รู้จักโรงพยาบาล MedPark ใครเป็นเจ้าของ? | Techsauce

รู้จักโรงพยาบาล MedPark ใครเป็นเจ้าของ?

โรงพยาบาลเมดพาร์ค (MedPark) โครงการโรงพยาบาลเอกชนสุดหรูย่านพระราม 4 เคยถูกจับตาและเป็นประเด็นที่ร้อนแรง ด้วยมูลค่าการลงทุนในเฟสแรกสูงถึง 7,000 ล้านบาท แถมยังก่อสร้างอยู่ข้างโครงการ The PARQ ซึ่งเป็นอาณาจักร Mixed-Use ของ "เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี" ทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าเจ้าสัวเจริญ จะหันมารุกธุรกิจโรงพยาบาลหรือไม่? แต่ท้ายที่สุดสิ่งที่หลายคนสงสัยก็ได้ถูกคลี่คลาย โดยเจ้าสัวเจริญ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการก่อตั้งหรือมีแผนจะเข้ามาถือหุ้นใน MedPark  แต่อย่างใด โรงพยาบาลแค่มาเช่าพื้นที่ของเจ้าสัวเจริญในการพัฒนาโครงการเท่านั้น แล้วเจ้าของที่แท้จริงของ MedPark คือใคร วันนี้ Techsauce จะพาไปรู้จักกันในบทความนี้ 

MedPark

MedPark ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของคณะแพทย์หลากหลายสาขา และบริษัทโรงพยาบาลมหาชัย จำกัด (มหาชน) บริหารงานโดยทีมแพทย์และผู้บริหารที่มีประสบการณ์มากถึง 30 ปี นำโดย นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช ประธานกรรมการบริหาร เครือบริษัท โรงพยาบาลมหาชัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับรางวัล Thailand Sustainability Investment 2019 และ 2020 อดีตนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน หนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมโรงพยาบาลเอกชนแห่งอาเซียน และ ศ.นพ. สิน อนุราษฎร์ อดีตอาจารย์โรงเรียนแพทย์ประจำ University of Iowa และ Texas Tech University สหรัฐอเมริกา อดีตผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนระดับนานาชาติ เป็นผู้ริเริ่มและผลักดัน ให้เกิด Medical Tourism ในประเทศไทย และได้รับรางวัล Lifetime Achievement Award ประจำปี 2018 ของ Hospital Management Asia

MedPark ใครเป็นเจ้าของ

โดย MedPark มีสัดส่วนการถือหุ้น ดังนี้

1.บริษัท โรงพยาบาลมหาชัย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 42.50% 

2.บริษัท ทีพีพี โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นในสัดส่วน 25%  ส่วนที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย

โรงพยาบาลเมดพาร์คตั้งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจแห่งใหม่บนถนนพระราม 4 ประกอบด้วยอาคาร 25 ชั้น พื้นที่ประมาณ 90,000 ตารางเมตร มีแพทย์เฉพาะทางกว่า 30 สาขา  โดยโรงพยาบาลเมดพาร์คเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 และเมื่อเปิดให้บริการเต็มที่ จะสามารถให้บริการด้วยห้องตรวจผู้ป่วยนอกถึง 300 ห้อง สามารถรองรับผู้ป่วยค้างคืนได้ 550 เตียง โดยมีจำนวนเตียงผู้ป่วยวิกฤต 130 เตียง จัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือที่ก้าวหน้าอย่างครบครัน อาทิ PET-CT, MRI 3 Tesla, SPECT-CT, Nuclear Medicine, Radiation Therapy (เครื่อง LINAC), Bone Marrow Transplantation Unit  และ Hybrid Operating Theater เป็นต้น

MedPark

ซึ่งโรงพยาบาลเมดพาร์ค มีวัตถุประสงค์ชัดเจนที่จะดึงศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ของไทยมาร่วมกันให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มขีดความสามารถ ใช้แนวคิดและการปฏิบัติแบบ Integrated Care คำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วยเป็นสำคัญ  พร้อมมอบคุณค่าของการรักษา  (Value-Based Care)  ดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับการใช้ชีวิตของผู้ป่วยในสังคมปัจจุบัน 

ที่สำคัญโรงพยาบาลเมดพาร์คยังส่งเสริมการศึกษาและงานวิจัย  เพื่อสนับสนุนให้เพิ่มพูนองค์ความรู้ของบุคลากรให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการรักษาพยาบาลและดูแลผู้ป่วย มีการวางแผนในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต มีความพร้อมในการรักษาโรคยากและมีความซับซ้อน มุ่งสู่การรักษาระดับจตุตถภูมิ (Quaternary Care)  และเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาคเอเซียอาคเนย์

เราก็ต้องจับตาดูการลงทุนในเฟสถัดไปของ MedPark ว่าจะมีนายทุนเจ้าไหนมาร่วมลงเรือลำเดียวกันหรือไม่ เพราะด้วยทำเลที่มีศักยภาพ รวมถึงเทรนด์ของธุรกิจโรงพยาบาลและศูนย์ดูแลสุขภาพกำลังมาแรงหลังเกิดสถานการณ์โรคระบาดแบบนี้ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคหลายคนหันมาดูแลสุขภาพและเลือกมองหาโรงพยาบาลที่ดีสุดในการเข้าใช้บริการมากขึ้น 




แหล่งข้อมูล : medparkhospital





ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

RELATED ARTICLE

Responsive image

ส่องสไตล์บริหาร Jensen Huang หัวใจของ Nvidia บริษัทชิป 1 ล้านล้าน

Jensen Huang ผู้นำบริษัท Nvidia ที่ปีนี้ประสบความสำเร็จแบบเกินความคาดหมาย ด้วยอิทธิพลของ AI...

Responsive image

Tim Cook จะจ้างคนแบบไหน ? 3 ทักษะที่พนักงาน Apple ต้องมี

อยากทำงานที่ Apple ต้องมีทักษะอะไรบ้าง ? ล่าสุด Tim Cook ได้ให้สัมภาษณ์ถึงลักษณะสำคัญของคนที่เหมาะจะมาทำงานที่บริษัท 3 แบบ จะมีอะไรบ้างและตรงกับคุณไหม มาดูกัน...

Responsive image

เจาะแนวคิด 2 นักธุรกิจหญิงไทย ติดโพลนักธุรกิจหญิงสุดแกร่งปี 2023 ของ Forbes

Forbes จัดอันดับ 20 รายชื่อนักธุรกิจหญิงผู้ทรงอิทธิพลของ Forbes Asia 2023 มีนักธุรกิจหญิงชาวไทยติดอันดับถึง 2 คน มาดูกันว่าเป็นใคร และแต่ละคนมีมุมมองการดำเนินธุรกิจภายใต้ความเปลี่ย...