เจาะครึ่งปีแรก 2022 บิ๊กเทคฯ กำไรลด ปรับโมเดลธุรกิจ เผชิญ Tiktok คู่แข่งร่วมอันดับหนึ่ง | Techsauce

เจาะครึ่งปีแรก 2022 บิ๊กเทคฯ กำไรลด ปรับโมเดลธุรกิจ เผชิญ Tiktok คู่แข่งร่วมอันดับหนึ่ง

เหล่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ได้เผยแพร่ผลประกอบการรายไตรมาสสู่สาธารณะอย่างพร้อมเพรียงกันในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่คาดการณ์กันว่าไตรมาสนี้หลายบริษัทล้วนมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก ด้วยปัจจัยใหญ่จากภายนอกที่อยู่เหนือการควบคุมทั้งสงคราม วิกฤตการค้าและเศรษฐกิจซ้ำซ้อนต่อเนื่อง และนอกจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจแล้ว การก้าวขึ้นมาของคู่แข่งคนสำคัญอย่าง Tiktok ได้สร้างแรงเสียดทานมหาศาลแก่บิ๊กเทคฯ ในไตรมาสนี้ กระตุ้นให้หลายเจ้าต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อดึงดูดผู้ใช้งานของตนเองไว้ให้ได้มากที่สุด 

เจาะครึ่งปีแรก 2022 บิ๊กเทคฯ กำไรลด ปรับโมเดลธุรกิจ เผชิญ Tiktok คู่แข่งร่วมอันดับหนึ่ง

ผ่านมาครึ่งปีใครบ้างที่รับศึกหนักหน่วง

  • Alphabet และในเครือ (Google-Youtube) 

สำหรับบริษัทแม่ Alphabet ในไตรมาสนี้รายได้ชะลอตัวลง 13% รายได้สุทธิอยู่ที่ 69.69 พันล้านดอลลาร์ โดยเป็นรายได้จาก Google Advertising มากที่สุด 56.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 12% ซึ่งรายได้จาก Google Cloud อยู่ที่ 6.28 พันล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าที่คาดหมาย ขาดทุน 858 ล้านดอลลาร์ โดยที่ผ่านมานั้นต้องแย่งส่วนแบ่งจาก Amazon Web Services และ Microsoft Azure ซึ่งเป็นผู้เล่นอันดับสองในตลาด ซึ่งในฝั่ง Microsoft ที่พึ่งประกาศรายรับจาก Azure และบริการคลาวด์อื่น ๆ โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 40% เรียกได้ว่าทำ Goole Cloud กังวลไม่ใช่น้อย นอกจากนี้รายรับในธุรกิจอื่น ๆ Waymo ธุรกิจรถยนต์ Self-Driving Car รวมถึงโครงการเทคโนโลยีด้านสุขภาพและกองทุนต่าง ๆ จากเดิมที่มีรายรับเพิ่มขึ้น 1 ล้านดอลลาร์จากปีก่อนหน้าเป็น 193 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในช่วงไตรมาสนี้ ขาดทุน 1.69 พันล้านดอลลาร์

ในส่วนของรายได้โฆษณาบน Youtube อยู่ที่ 7.34 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเพียง 5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ถือเป็นการเติบโตในระดับที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2019 โดยตลอดช่วงการแพร่ระบาด YouTube Google ได้รับประโยชน์จากการบริโภควิดีโอที่เพิ่มขึ้นของผู้คนที่พยายามหาความบันเทิงในช่วงล็อกดาวน์ แต่กลับเป็นว่าจำนวนการเข้าใช้งานที่เพิ่มขึ้นในช่วงล็อคดาวน์กลายเป็นความท้าทาย เพราะเมื่อสถานการณ์เบาบางลง ผู้ใช้งานมีการถอนการใช้จ่ายแบบพรีเมียมเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งนำไปสู่การถอนโฆษณาของธุรกิจ  

  • Meta (Facebook) 

อีกหนึ่งบริษัทที่นักลงทุนจับตามองอย่างใกล้ชิด ด้วยความที่ Meta สูญเสียมูลค่าตลาดมหาศาลท่ามกลางการรีแบรนด์และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ ในไตรมาสนี้ Meta มีรายได้ลดลงเป็นครั้งแรก โดยมีรายได้สุทธิอยู่ที่ 28.82 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 1% จากปีก่อนหน้า กำไรสุทธิลดลง 36% อยู่ที่ 6.69 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ใช้งาน (DAUs) มีจำนวนเพิ่มขึ้น 3% เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 1.97 พันล้านคนในเดือนมิถุนายน 2022 เมื่อเทียบเป็นรายปี ประมาณ 8 ล้านราย ผู้ใช้งานรายเดือน (MAU) อยู่ที่ 2.93 พันล้านคนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า  

ในส่วนหุ้นบริษัทลดลง 3.8% สูญเสียมูลค่าครึ่งหนึ่งตั้งแต่ต้นปี สะท้อนความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับปัญหาเรื่องโฆษณาออนไลน์ของแพลตฟอร์มที่ได้รับผลกระทบจากการอัปเดตระบบความเป็นส่วนของ Apple เมื่อปีที่แล้วเข้ามาจำกัดการติดตามข้อมูลผู้ใช้งาน ส่งผลต่อการสูญเสียรายได้สูงถึง 10 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ 

สำหรับการลงทุนใน Reality Labs ในไตรมาสนี้ ที่บริษัทยังคงเน้นการลงทุนลงแรงใน Metaverse โดยบริษัทใช้เงินไปกับการขายและทำการตลาดมากขึ้นโดยเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบเป็นรายปีสู่ 3.6 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่สอง เนื่องจากบริษัททุ่มเงินหลายพันล้านในการวิจัยและพัฒนาในด้านนี้เทคโนโลยี Virtual Reality และ Augmented Reality ทำรายได้เพียง 452 ล้านดอลลาร์ ขาดทุน 2.81 พันล้านดอลลาร์ จากเดิม 2.43 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว

Mark Zuckerberg CEO,Meta กล่าวในการพูดคุยกับนักวิเคราะห์ว่า “ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อธุรกิจโฆษณาดิจิทัล” ทำให้ทางบริษัทเตรียมปรับลดจำนวนพนักงานเตรียมรับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและคาดการณ์ถึงความกังวลไตรมาสต่อจากนี้  นอกจากนี้ยังประกาศการเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของ David Wehner ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์คนแรกของบริษัท เพื่อดูแลกลยุทธ์ของบริษัทและการพัฒนาองค์กร หลังจากการลาออกจากตำแหน่ง COO ของ Sheryl Sandberg หลังจากทำงานกับบริษัทมา 14 ปี โดยจะยังคงเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารของ Meta ในขณะเดียวกัน Susan Li ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานฝ่ายการเงิน จะได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO) แทน กล่าวได้ว่า Meta กำลังอยู่ในช่วงสับสนในการปรับโมเดลธุรกิจเป็นอย่างมาก

และใครบ้างที่ยังเป็นผู้แข็งแกร่ง

  • Microsoft 

ถึงแม้ว่า Microsoft พร้อมบริษัทในเครือทั้ง Azure และ Cloud Service จะเป็นอีกรายที่มีรายได้ลดลงจากผลกระทบด้านโฆษณาและตลาดอุปกรณ์พีซีคอมพิวเตอร์ที่มีการซื้อขายลดลงในไตรมาสนี้ โดยมีรายได้สุทธิอยู่ที่ 51.87 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 12% ถือเป็นการเติบโตที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2020 แต่ Microsoft ก็ยังถือเป็นผู้ที่ไม่เจ็บหนักในสนามนี้ ด้วยหน่วยธุรกิจในพอร์ทโฟลิโอที่หลากหลายช่วยกระจายความเสี่ยงต่อรายรับของบริษัท โดย บริการหลัก Intelligent Cloud ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เซิร์ฟเวอร์และบริการคลาวด์ Azure Public Cloud , Windows OEM , Windows Commercial , SQL Server, Windows Server สร้างรายได้ถึง 20.91 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึง 20%  

รายได้จากธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ Office Commercial และบริการคลาวด์เพิ่มขึ้น 9% โดยมีรายได้จาก Office 365 Commercial 15% รายได้จากผลิตภัณฑ์ Office Consumer และบริการคลาวด์เพิ่มขึ้น 9% สมาชิก Microsoft 365 Consumer เพิ่มขึ้นเป็น 59.7 ล้านคน กลุ่ม More Personal Computing ระบบปฏิบัติการ Windows, คอนโซลวิดีโอเกม Xbox, Bing และอุปกรณ์ Surface ทำรายได้ถึง 14.36 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบเป็นรายปี รายได้จาก LinkedIn ที่เพิ่มขึ้นถึง 26%  

นักวิเคราะห์ ให้ความเห็นว่า บริษัทมีความได้เปรียบเพราะเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนการทำงานระดับองค์กรมีแนวโน้มที่ดีในวงกว้างหลังจากนี้ โดยคาดว่ากลุ่มธุรกิจ Productivity, Intelligent Cloud และ Personal Computing จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องปีต่อปี

  • Apple 

Apple หนึ่งในผู้ที่ทำรายได้ค่อนข้างแข็งแกร่งในไตรมาสนี้ ฟันยอดขายและกำไรรายไตรมาสนี้อยู่ที่ 83 พันล้านดอลลาร์ ถึงแม้จะต่ำกว่าไตรมาสที่แล้วจากเดิม 27% อยู่ที่ 19.6 พันล้านดอลลาร์ แต่ผลิตภัณฑ์ iPhone ยังคงเป็นผลิตภัณฑ์เรือธงที่ทำรายได้หลักให้บริษัท จาก 39.5 พันล้านดอลลาร์ เป็น 40.7 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเวลาเดียวกัน ถือเป็นผู้เล่นที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าคู่แข่งจำนวนมากในตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลก นอกจากนี้ Mac, iPad , Wearables และอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน ก็ได้รับความนิยมในไตรมาสนี้เช่นเดียวกัน 

ในส่วนธุรกิจ Paid Subscriptions หรือการสมัครรับข้อมูลบนแพลตฟอร์มของ Apple จากบริการ App Store, Apple TV+, Apple Music, บริการคลาวด์ และอื่นๆ มีจำนวนอยู่ที่ 860 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจาก 825 ล้านที่รายงานในไตรมาสก่อน ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

Luca Maestri CFO ของ Apple กล่าวว่า ฐานอุปกรณ์ที่พร้อมใช้งานในภูมิภาคต่าง ๆ เติบโตอมากเป็นประวัติการณ์ มีลูกค้ามีการชำระเงินผ่านธุรกรรมมากขึ้นในการทำธุรกรรมและบัญชีที่มีการสมัครสมาชิกแบบชำระเงิน นักวิเคราะห์หลายรายระบุว่า ยอดขายของ Apple ยังคงแข็งแกร่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลูกค้าเป็นกลุ่มที่มีฐานะค่อนข้างดีและเชื่อมั่นในแบรนด์ นอกจากนี้ Apple ยังมีปริมาณเงินสดคงเหลือที่แข็งแกร่ง ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ กล่าวได้ว่า Apple ยังเป็นผู้ที่แข็งแกร่งและสามารถรับมือความผันผวนของเศรษฐกิจได้ดีกว่าบริษัทอื่นๆ ในช่วงเวลานี้ 

  • Amazon

สำหรับ Amazon ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซมีผลประกอบการเพิ่มขึ้นถึง 7% เป็น 1.2 แสนล้านดอลลาร์ จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วและสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ นับเป็นไตรมาสที่สามารถทำยอดเป็นบวกได้เป็นที่น่าพอใจซึ่งสวนทางกับแนวโน้มขาลงของบริษัทเทคโนโลยีส่วนใหญ่  

Amazon ได้รับแรงหนุนจากธุรกิจคลาวด์ Amazon Web Services (AWS) เป็นกุญแจสำคัญของบริษัท โดยกำไรถึง 5.7 พันล้านดอลลาร์จากรายรับเกือบ 20 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 33% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว รายได้จากธุรกิจโฆษณาอยู่ที่  8.76 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าไตรมาสหน้าจะมียอดขายสุทธิระหว่าง 125 พันล้านดอลลาร์ถึง 130 พันล้านดอลลาร์อีกด้วย 

นักวิเคราะห์หลายระบุว่า Amazon มีความคืบหน้าในเรื่องการคุมต้นทุนซึ่งเป็นปัญหาสำหรับบริษัทในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา บริษัทต้องเจอค่าใช้จ่ายสูงในการจัดการแรงงาน Supply chain พลังงาน และการขนส่ง รวมถึงผลจากโควิด-19 ขณะเดียวกัน การเติบโตของรายได้ได้อย่างแข็งแกร่งของ Amazon ส่วนหนึ่งมาจากการกระจายการลงทุน เเละขยับจุดยืนบริษัทให้เป็นมากกว่าการค้าปลีก โลจิสติกส์ และระบบคลาวด์เป็นหลัก โดยได้เข้าไปสู่ด้าน Healthcare มากขึ้น แถมผู้คนก็ได้เห็นประโยชน์ระยะยาวด้านนี้ด้วย 

ดูเหมือนว่า Amazon จะยังคงแข็งแกร่งแม้ในขณะที่บริษัท Big Tech อื่นๆ สะดุดท่ามกลางแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

ผลกระทบจากการหั่นงบโฆษณาออนไลน์ 

เจาะครึ่งปีแรก 2022 บิ๊กเทคฯ กำไรลด ปรับโมเดลธุรกิจ เผชิญ Tiktok คู่แข่งร่วมอันดับหนึ่งการประกาศรายได้ด้านโฆษณาจาก Twitter และ Snap Inc. ก่อนหน้านี้ได้ชี้ให้เห็นถึงการหยุดชะงักในวงกว้างสำหรับธุรกิจโฆษณา งบการซื้อสื่อทั้งหมดถูกจัดสรรลดลงในช่วงที่เศรษฐกิจหยุดกำลังเผชิญปัญหาตั้งแต่เงินเฟ้อ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่พุ่งสูงขึ้น ลดมูลค่าการขายต่างประเทศไปจนถึงปัญหาต่อเนื่องของห่วงโซ่อุปทาน ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทำให้แบรนด์ต่างๆ ระมัดระวังมากขึ้นในการจัดสรรเงินโฆษณาออนไลน์ตามแพลตฟอร์มต่างๆโดยการหั่นงบการซื้อโฆษณาออนไลน์ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ ซึ่งหลายบริษัทมีรายได้หลักที่มาจากโฆษณา

Tiktok คู่แข่งร่วมอันดับหนึ่ง

Tiktok เป็นหนึ่งในคู่แข่งที่ดีที่สุดที่เราเคยเจอมา -  Mark Zuckerberg

อีกปัจจัยหนึ่ง ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ความนิยมในหมู่ผู้ใช้งานและการเติบโตอย่างต่อเนื่องของแอพลิเคชันวิดิโอสั้น Tiktok ได้สร้างความกังวลต่อหลายแพลตฟอร์มเทคโนโลยียุคบุกเบิก จนสามารถกล่าวได้ว่า เหล่าบิ๊คเทคฯ นั้นกำลังมีคู่แข่งอันดับหนึ่งคนเดียวกันเลยก็ว่าได้ 

ด้วยเสน่ห์ของ Tiktok สามารถดึงดูดผู้ใช้งานทั่วไปที่รับชมความบันเทิง ผู้ใช้ที่เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ไปจนถึงแบรนด์ธุรกิจและนักการตลาดไปพร้อมกัน กล่าวง่ายๆ คือ Tiktok ได้เข้ามาขโมยความสนใจของผู้ใช้ แบ่งสัดส่วนการตลาดและรายได้จากผู้โฆษณาจาก Meta , Instagram , Youtube ไปนั่นเอง อ่านเพิ่มเติมได้ที่ TikTok จะมาโค่น Facebook เปิดสองเหตุผลสำคัญทำไมคนติดใจแอปนี้

ในฝั่งของ YouTube เรียกได้ว่าเป็นเจ้าแรกที่ต้องเผชิญกับถูกแบ่งสัดส่วนผู้ชมในฐานะแพลตฟอร์มวิดิโอไป  Prabhakar Raghavan รองประธานอาวุโสของ Google กล่าวว่า บริษัทพบว่าคนหนุ่มสาวเกือบ 40% หันมาใช้ TikTok หรือ Instagram ของ Facebook มากขึ้นสำหรับการค้นหาข้อมูล 

อีกรายที่ได้กระทบหนักหนีไม่พ้น Meta ที่อยู่ในช่วงกำลังเปลี่ยนผ่านในฐานะบริษัทและรักษาผู้ใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนอายุน้อย Gen Z ที่หันไปใช้ Tiktok ทำให้บริษัทจำเป็นต้องผลักดันการใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และสร้างรายได้ในขณะเดียว เช่น Reels โดยในครึ่งปีแรกอยู่ผู้คนใช้เวลาดูวิดีโอ Reels ผ่าน Facebook และ Instagram ที่สร้างขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับ TikTok เพิ่มขึ้น 30% Mark Zuckerberg อ้างว่า มีรายได้ถึง 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้สร้างรายได้เท่ากับวิดีโอสั้นแบบ Instagram Stories และฟีดข่าวหลัก และในล่าสุดที่เกิดเป็นกระแสไม่เห็นด้วยกับการประกาศของ Meta ที่จะทำปรับเปลี่ยนรูปแบบด้านต่าง ๆ ของ Facebook และ Instragram ให้มีลักษณะการใช้งานเหมือน Tiktok ซึ่งถูกคัดค้านจากผู้ใช้งานจำนวนมาก  

   —---------------------------

เดิมทีหลายบริษัทกำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูหลังจากผ่านสถานการณ์โควิด-19 มีการปรับกลยุทธ์และการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปี 2021 จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามระยะเวลาครึ่งปีนี้ ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นความท้าทายสำหรับบิ๊กเทคฯ เป็นอย่างมาก ดังที่เห็นปรากฏการณ์ที่หลายบริษัททะยอยประกาศชะลอ-เลิกจ้างครั้งใหญ่จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ Layoff แบบโดมิโน ตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้ 

การซื้อขายที่ผันผวนและการประกาศผลประกอบการในครั้งนี้ทำให้ตลาดหุ้นฝั่งเทคสั่นคลอน ทั้ง S&P 500 และ Nasdaq เดินหน้าเข้าสู่เดือนที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่มีนาคม 2020 เนื่องจากนักลงทุนไตร่ตรองถึงผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบสี่ทศวรรษและหาก Fed ยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปก็อาจทำให้เกิดการเทขายหุ้นเนื่องจากนักลงทุนจะย้ายเงินทุนไปยังพื้นที่ของตลาดที่ค่อนข้างปลอดภัยมากกว่าในช่วงที่ตลาดขยาย 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าช่วงขาลงในปัจจุบันนี้ แสดงถึงการชะลอตัวจากการเติบโตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในปีก่อนหน้าไม่ใช่เรื่องที่ร้ายแรง เพราะบริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็วเป็นผลจากพฤติกรรมผู้คนที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อทำงานและใช้ชีวิตออนไลน์ในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทั่วโลก ในตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีถูกมองว่ามีความเสี่ยง เป็นช่วงที่ท้าทายและไม่มีบริษัทเทคโนโลยีใดรอดพ้นจากแรงกดดันนี้ได้ โดยผลกระทบนั้นอาจต่อเนื่องไปยังไตรมาสต่อจากนี้ด้วยเช่นกัน 


References

Meta reports earnings, revenue miss and forecasts second straight quarter of declining sales

Meta shares slump after disappointing earnings reveal host of headwinds

Alphabet misses on earnings and revenue for second quarter

YouTube has ‘obvious math’ problem as growth slows dramatically from pandemic highs

Microsoft misses estimates but stock up 5% on rosy guidance

YouTube's quarter shows problems Meta may face: TikTok, weakening economy

Amazon shares rally after strong second quarter and guidance

3 Big Tech Stocks Reporting Today - All Expected to Grow This Quarter

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

'บ้านปู' ประกาศกลยุทธ์ใหม่ Energy Symphonics เตรียมมุ่งสู่ปี 2030 เปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยั่งยืน พร้อมเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลาย ประกาศกลยุทธ์ใหม่ 'Energy Symphonics' หรือ “เอเนอร์จี ซิมโฟนิกส์” เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสู่ปี 2030 เน้นการเปลี่ยนผ่านพลังงานอ...

Responsive image

Google เผยเศรษฐกิจดิจิทัลไทย โตอันดับ 2 ใน SEA มูลค่า 1.61 ล้านล้านบาท ขับเคลื่อนด้วยอีคอมเมิร์ซและการท่องเที่ยวเป็นหลัก

เศรษฐกิจดิจิทัลไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว คาดว่าในปี 2567 มูลค่ารวมของสินค้าดิจิทัลหรือ GMV จะเพิ่มขึ้นถึง 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.61 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566...

Responsive image

AMD ประกาศลดพนักงาน ราว 1,000 คนทั่วโลก หวังเร่งเครื่องสู่ตลาดชิป AI

AMD ผู้ผลิตชิปรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ประกาศแผนปรับโครงสร้างองค์กรครั้งสำคัญ โดยจะปลดพนักงานประมาณ 1,000 คน หรือคิดเป็น 4% ของพนักงานทั้งหมด 26,000 คนตามข้อมูลที่บริษัทยื่นต่อสำนักง...