ใครเคยได้ยินคำว่า One Bad Apple Effect บ้าง ? เค้าว่าปลาเน่าตัวเดียวทำเหม็นไปทั้งข้อง คนไม่ดีคนเดียวอาจทำเสียทั้งหมู่คณะ ในองค์กรก็มีเช่นกัน แล้วบริษัทจะจัดการยังไง ?
One Bad Apple Effect ก็คือคนเพียงคนเดียวที่สร้างปัญหาและทำให้เกิดผลเสียต่อคนทั้งกลุ่ม ก็เหมือนในสุภาษิตไทยที่ว่า ปลาเน่าตัวเดียวทำเหม็นไปทั้งข้อง และเป็นอีกปัญหาที่จะทำลายวัฒนธรรมที่ดีและพนักงานที่ดีขององค์กร
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันได้ทำการศึกษาทีมที่ทำงานร่วมกันกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 50 ทีมจากหลายอุตสาหกรรม พบว่าทีมที่มีสมาชิกที่ไม่เป็นมิตรและไม่มีความรับผิดชอบเพียงคนเดียว มีแนวโน้มจะทำให้ทุกคนขัดแย้งกัน การสื่อสารภายในทีมแย่ และจะไม่ให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน
แม้แต่คนที่ดีมากก็อาจเปลี่ยนเป็นคนไม่ดีได้ จากวิจัยโดย Stephen Dimmock และ William C. Gerken ที่เผยแพร่ใน Harvard Business Review พบว่า แม้แต่พนักงานที่ซื่อสัตย์ที่สุด ก็มีแนวโน้มจะทำเรื่องเสื่อมเสีย ถ้าเขาทำงานใกล้ชิดกับพนักงานไม่ดีเพียงคนเดียว
ก่อนจะจัดการปัญหานี้ เราต้องรู้ก่อนว่าแล้วพฤติกรรมเชิงลบนั้นถูกส่งต่อกันได้อย่างไร เพราะนี่ไม่ใช่โรคที่ติดต่อกันได้ง่ายๆ
งานวิจัยดังกล่าวพยายามหาคำตอบนี้ด้วยการวิเคราะห์พฤติกรรมอาชีพของที่ปรึกษาทางการเงิน โดยโฟกัสที่การควบรวมกิจการระหว่างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ที่แต่ละแห่งมีหลายสาขา เพราะในการควบรวมกิจการเหล่านี้ ที่ปรึกษาทางการเงินจะได้พบกับเพื่อนร่วมงานใหม่จากสาขาใดสาขาหนึ่งของบริษัทอื่น ทำให้พวกเขาได้รับแนวคิดและพฤติกรรมใหม่ๆ
ผลวิจัยชี้ว่า ที่ปรึกษาทางการเงินมีแนวโน้มที่จะประพฤติมิชอบมากขึ้น 37% หากพบเพื่อนร่วมงานใหม่ที่มีประวัติทุจริต และโดยเฉลี่ยแล้ว การทุจริต 1 เคส จะส่งผลให้เกิดการทุจริตเพิ่มอีก 0.59 เคส ด้วยผลกระทบจากเพื่อนร่วมงานนั่นเอง
ปัจจัยก็มาจากการที่พนักงานแต่ละคนเรียนรู้พฤติกรรมหรือบรรทัดฐานทางสังคมจากกันและกัน และเผชิญกับสิ่งจูงใจแบบเดียวกัน หรือเพราะคนแบบเดียวกันมักเลือกจะทำงานด้วยกัน และจะยิ่งมีพฤติกรรมรุนแรงขึ้นหากใกล้ชิดกับคนทุจริตที่มีเชื้อชาติเดียวกันด้วย (กรณีนี้ผลกระทบจะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า)
แล้วเราจะจัดการคนแบบนี้ยังไง ? วิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันพบว่ามีสามทางออก สองทางแรกได้แก่ การขอให้คนที่มีปัญหาเปลี่ยนพฤติกรรม และถ้ายังแก้ไม่ได้อาจนำไปสู่วิธีที่สองคือ ตัดเขาออกไปซะ (ไล่ออกหรือย้ายออกไปจากทีม)
ซึ่งมันพูดง่ายแต่ทำยากมากๆ อาจเป็นเพราะข้อจำกัดของบางองค์กร เช่น ขาดกระบวนการที่ดี หรือผู้บริหารระดับสูงไม่มีอำนาจหรือประสิทธิภาพพอจะจัดการปัญหา (หรืออาจเป็นเพราะคนที่มีปัญหาเป็นคนสำคัญของบริษัท เช่น มีความอาวุโสหรือมีความสามารถ)
และหากสองวิธีข้างต้นแก้ไขไม่ได้ พนักงานที่ได้รับผลกระทบแย่ๆ นี้จะเลือกวิธีปกป้องตัวเอง ด้วยการแยกตัวออกจากทีมทั้งทางกายและใจ พร้อมด้วยความรู้สึกโกรธ วิตกกังวล และไม่เหลือความไว้ใจให้เพื่อนร่วมงาน
สำหรับหัวหน้างานหรือเจ้าของบริษัท เป็นเรื่องสำคัญที่คุณต้องพยายามทำความเข้าใจและตระหนักว่าพฤติกรรมไม่ดีของพนักงานเพียงคนเดียว อาจถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ อย่างง่ายดายและอาจทำลายวัฒนธรรมองค์กรที่คุณพยายามสร้าง
การสร้างทีมที่ดีต้องเริ่มตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกพนักงาน อาจใช้แบบทดสอบบุคลิกภาพที่สะท้อนความมั่นคงทางจิตใจ และทักษะทางสังคม นอกจากนั้นต้องมีกระบวนการจัดการปัญหาที่ชัดเจน ท้ายที่สุดคุณอาจต้องยอมเสียพนักงาน Toxic คนนี้ไป แม้เขาจะเป็นคนเก่งหรืออาวุโสเพียงไดก็ตาม เพื่อรักษาทีมไว้
อ้างอิง : Harvard Business Review , Washington.edu
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด