พลิกโฉมบริษัทการเงินใหญ่ที่สุดในจีน สู่ Tech Company กรณีศึกษา Ping An Group | Techsauce

พลิกโฉมบริษัทการเงินใหญ่ที่สุดในจีน สู่ Tech Company กรณีศึกษา Ping An Group

ย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนเริ่มต้นที่จะทรานส์ฟอร์มองค์กร Ping An ได้มีการลงทุนในส่วนของธุรกิจเทคโนโลยีกว่า 7,000  ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาใน  4 เทคโนโลยีหลักที่เชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนอนาคตของธุรกิจการเงิน อันได้แก่  cognitive recognition,  AI, Blockchain และ Cloud ซึ่งเทคโนโลยีพวกนี้เปรียบเสมือนลมหายใจที่ให้ชีวิตใหม่กับธุรกิจหลักของ Ping An อีกทั้งยังสามารถสร้างกำไรเพิ่มและลดความเสี่ยงจากการถูก Disrupt  ได้เช่นกัน (อ่านตอนที่ 1 ได้ที่นี่ )

Ping An

ตลอดระยะเวลา  10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2008-2018 ที่ Ping An ใช้เวลาไปกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้กับบริษัท และได้สร้างผลลัพธ์ในแง่ของรายได้ที่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกอย่างชัดเจน ก่อนอื่นเรามาดูรายได้ย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา จาก 2008-2018 ของ  Ping An ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง

เริ่มต้นกันที่ธุรกิจประกันชีวิต จากเดิมรายได้ติดลบ 127%  เพิ่มมาเป็นเติบโต 31% ธุรกิจประกันอสังหาริมทรัพย์และประกันอุบัติเหตุ จากเดิมรายได้ติดลบ 60% เพิ่มมาเป็นเติบโต 14.6% นำข้อมูลมากำหนดและเลือกระดับความเสี่ยงในแต่ละบุคคล รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า โดยการให้รางวัลกับผู้ที่มีพฤติกรรมการขับขี่ที่ดี ลดระยะเวลาการเคลมประกันผ่านทางแอปพลิเคชั่นได้ ซึ่งในปี 2019 Ping An มีผู้ใช้งานแอปฯ ดังกล่าวอยู่ที่ 16 ล้านรายต่อเดือน 

มาต่อกันด้วยธุรกิจสถาบันการเงินและการบริหารสินทรัพย์ของ Ping An โดยธุรกิจสถาบันการเงินจากเดิมรายได้ติดลบ  6%  เพิ่มมารายได้เติบโต 6.5% ส่วนธุรกิจบริหารสินทรัพย์ จากเดิมรายได้ติดลบ 20%  เพิ่มมารายได้เติบโต 3.1% โดยสิ่งที่ Ping An ทำสำหรับส่วนนี้คือ พวกเขาใช้เวลากว่า 4 ปี ในการพัฒนาเทคโนโลยีชนิดที่เลียนแบบได้ยาก

สำหรับสิ่งที่ Ping An ทำในธุรกิจหมวดของประกันภัยนั่นมีหลากหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น 

Ping An ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของธุรกิจ ในปี 2014 นั่นคือ Ping An auto owner app ด้วยการใช้  AI และ Telemetic เพื่อติดตามพฤติกรรมคนขับ นั่นคือพัฒนา AI  เพื่อตรวจสอบแบบฟอร์มการขอสินเชื่อ และสร้างระบบตรวจสอบการฉ้อโกง และในปี 2017 โปรแกรมสามารถจับทุจริตผ่านการวิเคราะห์การแสดงสีหน้าและภาษาทางกาย (micro-expressions) ของผู้ใช้งาน ซึ่งให้ความแม่นยำกว่า 90%  และบริษัทก็ใช้เทคโนโลยีนี้แทน credit scoring ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ 

จากเทคโนโลยีดังกล่าวทำให้ Ping An สามารถเพิ่มลูกค้าในเซ็คเมนต์ใหม่ นั่นคือ กลุ่มลูกค้าชาวจีนที่เดิมไม่มีคะแนนเครดิต คิดเป็นกว่า 40% และด้วยเทคโนโลยีนี้ช่วยลดการสูญเสียจากการให้เครดิตกว่า 60% ด้วยเช่นกัน 

นับตั้งแต่ปี 2008 ที่ Ping An ตัดสินใจเปลี่ยนมาเป็น Tech Company นั้น Ping An ได้ตั้งมั่นในการทุ่มงบประมาณ 1 % ของรายได้ หรือคิดเป็นกว่า 10%  ของกำไร เพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาทุก ๆ ปี  พร้อมกันนี้ Ping An ได้มีการบ่มเพาะ Tech Startup ในบริษัทเพื่อมาปฏิวัติธุรกิจเดิมอีกด้วย และในปี 2028 Ping An คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการวิจัยและพัฒนาซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่จะทำให้ Ping An กลายเป็น Tech Giant ได้ในที่สุด

จากความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา พร้อมด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่มีความคล่องตัวสูงทำให้ Ping An สามารถปั้น Startup ใน Portfolio ที่สามารถสร้างคุณค่าได้กว่า 1 ใน 3 ของธุรกิจทั้งหมด โดยปัจจุบัน Ping An มี Startup ที่เกิดขึ้นจากการบ่มเพาะกว่า 11 แห่ง โดยมี Startup ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 2 แห่ง และมี Startup ที่อยู่ในระดับ Unicorn 4 แห่ง ด้วยกัน

สำหรับขั้นตอนในการ ทรานเฟอร์ หรือเปลี่ยนผ่านนวัตกรรมในพอร์ตโฟลิโอของแกน Explore ซึ่งใช้เวลาในการค้นหาไอเดียกว่า10 ปี ตั้งแต่ 2008-2018 ไปสู่พอร์ตโฟลิโอของแกน Exploit ในปี2019 ที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ Good Doctor One Connect และ Lufax

เริ่มต้นที่ Good Doctor เป็น Startup  ที่เกิดขึ้นในปี 2014 โดย Ping An ได้มองเห็น Pain Point ที่เกิดขึ้นในจีนสำหรับการเข้าถึงบริการทางแพทย์ จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นที่เป็นแพลตฟอร์มให้บริการสุขภาพออนไลน์ ซึ่งครอบคลุมการปรึกษาออนไลน์ผ่านบริการหมอปัญญาประดิษฐ์ตลอดเวลา มีผู้ใช้มากกว่า 265 ล้านราย ต่อมาในปี 2018 Good Doctor ก็ได้ดำเนินการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยขายหุ้น IPO ไปมูลค่ากว่า 1.12 พันล้านเหรียญ และในปี 2019 Good Doctor ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในพอร์ตโฟลิโอของแกน Exploit  และ มียอดผู้ใช้งานเป็นประจำอยูที่ 62.7 ล้านรายต่อเดือน 

ต่อมา คือ One Connect เป็นแพลตฟอร์มให้บริการเทคโนโลยีการเงินเกิดขึ้นใน ปี 2015 โดยได้ให้บริการกับสถาบันการเงินขนาดเล็กไปแล้วมากกว่า 3,000 แห่ง ธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลางมากกว่า 500 แห่ง และได้ตีตลาดนอกประเทศจีน ไปยังตลาดเอเชียและยุโรป และในปี 2019 One Connect ได้เข้ามาอยู่ในพอร์ตโฟลิโอของแกน Exploit ได้ให้บริการไปแล้วกว่า 721 ล้านครั้ง

Lufax แพลตฟอร์มปล่อยสินเชื่อรายย่อย จับคู่ระหว่างผู้กู้ และผู้ให้กู้ โดยใช้  AI ในการบริหารจัดการและให้คำแนะนำ รวมถึงใช้ blockchain ในการควบคุมธุรกรรม และในปี 2019 ได้มีนักลงทุนเข้ามาอยู่ในระบบแล้วกว่า 11.58 ล้านราย 

นอกจากนี้ในแกน Exploit นั้น Ping An ยังได้มีการลงทุนในสตาร์ทอัพอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการพัฒนาเองภายในองค์กรด้วย ยกตัวอย่าง Autohome แพลตฟอร์มซื้อขายรถยนต์มือ1และมือ2ที่ใหญ่ที่สุดในจีน ที่เดิมเป็น สตาร์ทอัพ สัญชาติออสเตรเลีย  ในปี 2016 Ping An ได้เข้าไปถือหุ้นใหญ่ด้วยมูลค่าที่  1.6 พันล้านเหรียญ

และหลังจากนั้น Ping An ก็ได้เข้ามาปรับปรุงแพลตฟอร์มดังกล่าว ด้วยการบูรณาการ Data ของผลิตภัณฑ์ต่างๆเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น คำแนะนำ การขายออนไลน์ การตลาดออนไลน์ เพื่อช่วยเพิ่ม  conversation rate ให้กับผู้ผลิตรถยนต์ และฝั่งของดีลเลอร์ และในปี 2019 การลงทุนของ Ping An ก็ได้ออกดอกออกผล ด้วยการที่ Autohome มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 10,000 ล้านเหรียญ และกลายเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และมียอดผู้ใช้งานต่อวันเฉลี่ย 38 ล้านราย ในปี 2018

โดยสรุปแล้วความสำเร็จของ Ping An คือการพัฒนาแพลตฟอร์มที่สามารถดำเนินงานครอบคลุมเป็น One Stop Shop ให้กับลูกค้า รวมถึงการทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์ออนไลน์ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตรงกับความต้องการ รวมถึงการติดตามการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งานอย่างสม่ำเสมอ 

และทั้งหมดนี้ก้เป็นกรณีศึกษา จาก Ping An Group ในการบริหารพอร์ตโฟลิโอ ทั้งในแกนของ  Explore และ Exploit ที่เป็นรูปธรรม รวมถึงความสำเร็จจากการที่ Ping An สามารถที่จะทรานเฟอร์นวัตกรรม ที่ได้ใช้เวลาในการค้นหาและพัฒนาจนสามารถกลายเป็นหน่วยธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัท และยังสามารถทำให้ Ping An  ให้บริการลูกค้าที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในอุตสาหกรรมการเงินและประกันภัยอีกต่อไป แต่สามารถไปได้ในทุกอุตสาหกรรม

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

4 เสาหลักสู่นวัตกรรม ความสำเร็จที่ยั่งยืน ที่องค์กรขาดไม่ได้

ปัญหาจริงของการขาดนวัตกรรมคือ "คุณภาพ" รวมถึงวิธีการ ”เลือก” ไอเดียที่เหมาะสมเพื่อนำไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าได้จริง จากการวิจัย องค์กรที่ประสบความสำเร็จในด้านนวัตกรรมมักม...

Responsive image

ไขความลับ Gen AI โอกาส ข้อจำกัด และวิธีใช้ ในการวางกลยุทธ์สำหรับ CEO

เรากำลังประเมินความสามารถของ AI สูงเกินไปหรือไม่? และ AI จะสามารถช่วยเหลือในด้านใดของการวางแผนกลยุทธ์? บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้ผ่านกรณีศึกษาสองกรณีเกี่ยวกับการใช้ gen AI ในการวา...

Responsive image

เมื่อพายุเศรษฐกิจโหมเข้า CFO จะขับเคลื่อนองค์กรอย่างไร? ดีลอยท์ชวรรู้จัก CFO Trilemma

CFO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างสมดุลระหว่างการฟันฝ่าวิกฤต สร้างคุณค่าระยะยาว และพัฒนาขีดความสามารถของทีม เพื่อความยั่งยืนขององค์กร...