ไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมครั้งสำคัญ APEC 2022 และ APEC CEO SUMMIT ในปีนี้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการสนับสนุนโอกาสด้านการค้าและการลงทุนในทุกมิติ เพื่อฟื้นฟูประเทศอย่างปลอดภัย โดยต้องเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืนและดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเด็นดังกล่าวได้กลายเป็นวาระแห่งชาติของไทยเรา ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมรูปแบบใหม่ที่ได้กลายเป็นยุทธศาสตร์ประเทศ ที่เรียกว่า "BCG Economy Model" โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจที่จะเป็นกรอบทิศทางสำหรับการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
BCG คือ โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 ด้านไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้เต็มประสิทธิภาพ ควบคู่ไปใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่าเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ได้อย่างสมดุล มั่นคงและยั่งยืน
การพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model ใช้ข้อได้เปรียบที่ไทยมีจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมป็นฐานสำคัญในการแข่งขัน บวกกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม เช่น เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงหรือนวัตกรรม
ยกระดับมูลค่าของห่วงโซ่การผลิตให้เกิดการก้าวกระโดด ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นเจ้าของสินค้าและบริการมูลค่าสูง (Value-Based Economy) เกิดการกระจายรายได้และโอกาสแบบทั่วถึง (Inclusive Growth) รวมถึงการรักษสมดุลเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน (Green Growth)
เรามีการลงทุนและใช้งานทรัพยากรจำนวนมากเพื่อตอบรับทุกการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่อาจเป็นโอกาสของประเทศ แต่ความเป็นจริงกลับกลายเป็นว่า เราไม่สามารถสร้างมูลค่าให้กับทรัพยากรได้อย่างเต็มศักภาพ เศรษฐกิจของไทยมักจะพึ่งพาปัจจัยภายนอก และเมื่อได้รับผลกระทบจึงยากต่อการฟื้นฟูได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรที่ต่อเนื่องยังคุณภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม ล้วนเป็นผลกระทบจากการพัฒนาและการเติบโตของเศรษฐกิจที่รวดเร็ว และไม่สร้างความยั่งยืน
ในรอบ 10 ปีมานี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยมีค่าเฉลี่ยเพียง 3% ต่อปี และด้วยอัตราการเติบโตดังกล่าวทำให้เราไม่อาจก้าวข้าม “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” ได้ จึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่เลือกโฟกัสจุดสำคัญ ให้น้ำหนักกับข้อได้เปรียบและ สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของบ้านเรา
BCG Model ดำเนินการภายใต้นโยบายของรัฐบาลไทยตามแผนการปฏิบัติด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างน้อย 5 เป้าหมาย ได้แก่ การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลาย ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การลดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งยังสอดรับกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย
ปัจจุบัน สอวช.รายงานว่า มูลค่าเศรษฐกิจ BCG เพิ่มขึ้นจาก 3.4 ล้านล้านบาทในปี 2562 เป็น 4.4 ล้านล้านบาทในปี 2565 สร้าง Value creation ให้กับประเทศอย่างมีเสถียรภาพ ขยายโอกาสทางการค้าในเวทีโลก
BCG Model จะเป็นฐานเศรษฐกิจหลักของประเทศที่สร้างมูลค่ากว่า 4.4 ล้านล้านบาท GDP เพิ่มขึ้นถึง 24% ใน 5 ปีข้างหน้า สร้างงานใหม่หลายล้านตำแหน่ง เกิดการจ้างงาน 16.5 ล้านคน และเพิ่มระดับรายได้ของแรงงานในอุตสาหกรรม BCG เพิ่มรายได้แก่ชุมชนผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถดึงเอาศักยภาพพื้นที่ออกมาได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรตลอดห่วงโซ่คุณค่า ลดปริมาณของเสียจากระบบ เพื่อรักษาฐานทรัพยากรของประเทศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เป็นพื้นฐานสำคัญที่สอดคล้องต่อธีมของงานประชุม เพื่อสร้างหลักการในการยึดถือเพื่อตอบโจทย์การฟื้นฟูประเทศอย่างยั่งยืนและมุ่งผลักดันการ “สร้างความสมดุลในทุกด้าน” โดยนำแผนงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเอเปคมาบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของภูมิภาคในระยะยาว ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์จากการนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG แลกเปลี่ยนในที่ประชุมเพื่อขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนในภูมิภาค และในทางกลับกัน ไทยจะได้เรียนรู้ประสบการณ์โดยตรงจากเพื่อนสมาชิกด้านการส่งเสริมการค้าการลงทุนที่เปิดกว้างโดยการเจรจาการค้าเสรีเช่นเดียวกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
APEC CEO SUMMIT 2022
แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด