน สำหรับประเทศไทยประมาณการณ์ว่ามีการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 87,751 ราย และเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา 38,481 ราย หรือ 40% ของผู้ติดเชื้อดื้อยา

การนำ Technology มาใช้จะช่วยยกระดับความสามารถในการตรวจและวิเคราะห์เชื้อก่อโรคได้รวดเร็วและแม่นยำ ครอบคลุมทั้งในด้านผลการรักษา การป้องกันเชื้อดื้อยา ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการรักษา

ทั้งนี้โดยทั่วไปพอมีการติดเชื้อ แพทย์จะสั่งตรวจหาเชื้อก่อโรคจากเลือดหรือสิ่งส่งตรวจอื่น เช่น ปัสสาวะ ซึ่งต้องอาศัยการเพาะเชื้อ เป็นเวลาอย่างน้อย 2-3 วัน ซึ่งในระหว่างนั้นแพทย์จะให้การรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งครอบคลุมในวงกว้าง เมื่อได้รับผลเพาะเชื้อแล้ว จึงสามารถลดหรือปรับเปลี่ยนยาให้จำเพาะต่อเชื้อได้

แต่เมื่อได้นำ Technology นี้มาใช้ใน รพ.บำรุงราษฎร์ สามารถทำให้ระบุเชื้อก่อโรคได้ภายใน 6 ชั่วโมง จึงช่วยลดการใช้ยา และป้องกันปัญหาการเกิดเชื้อดื้อยาได้ ไม่เพียงเท่านั้นยังเริ่มใช้ IBM Watson ซึ่งเป็น Cognitive Computing ที่มาช่วยแพทย์รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทั้งวินิจฉัยโรค และเสนอแนวทางการรักษาเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ป่วยอีกด้วย

รวมถึง Zebra AI ซึ่งเป็นการใช้ระบบ AI ร่วมกับ CT Scan เพิ่มความแม่นยำในการอ่านข้อมูลทางด้านรังสีรักษา และสามารถตรวจได้ถึง 4 โรคในครั้งเดียวกัน ได้แก่ โรคถุงลมโป่งพอง เลือดออกในสมอง ไขมันพอกตับ และภาวะกระดูกแตก

ในด้าน Connected, Team ซึ่งเป็นการผนึกกำลังและเชื่อมโยงการทำงานในทุก ๆ ฝ่ายร่วมกันเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ ที่ถือเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม โดยริเริ่ม Core Value ใหม่ 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ Agility / Innovation / Caring

ทั้งนี้ รพ.บำรุงราษฎร์ยังใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของนวัตกรรมในปัจจุบัน เข้ามาช่วยพัฒนาการสื่อสารที่เชื่อมโยงบุคลากรทางการแพทย์และทีมงานให้สามารถเข้าถึงผู้ป่วย เพื่อการดูแลที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการมากยิ่งขึ้น โดยอาศัยอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามามีส่วนช่วย เช่น Telehealth ซึ่งเป็น Communication platform ที่ให้ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ที่มีความสามารถและความชำนาญตรงต่อโรคและความต้องการของผู้ป่วยสามารถให้ความรู้และคำแนะนำที่ถูกต้องเข้าใจง่าย

ในส่วนของ Telemedicine & Teleconsultation ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลที่ร่วมมือกับ iDoctor เข้ามาช่วยให้คำปรึกษาผู้ป่วย และลดข้อจำกัดเรื่องการเดินทางและช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งสามารถเชื่อมต่อสำนักงานตัวแทนในต่างประเทศ (Referral Office) ที่มีอยู่ 40 แห่งทั่วโลกได้ด้วย

ขณะที่ Remote Interpreter ช่วยเจ้าหน้าที่ล่ามในการแปลภาษาให้กับผู้ป่วยผ่านอุปกรณ์สื่อสารโดยที่ไม่จำเป็นต้องไปอยู่กับแพทย์หรือผู้ป่วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ล่ามของทางโรงพยาบาลได้ผ่านการอบรมและทดสอบการแปลความหมายที่ถูกต้องในทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการสื่อสารถึงข้อมูลในการรักษาที่ถูกต้องและครบถ้วน ผ่านการบริการที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

การพัฒนาดังกล่าวมีรากฐานจากการเปลี่ยนระบบ Hospital Information System (HIS) ตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา จึงเชื่อมต่อ Interface กับระบบต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น และเพิ่มความปลอดภัยของผู้ป่วยได้ เพราะช่วยให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในแผนกต่าง ๆ ของโรงพยาบาลสามารถเข้าถึงข้อมูลเดียวกันของผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างง่ายดายและปลอดภัยในแบบเรียลไทม์

Bumrungrad-CEO-Medical-Tech

ความท้าทายของ CEO

อาทิรัตน์เล่าถึงประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาว่า นับว่าเธอโชคดีที่ได้รับโอกาสให้ไปเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในหลายด้านของธุรกิจโรงพยาบาล ทั้งงานด้านจัดซื้อ การบริหารทรัพยากรบุคคล เทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนบริหารโครงการใหม่อย่างศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ VITALLIFE

แต่หนึ่งในเคล็ดลับความสำเร็จ คือ ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายภารกิจใดสิ่งที่ตัวเธอยึดมั่นเสมอคือ Entrepreneurship หรือการคิดเหมือนเป็นเจ้าของ เพราะเธอมองว่าการได้รับโอกาสให้ลองทำโดยไม่ต้องลงทุนด้วยตัวเองก็ยิ่งต้องพยายามทำให้ประสบความสำเร็จ

"ทั้งจากพื้นฐานด้านเภสัชกรรมที่เรียนมา passion ส่วนตัวที่สนใจด้านวิตามินต่าง ๆ และความชื่นชอบด้าน Technology มีผลให้เราได้เรียนรู้งานหลาย ๆ ด้านมาก่อนที่จะมาเป็น CEO ในปัจจุบัน"

อย่างไรก็ตาม สำหรับบริบทของธุรกิจสุขภาพในปัจจุบันนั้น เธอก็ยอมรับว่ายังมีความท้าทายในฐานะ CEO คนใหม่แห่งรพ.บำรุงราษฎร์ คือ Digital Disruption ที่ไม่เพียงแต่ต้องมีความพร้อมทั้งทีมงานวิจัยและพัฒนา (R&D) งบประมาณ และพันธมิตรที่ดีแล้ว สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ‘execution’ หรือการนำนวัตกรรมด้าน Medical Technology ต่าง ๆ มาใช้อย่างแท้จริงในโรงพยาบาลได้อย่างไร

นั่นคือจะโน้มน้าวให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร มีความเข้าใจและเข้าถึง Medical Technology แล้วนำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนไข้หรือผู้ที่มารับบริการได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ การบริหารบุคลากรของรพ.บำรุงราษฎร์ในภาพรวมก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ผู้นำอย่างอาทิรัตน์ต้องฝ่าฟันดังที่เธอย้ำว่า เพราะคงยากที่จะเปลี่ยนทุกคนให้เป็น robot ได้หมด

เราจะ transform ได้จริงต่อเมื่อเปลี่ยนคนให้เปิดรับและตอบสนองกับ Technology ใหม่ ๆ ได้ ซึ่งปัจจุบันสามารถเปลี่ยนได้ราว 70% ของทั้งหมด

ทั้งนี้้ทางรพ.บำรุงราษฎร์จึงเริ่มนำการอบรม Crew resource management or cockpit resource management (CRM) มาใช้กับบุคลากรทั้งโรงพยาบาล เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานและการนำ Technology มาใช้ ซึ่งเป็นการต่อยอดทางความคิดแล้วจะนำไปสู่การเปลี่ยนทัศนคติมากขึ้น ตลอดจนให้ได้รับรู้ข้อมูลในจุดที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน

เช่น หากเปลี่ยนจากเขียนด้วยลายมือมาเป็นการป้อนข้อมูลเข้าระบบ เพื่อช่วยให้ลดการผิดพลาดในการทำงานได้ดีขึ้นและช่วยให้เพื่อนร่วมงานสะดวกขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วจะช่วยให้คนไข้ได้รับการรักษาที่ดีและปลอดภัย ก็ย่อมช่วยโน้มน้าวให้ทุกยอมปรับเปลี่ยนเพื่อเป้าหมายรวมของทั้งองค์กรได้

รวมถึงด้วยสถานการณ์ที่มีโรงพยาบาลเอกชนเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน ซึ่งการที่สามารถผูกใจให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นกลุ่ม talent เลือกทำงานกับรพ.บำรุงราษฎร์ก็เป็นอีกความท้าทายขององค์กร นั่นคือจำเป็นต้องสร้าง Entrepreneurship อีกทั้งส่งเสริมให้บุคลากรเหล่านั้นมองเป้าหมายในการทำงานเป็นเป้าหมายเดียวกับองค์กร อีกทั้งพัฒนาให้เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญพิเศษและมีมุมมองที่กว้างขวาง เปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ ๆ ไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต

เช่นเดียวกับที่เรื่องความต่างในช่วงวัยของบุคลากรก็ส่งผลต่อการบริหารองค์กรในปัจจุบันด้วย ซึ่งต้องพยายามทำให้เรื่องของ human touch ยังคงอยู่ ด้วยเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับธุรกิจการแพทย์ เพราะจุดที่เราสามารถดึงดูดคนต่างชาติมาได้ก็เพราะ Thai hospitality และการมีใจให้บริการต่าง ๆ

เคยมีการทำแบบสอบถามแล้วพบว่าเราเป็นรพ.อันดับหนึ่งที่ต้องการมาทำงานด้วย ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่เลือกก็คือความทันสมัย ซึ่งพนักงานก็เป็นเหมือน internal customer ที่เราต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อทำให้อยากอยู่กับเรา

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ทำให้ รพ.บำรุงราษฏร์มีอัตราการลาออกของพนักงานเพียง 9% นั้นอาทิรัตน์เล่าว่าเหตุผลหลักคือการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานแบบมืออาชีพที่เปิดโอกาสให้บุคลากรได้เรียนวิชาความรู้ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง

ในระยะอันใกล้นี้รพ.บำรุงราษฎร์ จะเริ่มใช้ซอฟท์แวร์ที่เป็น Interactive Learning System ด้วยงบลงทุนถึงเกือบ 20 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้พนักงานสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองและเชื่อมโยงไปสู่ระบบประเมินผลพนักงานด้วย

สำหรับสไตล์การบริหารงานที่ผู้นำหญิงแห่งรพ.บำรุงราษฎร์ยึดถือคือ Results-Oriented ซึ่งจะกำหนดผลลัพธ์ที่ต้องการอย่างชัดเจน นั่นคือการบริหารทีมงานในยุคนี้ผู้นำต้องมีความสามารถในการดึงศักยภาพของคนมาใช้อย่างถูกต้อง

เนื่องจากโดยปกติแล้วคงไม่สามารถดึงทีมงานที่ต้องการมาไว้ใกล้ตัวได้ทั้งหมด แต่ต้องรู้ว่าทำอย่างไรถึงจะดึงศักยภาพของคนที่อยู่ใกล้ตัวเราออกมาให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรสูงสุด ซึ่งผลดีก็จะย้อนกลับไปถึงตัวคน ๆ นั้นด้วยเมื่อได้ทำงานที่ใช่และชอบจนประสบความสำเร็จก็ย่อมสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ตัวเขา

อีกจุดที่พี่พยายามสร้างให้เกิดขึ้นคือการทำงานเป็นทีมแบบ project base ที่ไม่มี boundary ไม่มี silo ไม่ต้องมีการขอนุญาตเป็นลำดับขั้น เพราะถ้าสามารถดำเนินการให้สำเร็จสัก 10% ของ project ทั้งหมด ก็ถือว่าได้สร้างสิ่งใหม่ให้องค์กรแล้ว และทำให้เด็กรุ่นใหม่รู้สึกมีความท้าทายในการทำงาน


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำไมองค์กรยุคใหม่ ต้อง AI Transformation องค์กร

Session AI Tranformation โดย ดร.ลิสา พัทธ์วิวัฒน์ศิริ Chief Digital Officer The King Power Corporation และ คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ CEO & Co-Founder Techsauce ที่ได้ร่วมพูดคุยในหัวข...

Responsive image

ถอดรหัส Innovation Theater กับดักที่องค์กรต้องก้าวข้าม สู่เส้นทาง Growth Engine อย่างยั่งยืน

วิเคราะห์ความท้าทายและโอกาสในการเปลี่ยนความพยายามสร้างนวัตกรรมแบบผิวเผินให้กลายเป็นกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืน จาก Session "From Innovation Theater to Real Growth Engine" ในงาน Te...

Responsive image

วิเคราะห์กลยุทธ์ CVC ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อควรทำและไม่ควรทำจาก Sunway Group

ในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว Corporate Venture Capital (CVC) ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตและนวัตกรรม Matt Van Leeuwen, Chief Innovation Officer ของ S...