บทเรียนของ SoftBank หลังเผยบาดแผลขาดทุนมูลค่า 17,700 ล้าน USD กับวิกฤติศรัทธา Unicorn | Techsauce

บทเรียนของ SoftBank หลังเผยบาดแผลขาดทุนมูลค่า 17,700 ล้าน USD กับวิกฤติศรัทธา Unicorn

  • SoftBank Vision Fund เป็นกองทุนที่ถือเป็นต้นแบบของกองทุนที่ลงทุนในบริษัทเทคโลยีทั่วโลก โดยเป็นหนึ่งในกองทุนที่มีส่วนกับ Unicorn ทั่วโลกอย่าง Alibaba, Uber, Grab รวมถึง WeWork
  • แต่หลังจากเหตุการณ์อื้อฉาวของ WeWork ก็เป็นแรงกระเพื่อมหลักให้การลงทุนใน Tech Startup ต้องสั่นคลอน ตามมาด้วยการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่สะเทือนเศรษฐกิจในภาพใหญ่จนยากที่หลายอย่างจะฟื้นกลับมา
  • SoftBank ประกาศผลประกอบการปี 2019 ด้วยบาดแผลที่รุนแรงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พร้อมกับความเคลื่อนไหวใหญ่อย่างการลาออกจากกรรมการบอร์ดของ Jack Ma ในปีนี้ Masayoshi Son จึงออกแถลงการณ์ ไม่มองหานักลงทุนมาร่วมทุนเพิ่มใน Fund แต่ยังคงประกาศจะลงทุนใน Startup ต่อไปด้วยเงินที่มีอยู่
  • นักวิเคราะห์มองว่าสิ่งที่ SoftBank กำลังทำคือการรักษาสถานะทางการเงินของบริษัทเอาไว้ จึงอาจเป็นไปได้ว่าพวกเขาจะไม่เติมเงินในกองทุนเพื่อลงทุนใน Startup เพิ่มเติมอีก ซึ่งส่งผลต่อ Ecosystem โดยตรง

เมื่อวันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม 2020 SoftBank บริษัทลงทุนยักษ์ใหญ่ของโลกได้จัดงานแถลงผลประกอบการปี 2019 โดยนับเป็นครั้งแรกจริงๆ ที่หลายคนได้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับ SoftBank หลังผ่านเหตุการณ์ WeWork ตลอดปี 2019 ซึ่งต้องถือว่าเป็นไปตามคาดที่จะต้องเจอกับความเสียหาย แต่สิ่งที่ Masayoshi Son ทำก็ต้องถือว่าน่าสนใจเช่นกัน ในวันนี้ เราจะมาประมวลเหตุการณ์และวิเคราะห์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นต่อจากนี้กัน

SoftBank กับการเป็นผู้บุกเบิกด้านการ “ลงทุนหวังผล” ใน Tech Startup

สำหรับผู้อ่านที่ติดตามวงการ Tech Startup มาอย่างนาวนานคงไม่มีความสงสัยในชื่อชั้นของ SoftBank เป็นแน่ ซึ่งหากให้เรากล่าวโดยสรุป SoftBank ถือเป็น Investment Firm ที่ลงทุนในด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าบริษัทสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และบริษัทที่พวกเขาลงทุนก็กว้างขวางมาก ไม่ว่าจะเป็น Alibaba, Uber, Grab หรือแม้แต่ Bytedance จนกล่าวได้ว่าชีวิตประจำวันของเราเกี่ยวพันกับบริษัทที่ลงทุนโดย SoftBank บ้างไม่มากก็น้อย

อันที่จริงแล้ว SoftBank เริ่มต้นเมื่อปี 1981 จากการเป็น Software Provider ในญี่ปุ่น ก่อนจะขยับมาทำธุรกิจโทรคมนาคมแล้วนำรายได้ไปลงทุนใน Tech Company ตั้งแต่ทศวรรษ 2000 จนประสบความสำเร็จอย่างมาก แล้วค่อยเริ่มต้นก่อตั้งกองทุนในชื่อ Vision Fund โดยกองแรกเริ่มต้นเมื่อปี 2017 และ Vision Fund II เป็นกองทุนที่ 2 เมื่อปี 2019 ซึ่งบริษัทที่ร่วมลงทุนใน Vision Fund ประกอบด้วยบริษัทอย่าง Apple, Foxconn สถาบันการเงินระดับโลกอย่าง Goldman Sachs และกองทุนของประเทศจากตะวันออกกลาง

บาดแผลมูลค่า 17,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐของ SoftBank

หนึ่งในเหตุการณ์ที่ถือเป็นบาดแผลและกรณีศึกษาของโลกจาก SoftBank คือกรณีของ WeWork ซึ่งเป็น Unicorn Startup ผู้ให้บริการ Co-working Space ที่ล้มเหลวจากการ IPO จนนำมาสู่การเปิดโปงหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการที่ธุรกิจยังไม่สามารถทำกำไรได้ และพฤติกรรมของ Adam Neumann ผู้ก่อตั้งและ CEO ในขณะนั้น นำไปสู่การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของบริษัทด้วยการปลดพนักงานทั่วโลกกว่า 2,400 คน

แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้ทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงความน่าสนใจของโลก Startup แต่อีกส่วนหนึ่งก็นำมาซึ่งความเสียหายของ SoftBank Vision Fund ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการที่มูลค่าบริษัทร่วงจาก 47,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เหลือเพียง 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากยังมีกรณีของ Oyo ผู้ให้บริการ Digital Platform สำหรับโรงแรมที่เคยมี Valuation สูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ออกอาการ “ทำกำไรไม่ได้” จนต้องลดขนาดบริษัท ดำเนินการปลดพนักงานกว่า 5,000 คน เมื่อต้นปี 2020

จากเหตุการณ์ที่ข้างต้น ทำให้ SoftBank Vision Fund ขาดทุนถึง 17,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนับเป็นความเสียหายที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์บริษัทในรอบ 39 ปี

สิ่งที่ Masayoshi Son ทำเพื่อกู้ “วิกฤตศรัทธา” ของ Vision Fund

“ผลลัพธ์ของ Vision Fund ไม่ใช่สิ่งที่เราควรจะภูมิใจเลย” คำพูดของ Masayoshi Son ผู้ก่อตั้งและประธานของ SoftBank Group จากการประกาศผลประกอบการประจำปี 2019 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2020 “และถ้าหากผลลัพธ์ของมันยังแย่แบบนี้ คุณก็ไม่อาจระดมทุนจากนักลงทุน นั่นเป็นเหตุผลที่เราจะลงทุนกับ Startup ต่อด้วยเงินลงทุนของเราเอง”

ซึ่งนอกจากการขาดทุนเป็นมูลค่า 17,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯแล้ว SoftBank ยังประกาศการลงจากตำแหน่งกรรมการบอร์ดของ Jack Ma ซึ่งทำให้ตอนนี้ SoftBank ขาดกรรมการบอร์ดระดับ Big Name อีกหนึ่งรายที่จะช่วยรับผิดชอบสิ่งที่บริษัททำเพื่อเคลื่อนไปข้างหน้า

ก่อนหน้านี้ SoftBank มีกรรมการบอร์ดเป็นนักธุรกิจชั้นนำระดับโลกร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น Tadashi Yanai ผู้ก่อตั้ง Fast Retailing เจ้าของแบรนด์ Uniqlo โดยอยู่ในตำแหน่งถึง 18 ปีก่อนจะยุติบทบาทเมื่อสิ้นปี 2019 และ Jack Ma ผู้ก่อตั้ง Alibaba ที่อยู่ในตำแหน่งถึง 13 ปี

ทั้งความเสียหายของกองทุนและการขาดกรรมการบอร์ดในระดับโลก ทำให้ Masayoshi Son ประกาศแผนงานกู้วิกฤตเมื่องานแถลงข่าวว่าโดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักคือ ขายสินทรัพย์และการซื้อหุ้นของบริษัทกลับคืน

โดย SoftBank เตรียมขายสินทรัพย์มูลค่ารวมกว่า 4.5 ล้านล้านเยน หรือกว่า 42,000 ล้านดอลลาร์ ประกอบด้วย หุ้นของโทรคมนาคมต่างประเทศอย่าง T Mobile US และ Deutsche Telekom AG โดยก่อนหน้านี้ SoftBank ได้ทยอยขายสินทรัพย์บางส่วนไปแล้ว อย่างหุ้นของ Alibaba ซึ่งถือเป็นสินทรัพยสำคัญของบริษัทเป็นมูลค่าถึง 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากการขายสินทรัพย์แล้ว SoftBank ยังเตรียมซื้อหุ้นคืนจากนักลงทุนเป็นมูลค่ารวม 1 ล้านล้านเยน โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะละ 500,000 ล้านเยน ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้สถานะของ SoftBank มั่นคงขึ้นจากภายในโดยบริษัทจะถือหุ้นเองในสัดส่วน 75 เปอร์เซ็นต์

กลยุทธดังกล่าวน่าจะทำให้ SoftBank น่าจะมีเงินทุนเพื่อสนับสนุน Startup ใน Portfolio ซึ่งมีส่วนช่วยซ่อมแซมความเสียหายของกองทุน ส่วนการซื้อหุ้นคืนนอกจากจะทำให้สถานะของบริษัทมั่นคงขึ้นแล้ว ยังเป็นการประคองมูลค่าบริษัทให้ยังอยู่ในระดับที่เกิดความมั่นใจกับหลายส่วน

เมื่อ SoftBank ลงทุนอย่างเข้มงวด Unicorn เกิดใหม่ก็ยากขึ้น

นักวิเคราะห์หลายสำนักมองตรงกันว่า ท่าทีของ SoftBank ตอนนี้คือการ “รักษาสถานะทางการเงินของบริษัทเอาไว้” เนื่องจากต้องเผชิญกับการขาดทุนจากการลงทุนครั้งใหญ่และต้องป้องกันไม่ให้สถานการณ์ครั้งนี้ส่งผลไปยังธุรกิจอื่นๆ ในเครือ

อย่างไรก็ตาม แม้จะดำเนินการเพื่อรักษาสถานะทางการเงิน แต่ SoftBank ก็ไม่ได้หมดหวังไปกับการลงทุนใน Startup เสียทีเดียว เพราะใน Portfolio ยังมีรายที่น่าจับตามองอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ARM บริษัทด้าน Microprocessor ที่พร้อมจะเข้าสู่อุตสาหกรรม IoT และ Bytedance บริษัท Software จากจีนเจ้าของ Social Platform บันลือโลกอย่าง Tiktok

แต่สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ SoftBank อาจยุติการเพิ่มเงินลงทุนใน Startup ก้อนใหม่ เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนา Startup ที่ลงทุนไปให้ทำกำไรให้ได้ จนหลายฝ่ายถึงกับกล่าวว่า Vision Fund II อาจเป็นเงินกองทุนสุดท้ายที่ลงทุนใน Startup ที่เราจะได้เห็นจาก SoftBank

ด้วยความที่ SoftBank ประสบความสำเร็จในที่ผ่านมาอย่างมาก รวมถึงมีชื่อชั้นที่ทำให้หลายบริษัทชั้นนำของโลกพร้อมที่จะลงขันใน Startup นั้นๆ แม้ SoftBank จะประกาศว่ายังคงลงทุนใน Startup แต่เป็นไปได้ที่พวกเขาจะลงทุนด้วยมูลค่าที่น้อยลงไปมาก รวมถึงน่าจะต้อง “เข้มงวด” มากยิ่งขึ้นไปอีก จนทำให้การลงทุนขนาดใหญ่ที่มากพอจะให้กำเนิด Unicorn มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลงอย่างมากในปีนี้

ด้วยเหตุข้างต้น น่าจะทำให้ธุรกิจทั้งหลายตื่นจากฝัน หันมาให้ความสนใจกับ Business Model ของตัวเองจริงๆ ว่าสามารถทำกำไรให้ได้ ยิ่งสถานการณ์ COVID-19 ก็เป็นตัวที่เร่งให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการมีเงินสดในธุรกิจมากขึ้น

แม้สถานการณ์ตอนนี้จะผันผวนสูงมากจนยากจะคาดเดา แต่แก่นหลักของการทำธุรกิจเองก็ยังคงอยู่ที่การคว้าจังหวะโอกาสและการปรับตัว เราจึงขอทิ้งท้ายด้วยคำพูดของ Masayoshi Son ในงานแถลงข่าวที่เจ็บปวดที่สุดครั้งหนึ่งของ SoftBank ที่กล่าวว่า 

สถานการณ์ตอนนี้ยากจะคาดเดา Unicorn ของเราอาจจะบาดเจ็บในช่วงนี้ แต่ก็มีอีกหลายรายที่อาจสบโอกาสสยายปีกและโบยบินได้สำเร็จเช่นกัน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

Jack Ma ลาออกจากบอร์ดของ Softbank Group หลังจากอยู่อย่างยาวนานถึง 13 ปี

SoftBank ส่อท่าทีชะลอการลงทุนใน Startup หลังล่มดีลหลายรายแบบไม่ให้เหตุผล

ยูนิคอร์นที่ร่วงหล่น WeWork คอนเฟิร์มเลิกจ้างพนักงานกว่า 2,400 ตำแหน่ง หรือกว่า 20%

ขอขอบคุณข้อมูลจาก The Japan Times และ Nikkei Asian Review


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

‘Yindee’ แชตบอตในแอป ttb Touch ใช้ Gen AI จับความรู้สึก ตอบเร็วและฉลาดกว่าที่เคย

Yindee แชตบอตที่อยู่บน Mobile Banking ของ ttb ทำงานผ่านแอป ttb Touch สามารถจับ Mood & Tone ของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ว่าขณะแชตนั้น ลูกค้าอยู่ในอารมณ์ไหน ด้วย Generative AI โดย Azur...

Responsive image

คนอยากใช้พลังงานเยอะ แต่โลกอยากได้ปล่อยคาร์บอนน้อย บริษัทพลังงานแก้ไขความย้อนแย้งนี้อย่างไรดีในยุค AI

The Energy/Prosperity Paradox หรือภาวะย้อนแย้งแห่งพลังงาน และความเจริญ ถือเป็นความท้าทายระดับโลกที่บริษัทด้านพลังงานกำลังพบเจอ เพราะในตอนนี้โลกกำลังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างไม่เ...

Responsive image

เศรษฐกิจไทย ‘ฟื้นตัว’ แล้วหรือยัง ? ฟังความเห็นจาก 3 ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย

ค้นพบศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา พร้อมโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเทคโนโลยี...