ทำไม Samsung ไม่ใช่บริษัทในฝันของ Gen-Z อีกต่อไป : เมื่อเจ้าแห่งธุรกิจแชโบลตกบัลลังก์ บทเรียนสำคัญที่ธุรกิจไทยต้องจับตา | Techsauce

ทำไม Samsung ไม่ใช่บริษัทในฝันของ Gen-Z อีกต่อไป : เมื่อเจ้าแห่งธุรกิจแชโบลตกบัลลังก์ บทเรียนสำคัญที่ธุรกิจไทยต้องจับตา

รู้หรือไม่ว่าในประเทศเกาหลีใต้มีค่านิยมการเข้าทำงานในกลุ่มบริษัทใหญ่อย่าง CJ Group, Hyundai Motor, LG Electronic, SK Hynix โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัท Samsung Electronics ที่ได้รับการขนานนามว่า การสอบผ่านและได้เข้าทำงานที่นี่เสมือนเป็น “ตั๋วสู่ชีวิตที่ดี” แต่ปัจจุบันบริบทการหางานนั้นแตกต่างจากเดิม เมื่อข้อมูลหลายแหล่งชี้ให้เห็นว่าหนุ่มสาวเกาหลีใต้ยุคนี้ไม่ได้เดินตามค่านิยมเดิมอีกต่อไป

ทำไม Samsung ไม่ใช่บริษัทในฝันของ Gen-Z อีกต่อไป : เมื่อเจ้าแห่งธุรกิจแชโบลตกบัลลังก์ บทเรียนสำคัญที่ธุรกิจไทยต้องจับตา

JOBKOREA เว็บไซต์จัดหางานยอดนิยมในเกาหลีใต้สำรวจความสนใจของนักศึกษาชั้นปี 4 มาอย่างต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ปัจจัยหลักในการตัดสินใจเลือกงานของเหล่าบัณฑิต คือ ปัจจัยด้านสวัสดิการและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตามด้วยเงินเดือนและความยืดหยุ่นในการทำงาน แต่ก็ขึ้นอยู่กับสายงานที่แตกต่างกัน 

เว็บไซต์ Global Post ได้ตีแผ่ถึงบริบทของเยาวชนเกาหลีใต้กับเป้าหมายในการเข้าทำงานใน Samsung ที่ต้องผ่านระบบการคัดเลือกสุดหินโดยการสอบและขั้นตอนต่าง ๆ จำนวนมากซึ่งกินเวลายาวนานตลอดทั้งปี จนถึงขั้นที่ในเกาหลีใต้มีโรงเรียนกวดวิชาที่ช่วยในกระบวนการติวสอบเข้า Samsung อย่างจริงจัง เรียกได้ว่าเป็นงานในฝันที่หากใครได้เข้าทำก็จะได้รับการยอมรับในสังคม

  • Samsung ความยิ่งใหญ่ของเจ้าแห่งแชโบล

กลุ่มธุรกิจแชโบลเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ และมีอิทธิพลต่อการขยายขอบเขตการทำธุรกิจไปยังอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่สำคัญในประเทศ  เป็นเหมือนแกนหลักของเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศมีศักยภาพแข่งขันในภูมิภาคและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ เช่น Samsung ที่ทำให้เกาหลีใต้ขึ้นชื่อว่าประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงในระดับโลก ไม่แปลกที่บริษัทเหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และเป็นที่น่าดึงดูดสำหรับประชาชนในประเทศที่แสวงหารายได้และความก้าวหน้าจากการทำงานร่วมกับบริษัทเหล่านี้ 

แต่กระนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความมั่งคั่งที่ก้าวกระโดดนั้น.. ความเหลื่อมล้ำในสังคมเกาหลีใต้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการกระจุกตัวของเงินทุนและรายได้ท่ามกลางธุรกิจขนาดใหญ่  กล่าวคือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างธุรกิจรายใหญ่และธุรกิจรายย่อยเป็นปัญหาฝังรากลึกของเกาหลีใต้และเป็นปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงให้ตลาดแรงงานไม่เปิดกว้าง การเข้าทำงานในบริษัทขนาดกลางและเล็กจึงไม่ใช่สิ่งที่ดีนักในสังคมเกาหลีใต้ 

ทำไม Samsung ไม่ใช่บริษัทในฝันของ Gen-Z อีกต่อไป : เมื่อเจ้าแห่งธุรกิจแชโบลตกบัลลังก์ บทเรียนสำคัญที่ธุรกิจไทยต้องจับตาAfter 20 years of studying and exams, South Korea’s smartest graduates struggle to find a job - cr. QUARTZ

เมื่อข้อมูลหลายแหล่งชี้ให้เห็นถึงยุคที่คนรุ่นใหม่ปฏิเสธค่านิยมเดิม เกิดอะไรขึ้น?

การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมและการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ Samsung รั้งอันดับ 5 ใน 100 Best Global Brands สองปีติดต่อกัน ติดอันดับ 1 Top Companies จากเว็บไซต์จัดหางาน Glassdoor ต่อเนื่อง แต่ที่น่าสนใจคือการจัดอันดับจาก Forbes ในหมวดหมู่ Best Employers for New Grads นั้น Samsung กลับตกมาอยู่ในลำดับที่ 233 ในปีนี้  

  • ข้อสังเกตที่น่าสนใจนี้ทำให้ลองกลับมาดูในฝั่งของการจัดอันดับภายในประเทศพบว่ายักษ์ใหญ่อย่าง Samsung กลับไม่ใช่บริษัทที่บัณฑิตจากเกาหลีอยากเข้ามากที่สุด

ทีมนักข่าวชาวเกาหลีประจำ Bloomberg ได้นำเสนอถึงหัวข้อน่าสนใจเกี่ยวกับความสนใจของเยาวชนเกาหลีใต้รุ่นใหม่ที่ไม่ได้สนใจเข้าทำงานองค์กรขนาดใหญ่อย่าง Samsung หรือ Hyundai อีกต่อไป  

การสำรวจของ JOBKOREA พบว่า นักศึกษาในปัจจุบันที่กำลังจะเรียนจบให้ความเห็นที่เกี่ยวกับความเบื่อหน่ายในวัฒนธรรมการทำงานที่เข้มงวด แม้แต่เยาวชนรุ่นใหม่ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำและสามารถเข้าทำงานในกลุ่มแชโบลได้ก็มีแนวโน้มที่จะพยายามทำตามความคาดหวังของสังคมน้อยลง หลีกเลี่ยงการวัดผลความสำเร็จแบบเดิมๆ ของสังคม และหันมาสนใจอาชีพอื่น ๆ มากขึ้น เช่น ดารา นักแสดง นักกีฬา ครูในโรงเรียน แพทย์ พ่อครัว อินฟลูเอนเซอร์ ยูทูปเบอร์ การร่วมงานกับบริษัทหรือสตาร์ทอัพต่างประเทศ หนุ่มสาวชาวเกาหลีบางคนก็ย้ายออกนอกเมือง เพื่อทำการเกษตรหรือหางานทำในต่างประเทศ คนเกาหลีเกือบ 5,800 คนเดินทางไปต่างประเทศเพื่อหางานทำในปีที่แล้วโดยใช้โปรแกรมเงินอุดหนุนจากรัฐบาล มากกว่าสามเท่าจากปี 2013 หลีกเลี่ยงการวัดผลความสำเร็จแบบเดิมๆ ของสังคม

1) กระบวนการคัดสรรที่เข้มข้นกลับกีดกันแรงงานจำนวนมาก  

สำหรับเยาวชนเกาหลีใต้ นอกจากต้องสอบเพื่อจบการศึกษาในแต่ละเทอมแล้วนั้น ยังต้องผ่านการสอบแข่งขันอีกสนามเพื่อเข้าทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศ สำหรับ Samsung จะมีการเปิดรับสมัครสอบสองครั้งต่อปี และคัดเลือกเพียง 5,500 คนจาก 100,000 คน ผู้ที่สนใจจำเป็นต้องทำการสอบคัดเลือกที่ไม่ต่างจากการเรียนและสอบในสถาบันศึกษาไม่ใช่แค่เพียงยื่นใบสมัครตามตำแหน่งที่เรามีความสนใจ 

กระบวนการแข่งขันเพื่อเข้าทำงาน ทำให้บริษัทได้เลือกสรรคนเก่ง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการจำกัดเยาวชนอีกจำนวนมาก หนำซ้ำยังสร้างความตึงเครียดให้หนุ่มสาวในประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายของเยาวชนเกาหลีใต้พุ่งสูงขึ้นอีกด้วย ครั้งหนึ่ง Samsung เคยประกาศเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันจากการสอบเป็นระบบแนะนำจากมหาวิทยาลัยอันดับต้นในประเทศแทน ทำให้เกิดความโกลาหลระดับชาติ เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ของนักศึกษา

เยาวชนรุ่นใหม่ต้องเผชิญกับวิกฤตการตกงานที่ต่อเนื่องหลายปี โดยเยาวชนประมาณร้อยละ 11.3 ที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 29 ปีตกงานหรือเกือบสามเท่าของอัตราการว่างงานโดยรวม มีอัตราตกงานสูงเป็นประวัติการณ์ จนประเด็นดังกล่าวกลายเป็นความท้าทายหลักของรัฐบาลเกาหลีใต้ และหากลงลึกให้มากกว่านั้น จะพบว่าตัวเลขข้อมูลของรัฐบาลได้ระบุถึง ผู้ว่าจ้างที่เป็นภาคธุรกิจขนาดเล็กของเกาหลีใต้ กลับเป็นผู้จ้างงานคนถึง 6.6 ล้านคน หรือประมาณ 27.5% ของกำลังแรงงานของประเทศ โดยที่ในจำนวนนี้มีประมาณ 1.7 ล้านคน เป็นพวกที่อยู่ในกลุ่ม 20% ผู้มีรายได้ต่ำที่สุดของสังคม นั่นแปลว่า ประชากรส่วนใหญ่ในเกาหลีไม่ได้ทำงานและได้รับรายได้จากกลุ่มบริษัทแชโบล แสดงให้เห็นว่าคนที่สามารถเข้าทำงานในบริษัทใหญ่ได้จริงมีเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น 

2) The Chaebol’s Culture ระบบลำดับชั้นอาวุโสและวัฒนธรรมการทำงานที่เข้มงวด

วัฒนธรรมเกาหลีใต้มีโครงสร้างของตำแหน่งงานแบบลำดับชั้นที่ชัดเจน (Top-down, Hierarchical Corporate Culture) ผู้ที่มีความอาวุโสคือผู้ที่มีสิทธิ์มีเสียงทำให้ในบางครั้งสำหรับสมาชิกในทีมที่ความคิดเห็นของน้องใหม่จะไม่มีน้ำหนักในที่ประชุม ไม่สามารถแสดงการปฏิเสธกับผู้ที่มีความอาวุโสมากกว่าได้ และในบางครั้งที่มักจะเจอกับคำพูดที่ไม่ดีเพียงเพราะการเป็นน้องใหม่ของทีม กระบวนการตัดสินใจแบบรวมศูนย์ทำให้เด็กรุ่นใหม่ ๆ รู้สึกถูกกีดกัน 

นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องกฎเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจนในเรื่องการทำงานล่วงเวลา ซึ่งเป็นไปในเชิงที่ไม่มีทางเลือกให้กับพนักงานมากนัก พนักงานอาจได้รับมอบหมายงานเร่งด่วนที่ต้องทำในช่วงสุดท้ายของวันในบางครั้ง นอกจากนี้การออกจากที่ทำงานก่อนหัวหน้างานคือสิ่งต้องห้าม ซึ่งหมายความว่าคนเกาหลีมักทำงานเป็นเวลานานกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาการทำงาน และอาจไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ ปัญหานี้ทำให้พนักงานจำนวนมากที่เข้าทำงานไม่ค่อยเต็มใจที่จะยอมรับชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานและจำนวนมากลาออกจากบริษัทที่หลายคนอยากเข้าและหมดไฟ เพราะไม่เห็นโอกาสในการเลื่อนตำแหน่ง 

            “ Pure Blood Culture ”

วัฒนธรรมที่เข้มงวดและการทำงานล่วงเวลามักเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรแชโบลดั้งเดิมเช่น Samsung โดยเชื่อกันว่าการให้ความสำคัญกับความภักดีต่อกฏระเบียบของบริษัทต่างๆ ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจเหล่านี้ในขณะที่ประเทศฟื้นตัวจากสงครามเกาหลีและมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนประเทศจากการทำเกษตรกรรมที่ยากจนในช่วงทศวรรษ 1950 ให้กลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก Lotte Group เป็นอีกองค์กรที่ขึ้นชื่อเรื่องวัฒนธรรมสุดขั้ว โดยมีการยึดมั่นในสิ่งที่เรียกว่า "วัฒนธรรมเลือดบริสุทธิ์" ซึ่งจะส่งเสริมพนักงานโดยพิจารณาจากความภักดีของพนักงาน ทำให้พนักงานระดับกลางและล่างไม่สามารถเลื่อนตำแหน่งสู่ตำแหน่งที่ใหญ่กว่าได้เท่าผู้อาวุโสที่อยู่มานานก่อนตน

ทำไม Samsung ไม่ใช่บริษัทในฝันของ Gen-Z อีกต่อไป : เมื่อเจ้าแห่งธุรกิจแชโบลตกบัลลังก์ บทเรียนสำคัญที่ธุรกิจไทยต้องจับตาKOREAN ONLINE GIANTS - cr. THE KOREA ECONOMIC DAILY

3) ยุคทองของบริษัทเทคฯ สมัยใหม่ที่ยืดหยุ่นกว่า

เดิมที Samsung เคยครองอันดับหนึ่งในปี 2019 แต่ในช่วงสองปีที่ผ่านมาโพลจากหลายสำนัก เช่น JOBKOREA , Incruit รวบรวมความเห็นจากนักศึกษาปี 4 ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ถึงบริษัทที่อยากเข้าทำงานมากที่สุด ซึ่งบริษัทที่ป๊อปในหมู่คนรุ่นใหม่มากที่สุดกลับตกเป็นของ “Kakao” ผู้ผลิต Kakao Talk แอพลิเคชันแชทที่คนเกาหลีนิยมใช้มากที่สุด ตามด้วย “Naver” หรือบริษัทแม่ของแอพลิเคชัน Line ที่เราคุ้นเคย

การใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้นในเกาหลีใต้ทำให้บริษัทอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียได้รับความนิยมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะบริษัทเกมซึ่งได้รับความนิยมเป็นพิเศษในปีนี้ โดยบริษัทเหล่านี้แข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อจ้างนักพัฒนา โดย Kakao ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ทำงานที่ดีที่สุดจากนักศึกษาภาคธุรกิจและการเงิน มนุษยศาสตร์และสังคมศึกษา บันเทิงและกีฬา และ Naver อยู่ในอันดับรองลงมา และเป็นที่แน่นอนว่าสองบริษัทนี้มีรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นและทันสมัยกว่าบริษัทอย่าง Samsung

ล่าสุด Kakao ได้ประกาศระบบการทำงานใหม่ที่เพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานเพื่อรักษาคนเก่งในบริษัทเอาไว้ โดยมีรายละเอียดถึงการปรับให้มีการทำงานเพียง 4 วันต่อสัปดาห์และหยุดทุกวันศุกร์ และสามารถเลือกทำงานจากที่ไหนก็ได้ ในส่วนของ Naver ให้ทางเลือกกับพนักงานในการทำงานเต็มเวลาแต่เลือกได้ว่าจะทำจากที่ไหนก็ได้ หรือจะเข้าออฟฟิศ 3 วันต่อสัปดาห์ โดยเรียกว่าโปรแกรม “Connect Work” นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมสำหรับพนักงานที่อยู่ไกลจะสามารถเลือกทำงานจากสำนักงานที่ใช้ร่วมกันในจังหวัดต่าง ๆ ที่ใกล้ตนได้ 

การปรับตัวของแชโบล : เรียกชื่อแทนตำแหน่ง ขึ้นเงินเดือน เพิ่มโบนัส

Heejin Kim, Sohee Kim, และ Sangmi Cha เล่าว่า ผู้บริหารยุคใหม่ในเครือแชโบลเริ่มตระหนักว่า วัฒนธรรมของแชโบลในการเคารพผู้อาวุโสถูกมองว่าเป็นปัญหาและขัดขวางนวัตกรรมและการตัดสินใจที่ดี ทำให้เริ่มปรับตัวให้ยืดหยุ่นมากขึ้นเช่นเดียวกัน 

พนักงานได้รับการสนับสนุนให้พูดคุยกันโดยใช้ชื่อมากกว่าตำแหน่งงาน โดยเป็นกระแสอยู่ช่วงหนึ่งในเกาหลีใต้ “Just call me JH” อยู่ช่วงหนึ่งเมื่อ Han Jong-hee CO-CEO,Samsung Electronics ผู้บริหารวัย 60 ปีกล่าวกับกลุ่มพนักงานที่เข้าร่วมงานประชุมบริษัท ยังมีข่าวว่าจะมีการประกาศการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมในปีหน้า เนื่องจาก Jay Y. Lee ผู้นำวัย 53 ปีของบริษัทจะถูกปล่อยตัวเมื่อปีที่แล้วหลังจากติดคุกในข้อหาการทุจริตและติดสินบน กลับมามีบทบาทในที่สาธารณะมากขึ้น ทำให้ต้องทำการปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กรและกำกับกลยุทธ์ของกลุ่มบริษัทใหม่  

Hyundai และ Lotte Group ทบทวนการยกเลิกการสอบประวัติภูมิหลังของครอบครัวผู้สมัครงาน จากเดิมที่การจ้างงานโดยอาศัยสายสัมพันธ์ในครอบครัวนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อหล่อเลี้ยงความภักดีและความสามัคคี ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกวิพาก์วิจารณ์อย่างหนักว่านำไปสู่การกีดกันคนมีความสามารถ ส่งเสริมการจ้างงานผู้หญิงมากขึ้น ส่งเสริมการสรรหาคนเก่งจากภายนอกมากขึ้น 

ในส่วน Euisun Chung Executive Chairman, Hyundai Motor Group ซึ่งเป็นหลานชายของผู้ก่อตั้งมีการพบปะกับพนักงานระดับล่างเป็นประจำ และ ซึ่งก่อนหน้านี้ Hyundai เป็นอีกที่หนึ่งที่ขึ้นชื่อว่ามีวัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมสุดขั้วและสุดโต่ง ทางด้าน Samsung และ SK Hynix เริ่มจ่ายโบนัสประจำปีที่สูงเป็นประวัติการณ์ โดยพนักงานบางคนได้รับเงินถึง 100% ของเงินเดือนประจำปี เพื่อรักษาผู้มีความสามารถไว้ มีการเลื่อนตำแหน่งให้กับผู้บริหารระดับสูงจำนวนมากเพื่อกระจายอำนาจในการบริหาร

--------------

จากกรณีของเกาหลีใต้ นโยบายในระดับประเทศส่งผลเกี่ยวโยงต่อภาคส่วนเอกชนและแรงงานที่รวมถึงเหล่าบัณฑิตจบใหม่จำนวนมาก สุดท้ายแล้วประเด็นดังกล่าวต้องใช้เวลาในปรับเปลี่ยน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นลงลึกถึงโครงสร้างและค่านิยมที่เกิดขึ้นกับการคิดการตัดสินใจของคนในสังคม เป็นบทสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งหวังของหนุ่มสาวในยุคหนึ่งที่ต้องการความมั่นคงในชีวิตท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่บีบให้แข่งขัน 

จะเห็นว่าประเด็นที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่กำลังพบเห็นกับหนุ่มสาวทั่วโลกเช่นเดียวกับประเทศไทยบ้านเรา โดยเฉพาะประเทศที่นโยบายหรือโครงสร้างเศรษฐกิจไม่สามารถรองรับแรงงานได้อย่างเหมาะสม หลายประเทศจะพบปัญหาความต้องการแรงงานในภาคธุรกิจที่ไม่สอดคล้องกับแรงงานจริง บัณฑิตจบมาแต่หางานทำไม่ได้ โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ชนชั้นกลางค่อนไปทางล่างอาจไม่ได้มีทางเลือกมากนักบริษัทใหญ่จำนวนมากต้องรับมือกับอัตรา Turnover Rate ที่สูง ถึงแม้จะให้เงินเดือนและโบนัสจำนวนมาก เพราะไม่สามารถรักษาคนรุ่นใหม่ไว้ได้ 

ผู้เขียนมองว่า  การสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดแข่งขันอย่างเท่าเทียมกันจากทุกภาคส่วนจะช่วยผลักดันบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กให้เติบโตได้ในระยะหนึ่งเท่านั้น แต่พื้นที่ตรงนั้นไม่ได้กว้างพอสำหรับรองรับตลาดแรงงานในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี 

หรือแม้แต่กระบวนการสมัครงานไม่ว่าจะข้าราชการหรือหน่วยงานต่าง ๆ กำลังกีดกันผู้มีความสามารถอยู่ไม่ เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามสำคัญที่ทุกภาคส่วนควรฉุกคิด เพราะเยาวชนรุ่นใหม่คือรากฐานสำคัญที่จะขับเคลื่อนไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจของบริษัทใดบริษัทหนึ่งแต่หมายถึงคุณภาพชีวิตของพวกเขาซึ่งสะท้อนศักยภาพโดยรวมของประเทศต่อไปในอนาคต 



อ้างอิง

Gen Z's Workplace Demands Force Corporate Korea to Loosen Up

In the Republic of Samsung, here’s the ticket to the good life 

South Korean Youth Struggle To Find Jobs After Years Of Studying For Tests

South Koreans cram for dream jobs at Samsung

Koreans React to Record High Youth Unemployment Rate 

Dream Companies Koreans Want To Work At

Meet the company: Samsung named best global employer 2021

Kakao top workplace choice for jobseekers, Naver third after Samsung Elec

South Korea’s Chaebol

Korean Work Culture – Things to know about jobs in the South


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

งานไม่เคยจบในที่ทำงาน ตามกลับมาบ้านด้วยเสมอ ปัญหาของชาว Hybrid Working ต้องแก้ยังไง?

บทความนี้ Techsauce จึงได้รวบรวม How to ทิ้งงานไว้ที่ออฟฟิศ และทวงคืนชีวิตที่มีคุณภาพของชาว Hybrid Working...

Responsive image

True เดินหน้าปั้นผู้นำรุ่นใหม่ 'True Next Gen' ตั้งเป้าเป็น Telco-Tech ชั้นนำในภูมิภาค สู่ Automation 100%

ทรู คอร์ปอเรชั่น เผยเชื่อมั่นศักยภาพของ 'คนรุ่นใหม่' ร่วมเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ Telecom Tech Company ชั้นนำแห่งภูมิภาค พร้อมปรับการทำงานเป็นระบบอัตโนมัติ 100% ปี 2570...

Responsive image

ทำยังไง ถ้าไม่ได้เป็น ‘ลูกรัก’ เจ้านาย

‘ระบบลูกรัก’ ที่ฝังรากลึกในองค์กร เป็นอีกหนึ่งปัญหาช้างในห้อง (Elephant In The Room) ปัญหาใหญ่ที่คนส่วนใหญ่รับรู้ แต่ไม่มีใครอยากพูดถึง หรือพูดไม่ได้ ทำยังไงดี...