Anurak Eco-Lodges ดึงนักท่องเที่ยวมา ‘ปลูกให้เป็นป่า’ สานต่อทำธุรกิจบนหลักการ Sustainability | Techsauce

Anurak Eco-Lodges ดึงนักท่องเที่ยวมา ‘ปลูกให้เป็นป่า’ สานต่อทำธุรกิจบนหลักการ Sustainability

Eco-Lodges (ที่พักเชิงนิเวศ) อย่าง Anurak Community Lodge ผลักดัน ‘ปลูกให้เป็นป่า’ ชวนนักท่องเที่ยวให้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศ ให้เป็นป่าดิบชื้นด้วยวิธีพรรณพืชโครงสร้างภายในปี 2566 เพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหนึ่งโครงการที่แจ้งเกิดโดย YAANA Ventures ที่ผู้ก่อตั้งต้องการสร้าง One-stop travel company ซึ่งยึดถือหลักการ Sustainability เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ มีที่มาและแนวทางเช่นไรจากคำบอกเล่าของ Willem Niemeijer ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ 

Eco-LodgesWillem Niemeijer 

เรื่องราวของ YAANA Ventures เริ่มต้นขึ้นในปี 2536 ด้วยแนวคิดของผู้ก่อตั้ง Willem Niemeijer ที่ต้องการสร้าง One-stop travel company หรือบริษัทท่องเที่ยวแบบครบวงจรสำหรับลูกค้าที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์ทางเลือกที่ไม่เหมือนใครเมื่อเดินทางมายังประเทศไทยและอินโดจีน โดยมีวิสัยทัศน์ที่ต้องการสร้างกิจการ ซึ่งยึดถือเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) เป็นแรงบันดาลใจ

เริ่มที่ Khiri Travel (บริษัท คีรี แทรเวล จำกัด) ที่ก้าวจากกิจการ Startup จนเป็นธุรกิจขนาดเล็กในเมืองไทย ในรูปแบบที่ผู้ประกอบการชาวต่างชาติร่วมมือกับผู้ประกอบการท้องถิ่น เพื่อสร้างประสบการณ์จริงที่สร้างความพึงพอใจให้กับบริษัทธุรกิจท่องเที่ยวและตัวแทนการท่องเที่ยวในยุโรปและอเมริกาเหนือ กระทั่งขณะนี้ได้ขยายธุรกิจไปยังเมียนมา อินโดนีเซีย ศรีลังกา และมัลดีฟส์อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตามก่อนจะเข้าสู่เส้นทางผู้ประกอบการในเมืองไทยนั้น Willem เล่าว่าตัวเขาเองเป็นชาวฮอลแลนด์ที่ชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นและมีโอกาสได้มาเมืองไทยเมื่อราวปี 2525 กระทั่งได้ทำงานประจำในฐานะลูกจ้างของบริษัททัวร์ที่ประเทศฮอลแลนด์ จึงทำให้เขาได้เดินทางมากยิ่งขึ้น จนมีโอกาสได้เข้ามาทำงานที่เมืองไทยและเก็บเกี่ยวประสบการณ์มากขึ้น 

กระทั่งเมื่อ 27 ปีก่อน Willem จึงตัดสินใจก่อตั้งกิจการของตัวเองขึ้นในปีที่รัฐบาลไทยประกาศนโยบาย Visit Thailand Year  และยังเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กลุ่มอินโดจีนเริ่มมีการเปิดประเทศมากขึ้น จึงเล็งเห็นว่าเป็นจังหวะเหมาะในการทำเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมระหว่างเมืองไทยกับอินโดจีน ที่ปัจจุบัน Khiri Travel ได้ขยายธุรกิจจนมี 18 สำนักงานอยู่ใน 7 ประเทศ 

หลังจากนั้น ด้วยความชื่นชอบผู้คนและสภาพภูมิประเทศของสปป.ลาว และมองว่ามีช่องทางที่จะขยายกิจการให้ไปไกลกว่าเพียงทำบริษัทท่องเที่ยว Willem จึงเริ่มบุกเบิกธุรกิจที่พักในภาคใต้ของสปป.ลาว ด้วยการเปิดให้บริการตาดฟานรีสอร์ตขึ้นที่เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก เมื่อปี 2542 ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางป่าเขาและมีน้ำตกตาดฟานที่สวยงามเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว ที่มาช่วยเติมเต็มการเป็น One-stop travel company ที่เน้นย้ำด้าน Sustainability ให้แข็งแกร่งขึ้น 

Eco-Lodges

Anurak Eco-Lodges ผลักดัน ‘ปลูกให้เป็นป่า’

ธุรกิจ Eco-Lodges หรือที่พักเชิงนิเวศ ในนาม Anurak Community Lodge (อนุรักษ์ คอมมูนิตี้ ลอดจ์) เปิดให้บริการเมื่อปี 2559 ตั้งอยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 ที่ตัดผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสก เป็นอีกหนึ่งภาพต่อของ One-stop travel company ที่เป็นผลจากแรงบันดาลใจด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติในเมืองไทย ด้วยเพราะการท่องเที่ยวแนวผจญภัยธรรมชาติเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ 

“แนวทางของ Khiri Travel คือสร้างความแต่งต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น ผมอยากให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสคนไทยและวัฒนธรรมไทยอย่างแท้จริง แต่ด้วยคุณภาพของที่พักอาจยังไม่ตอบโจทย์ จึงตัดสินใจสร้างขึ้นเอง”

Willem เล่าว่าก่อนจะเริ่มลงมือสร้าง Anurak Community Lodge ต้องใช้เวลานานกว่า 2 ปีในการพัฒนา วางแผนและกำหนดแนวคิดทั้งหมด เพื่อให้เป็นสถานที่มอบประโยชน์สูงสุดต่อธรรมขาติและชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการได้สร้างความสุขแก่แขกผู้มาเยือนจากต่างแดน จึงใช้เวลาในการเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมจากคนในพื้นที่ เพื่อนำมาพัฒนาสถานที่ให้เป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนและกลมกลืมกับธรรมชาติมากที่สุด

ทั้งนี้เพื่อตอกย้ำแนวทางที่ต้องการส่งเสริม Sustainability ให้เด่นชัด ล่าสุด Anurak Eco-Lodges ริเริ่มเปิดตัวโครงการ "ปลูกให้เป็นป่า" เพื่อรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม

นอกเหนือจากกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เช่น การปีนเขา พายเรือคายัค และทำอาหารป่า โดย Anurak Eco-Lodges จัดกิจกรรมให้แขกผู้เข้าพักร่วมปลูกต้นอ่อนของพันธุ์ไม้ป่าดิบประจำถิ่น เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ ข้าง ๆ ตัวสถานที่พักจากเดิมที่เป็นสวนปาล์มน้ำมันในอดีต ให้เป็นป่าดิบชื้นด้วยวิธีพรรณพืชโครงสร้าง ภายในปี 2566 โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูพื้นที่นี้ให้มีความหลากหลายทางชีวภาพและเชื่อมต่อกับพื้นที่อีก 10 ไร่ที่อยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติเขาสก

Willem เล่าว่าพื้นที่ตั้งของ Anurak Eco-Lodges ถูกถางป่ามามากกว่า 50 ปี โดยถูกดัดแปลงเป็นสวนมะพร้าวก่อน จากนั้นเป็นสวนผลไม้ที่ปลูกพืชหลากหลาย ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และลำไย จนประมาณปี 2550 พื้นที่ป่าแห่งนี้ก็ถูกแผ้วถางอีกครั้งเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน 

แต่ด้วยการทำสวนปาล์มน้ำมันนั้นเป็นการเกษตรระบบนิเวศเชิงเดี่ยว ที่ไม่สามารถเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกและสัตว์ต่าง ๆ เช่น กวาง หมูหริ่ง ชะมด พังพอน ตัวนิ่ม สมเสร็จ หมูป่าและลิงลม ด้วยเพราะสัตว์เหล่านี้ล้วนต้องการเมล็ดและผลไม้ที่หลากหลายเพื่อเป็นอาหาร 

Eco-Lodges

Anurak Eco-Lodges จึงได้ร่วมกับหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (FORRU) เพื่อทำการฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศในพื้นที่แห่งนี้ ให้เหมาะเป็นป่าดิบชื้นเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม

สำหรับกิจกรรมที่แขกผู้เข้าพักสามารถมีส่วนร่วมได้นั้น Willem เล่าว่าก็ด้วยการร่วมสมทบทุน จำนวน 300 บาท (10 ดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อร่วมทำกิจกรรมปลูกต้นกล้าหนึ่งพันธุ์ในสถานที่ที่กำหนด ตามแผนที่จัดทำโดย FORRU ซึ่งแขกผู้เข้าพักจะได้รับเสื้อทีเชิ้ต “Rainforest Raising” และได้รับข่าวสารความคืบหน้าของต้นไม้ที่ “พวกเขา” ได้ลงมือปลูกไว้ รวมถึงข้อมูลความคืบหน้าของโครงการนี้ผ่านอีเมล

นอกจากนี้ Anurak Eco-Lodges ยังได้สร้างศูนย์ข้อมูลเพื่ออธิบายถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพและข้อควรพิจารณาในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าไว้เพื่อให้แขกผู้เข้าพักได้ศึกษาและเรียนรู้ โดยเฉพาะพืชสายพันธุ์ที่เติบโตเร็วเหมาะกับการเพาะปลูก เช่น ฝ้าย ถั่ว พลัม และต้นองุ่น เป็นต้นกล้าที่เติบโตเร็วและเป็นผลไม้เนื้อ สามารถดึงดูดสัตว์ป่า อีกทั้งยังสามารถแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ได้หลากหลายโดยนก เช่นนกโพระดกคอสีฟ้า นกแว่นตาขาวสีทอง และนกปรอด  

รวมถึงนักท่องเที่ยวจะได้รับประสบการณ์ที่มีความหมายและเป็นเสมือนรางวัล จากกิจกรรมการปลูกต้นไม้ การศึกษาข้อมูลทั้งหมดของแคมเปญจากศูนย์ข้อมูลที่จัดไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ การพูดคุยกับคนสวน และการเข้าร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแล้ว นักท่องเที่ยวยังมีส่วนช่วยในการสร้างความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศในระยะยาวด้วย 

ทั้งนี้หากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ได้คลี่คลายลงแล้ว Willem คาดว่า  โครงการ 'ปลูกให้เป็นป่า' จะสามารถดึงกลุ่มโรงเรียนและวิทยาลัยเข้าร่วมเพื่อรณรงค์แคมเปญนี้ โดย FORRU จะสามารถส่งเจ้าหน้าที่จากพื้นที่วิจัยในจังหวัดกระบี่ เพื่อนำกลุ่มศึกษาและช่วยนักเรียนร่วมทำกิจกรรมการปลูกต้นไม้ต่อไป

Eco-Lodges

ไม่เพียงเท่านั้น YAANA Ventures ยังริเริ่ม Eco-Lodges อีกแห่ง ซึ่งยังคงยึดแนวทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเช่นเคย  โดยครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกับ Minor Group และ Wildlife Alliance เปิดให้บริการ Cardamom Tented Camp เมื่อปี 2560 ในรูปแบบของแคมป์ที่พักแนวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในเขตสัมปทานเนื้อที่ 112,500 ไร่ (หรือราว 180 ตารางกิโลเมตร) ภายในอุทยานแห่งชาติ Botum Sakor ที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อรักษาป่าและความหลากหลายทางชีวภาพของป่า ปกป้องป่าจากกการตัดไม้ทำลายป่า การลักลอบล่าสัตว์และการขุดทราย

โดยจุดเด่นที่สำคัญของ Cardamom Tented Camp คือจะมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจำนวน 12 ราย ทำหน้าที่พาแขกผู้มาเข้าพักเดินป่าสัมผัสและเรียนรู้ชีวิตธรรมชาติ ซึ่ง Cardamom Tented Camp เป็นฝ่ายสนับสนุนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ทั้งในด้านเงินเดือนและเครื่องมืออุปโภค เช่น เครื่องผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ที่สถานีพิทักษ์ป่า เนื่องจากการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ทำให้การลักลอบฆ่าสัตว์ป่าเพื่อขายลดลงอย่างมหาศาล

“แผนธุรกิจในอนาคตของ YAANA Ventures นอกจากขยายจำนวนห้องของ Anurak  เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมองหาโอกาสทำที่พักแนว Eco-Lodges ในประเทศอื่น ๆ ทั่วเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ให้มากขึ้นอีก”

อย่างไรก็ตามธุรกิจของ YAANA Ventures ถือว่าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด Covid-19 โดยตรง และ Willem ยอมรับว่าเป็นวิกฤตแรงสุดเท่าที่ตัวเขาผ่านประสบการณ์ทำธุรกิจมา ทำให้กิจการในเครือต่างต้องปรับตัวและเชื่อมั่นว่าจะสามารถกลับมาดีเหมือนเดิมในวันหนึ่ง เพื่อยังไปต่อได้ เช่น เริ่มลดเงินเดือนพนักงานตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ Willem มองว่าผลจากสถานการณ์ที่ทำให้กิจการต้องหยุดลงชั่วคราวเพราะนักท่องเที่ยวหายไปก็มีด้านบวก ตรงที่ทำให้บริษัทได้มีเวลากลับมาทบทวนจุดเด่น/จุดด้อยที่ต้องปรับปรุง เพื่อจะได้ตัดสินใจถูกว่าควรลงทุนส่งเสริมจุดเด่นในด้านไหน และแก้ไขจุดด้อยด้านไหน เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมขยายธุรกิจหลัง Covid-19 คลี่คลายลง

“คาดว่าราวเดือนตุลาคมปีหน้าธุรกิจท่องเที่ยวน่าจะกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจน”




ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

บทเรียนความสำเร็จจาก มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก 20 ปีที่ Meta ผ่านมุมมองผู้บริหารคนสนิท

Naomi Gleit ผู้บริหารระดับสูงของ Meta และพนักงานรุ่นบุกเบิกของบริษัท ได้มาเปิดเผยประสบการณ์การทำงานกับ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta ที่ยาวนานเกือบ 20 ปีในพอดแคสต์ชื่อดัง "Le...

Responsive image

วัยเด็ก ‘Sundar Pichai’ การเติบโตและแรงบันดาลใจจากเด็กธรรมดา สู่ซีอีโอ Google

ค้นพบแรงบันดาลใจจากเรื่องราววัยเด็กของ Sundar Pichai เด็กชายจากเจนไนผู้ก้าวข้ามขีดจำกัด สู่การเป็นซีอีโอของ Google ด้วยพลังแห่งการเรียนรู้และเทคโนโลยี...

Responsive image

จดหมายจากปี 1974 ข้อคิดการเลี้ยงลูกจาก LEGO

LEGO ยืนยันว่าจดหมายฉบับนี้เป็นของจริง เนื้อหาในจดหมายเน้นย้ำว่า "เด็กทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย”...