วิกฤตโควิด-19 เราได้เห็นผู้นำแต่ละประเทศตอบสนองและจัดการปัญหาอย่างแตกต่างกัน อาวุธสำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้นำทุกคนต้องใช้ในภาวะวิกฤตคือ “การสื่อสาร” แต่การสื่อสารนี่แหละครับที่เป็นทั้งสิ่งที่ “Make a hero” และ “Break a hero” ได้ วิกฤตครั้งนี้เราได้เห็นตัวอย่างดีๆ ของผู้นำประเทศบางคนที่ใช้การสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพในการจัดการกับปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษ ซึ่งเราสามารถเรียนรู้และนำมาใช้กับการทำงานได้เช่นกันครับ ซึ่งผมบอกได้เลยครับว่า “ผนกรจดรร” = ผู้นำเก่งเราจะได้เรียนรู้ครับ
การได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่จะปกป้องประชาชนให้ปลอดภัยจากโควิด-19 และทำให้ประชาชนไม่ตื่นตระหนกได้ โจทย์ก็คือในภาวะวิกฤตนี้จะทำอย่างไรเพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องจะเดินทางไปสู่ประชาชนได้จริง
รัฐบาลฟินแลนด์ทำข้อสอบข้อนี้ด้วยการประสานกับ Social influencer กว่า 1,500 คน ตั้งแต่บล็อกเกอร์ แร็ปเปอร์ นักเขียน ฯลฯ ในการส่งข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ถูกต้องไปยัง Social influencer โดยตรง รัฐบาลพูดคนเดียวอาจจะเสียงดังไม่พอ บางคนอาจจะไม่ได้ยิน แต่ถ้ามี Social influencer หลายพันมาช่วยพูดอีกแรง เสียงก็จะดังมากขึ้น ไปถึงคนได้มากขึ้น
นอกจากให้ข้อมูลแล้ว รัฐบาลฟินแลนด์ยังมีไกด์ไลน์หรือคำแนะนำในการใช้โซเชียลมีเดียในภาวะวิกฤตสำหรับ Social influencer โดยเฉพาะไปด้วย เช่น คิดก่อนแชร์ ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนเสมอ ห้ามแชร์ข้อมูลที่เป็นเท็จ ฯลฯ เป็นการใช้สื่อออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ นอกจากการสื่อสารบนช่องทางสื่อดั้งเดิมที่ทำเป็นปกติอยู่แล้ว
1) เป็นการเพิ่มความมั่นใจว่าประชาชนทุกกลุ่มจะได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เพราะ Social influencer มีความสำคัญในการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายเฉพาะบนโลกออนไลน์ ยิ่งในยุคที่การรับข้อมูลข่าวสารเปลี่ยนมาอยู่บนสื่อออนไลน์มากขึ้น การใช้สื่อดั้งเดิมอย่างเดียวคงไม่พอที่จะเข้าถึงประชาชนได้ทั้งหมด และ Social influencer แต่ละคนยังสามารถ “ย่อย” ข้อมูลต่างๆ ให้ Follower ของตัวเองเข้าใจได้ง่ายขึ้น หรืออยู่ในรูปแบบที่น่าสนใจขึ้นสำหรับกลุ่มเป้าหมาย
2) เป็นการทำให้ “สื่อ” สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือจากรัฐบาลได้ทันที ลดความเสี่ยงจากการที่ Social influencer จะแชร์ข้อมูลที่ผิดหรือทำให้เกิดเฟคนิวส์ได้ ลองคิดดูนะครับว่า ถ้า Social influencer ดันเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดเสียเองจะเสียหายแค่ไหน เพราะฉะนั้น เพื่อเป็นการตัดตอนการเกิดเฟคนิวส์ รัฐบาลฟินแลนด์ก็เอาข้อมูลที่ถูกต้อง กลั่นกรองแล้วว่าเชื่อถือได้ พร้อมไกด์ไลน์ ส่งตรงไปยัง Social influencer เลยดีกว่า
3) เป็นการขยายความร่วมมือของคนในชาติ ใครเก่งเรื่องไหน มีพลังในเรื่องไหน ก็สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของประเทศได้หมด เหมือนกับการที่มองเห็น Social influencer ในฐานะ “สื่อ” ที่มีพลังการสื่อสารอยู่ในตัว และสามารถใช้พลังนั้นให้เกิดประโยชน์กับประเทศได้ ยิ่งมีข้อมูลที่ถูกต้องจาก Social influencer บนโลกออนไลน์มากเท่าไร คนก็ยิ่งมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น
โจทย์เดียวกันกับข้อที่แล้วว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนทุกคนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รัฐบาลนอร์เวย์ทำข้อสอบข้อนี้ด้วยการตีโจทย์ว่า “ประชาชน” ในที่นี้มีใครบ้างที่ต้องรู้เรื่อง แน่นอนว่าก็คือประชาชนทุกคนในประเทศนี่แหละ เพียงแต่ว่ารัฐบาลนอร์เวย์มองประชาชนแล้วแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ ในการสื่อสารที่เฉพาะเจาะจงกับแต่ละกลุ่ม ซึ่งสิ่งที่ผมเซอร์ไพรส์มากก็คือ รัฐบาลนอร์เวย์เลือกสื่อสารกับ “เด็ก” โดยเฉพาะด้วยครับ ด้วยการจัดงานแถลงข่าวที่ Elna Solberg นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีกระทรวงครอบครัวและเยาวชน มาตอบคำถามที่เด็กๆ ทั่วประเทศส่งมาถามเกี่ยวกับโควิด-19 ตั้งแต่ “หนูยังจะจัดงานวันเกิดได้อยู่ไหม” “หนูไปที่ช็อปปิ้งเซ็นเตอร์แล้วจะไปเยี่ยมคุณตาคุณยายต่อได้หรือเปล่า” “จะมีวัคซีนรักษาโรคนี้ไหม” ไปจนถึง “เด็กๆ จะช่วยอะไรได้บ้างในตอนนี้”
จะเห็นได้ว่า คำถามที่เด็กๆ มี ไปจนถึง Pain point ที่เด็กๆ มีนั้นต่างกับผู้ใหญ่ ซึ่งการที่ Elna Solberg จัดแถลงข่าวตอบคำถามกับเด็กๆ โดยเฉพาะนี้ สำหรับผมแล้ว เป็นการสื่อสารที่ทรงพลังมากครับ เพราะเป็นการมองเด็กในฐานะประชาชนที่รัฐต้องดูแลและให้ความสำคัญด้วยการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเข้าใจง่ายกับเด็กๆ แสดงถึงการให้เกียรติเด็กๆ ด้วยการรับฟังความคับข้องใจของเด็กๆ และให้เวลาในการอธิบายกับเด็กๆ ไม่ต่างกับการอธิบายผู้ใหญ่ และเขาอธิบายเรื่องยากซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่ายๆ แบบที่ให้เด็กสสสสอนุบาลฟังก็เข้าใจได้ ผมว่าไม่ธรรมดาจริงๆ ครับ
การสื่อสารไปยังเด็กโดยตรงแบบนี้ทำให้เราเห็นวิธีคิดของรัฐบาลนอร์เวย์ที่มองเห็นประชาชนเป็นกลุ่มย่อยๆ ที่แต่ละกลุ่มมีความต้องการที่แตกต่างกัน มี Pain Point ที่ต่างกัน ไม่ได้มองคนทุกคนเป็นเหมือนๆ กันหมด เพราะฉะนั้น ไม่สามารถทำการสื่อสารแบบเหมารวมได้ ต้องสื่อสารกับแต่ละกลุ่มด้วยวิธีที่ต่างกัน
ลองกลับไปดูวิธีการสื่อสารขององค์กรเราสิครับว่า เรามองเห็นลูกค้าหรือคนในองค์กรของเราแบบเหมารวม ทุกคนเหมือนกันหมด ต้องการสิ่งเดียวกันหมด ก็เลยสื่อสารไปแบบเดียว เหมายกเข่งกันไป หรือเรามองเห็นกลุ่มเป้าหมายของเราเป็นกลุ่มย่อยๆ ที่มีความพิเศษเฉพาะตัว และสื่อสารเจาะไปยังกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มอยู่หรือเปล่า
ในแถลงข่าวครั้งนี้ มีอีกเรื่องที่ผมประทับใจมากก็คือ นายกฯ นอร์เวย์ บอกกับเด็กๆ ว่า “ความกลัวเป็นเรื่องปกติ” และค่อยๆ ตอบคำถามเรื่องโควิด-19 ที่เด็กๆ สงสัยทีละข้อ จากที่ความกลัวเกิดเพราะความไม่รู้ เมื่อได้รู้ข้อมูลต่างๆ มากขึ้น ความกลัวก็จะค่อยๆ หายไป ผมคิดว่านี่เป็นการสอนวิชาชีวิตให้กับเด็กอย่างแท้จริงครับว่า ให้ยอมรับความอ่อนไหวและเปราะบางของชีวิตว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องเจอ ความกลัวไม่เท่ากับความอ่อนแอ แต่เมื่อกลัวแล้ว รู้มากขึ้นก็อยู่กับความกลัวได้ง่ายขึ้น งานแถลงข่าวครั้งนี้จึงเหมือนเรากำลังได้ดูนายกฯ ในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่งมาแบ่งปันวิชาชีวิตให้กับเด็กๆ ไปด้วยครับ
ในเพลง “Children Will Listen” ของมิวสิคัลเรื่อง “Into the Woods” ซึ่งแต่งโดย Stephen Sondheim เขียนไว้ว่า “Careful the things you say. Children will listen. Careful the things you do. Children will see and learn” ทุกการกระทำของเราที่เป็นผู้ใหญ่นั้นมีผลต่อเด็ก เด็กๆ จะได้เรียนรู้จากสิ่งที่เราทำให้ดูหรือสิ่งที่เราพูด แบบเดียวกับคนในองค์กรนั่นแหละครับ สิ่งที่ผู้นำพูดและทำมีผลต่อพนักงานหมด และเขากำลังเรียนรู้อะไรบางอย่างจากผู้นำอยู่ เพียงแต่ว่า...ผู้นำได้มอบบทเรียนที่ดีหรือมอบตัวอย่างที่เลวให้กับคนที่กำลังดูอยู่ --- อันนี้อยู่ที่เราจะเป็นผู้นำแบบไหนแล้วล่ะครับ
Sint Maarten เป็นประเทศแถบคาริบเบียนที่มีประชากรเพียง 41,000 คน แต่มีโรงพยาบาลที่มีเตียงไอซียูเพียง 2 เตียง ที่ต้องจำกัดไว้สำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นจริงๆ ถ้าโควิด-19 เกิดระบาดขึ้นมาจริงๆ โรงพยาบาลเอาไม่อยู่แน่ๆ เพราะฉะนั้น ทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้คือ ต้องทำให้ทุกคน “จริงจัง” กับการกักตัวอยู่ที่บ้าน
Silveria Jacobs นายกฯ ของ Sint Maarten บอกกับประชาชนอย่างชัดเจนมากว่าประชาชนต้องทำอะไรชนิดที่ใครฟังก็ต้องเข้าใจ Silveria บอกว่า “อย่าเคลื่อนย้าย ง่ายๆ เลยอย่าเคลื่อนย้าย ถ้าคุณไม่มีขนมปังแบบที่ชอบอยู่ที่บ้าน กินแครกเกอร์แทน ถ้าคุณไม่มีขนมปัง กินซีเรียล กินข้าวโอ๊ต กินปลาซาร์ดีน”
Sint Maarten เคยประสบภัยครั้งใหญ่คือพายุเฮอร์ริเคนเออร์ม่าในปี 2017 ประชาชนเคยมีประสบการณ์ในการอยู่ในภาวะภัยพิบัติมาแล้ว Silveria จึงบอกให้ประชาชนปฏิบัติตัวในช่วงโรคระบาดนี้แบบเดียวกับตอนที่เจอภัยธรรมชาติ โดยบอกให้ประชาชนกักตุนอาหารและสิ่งจำเป็นเท่านั้นสำหรับสองอาทิตย์ อย่ากักตุนสำหรับหนึ่งเดือน เพราะร้านค้าจะไม่มีสินค้าเพียงพอและจะอยู่ไม่ได้ แต่ถ้าซื้อให้เพียงพอสำหรับสองอาทิตย์ ประชาชนยังอยู่ได้ ร้านค้ายังอยู่ได้ Silveria ลงรายละเอียดขนาดที่ว่า ไม่จำเป็นต้องซื้อน้ำหรือกระดาษชำระ แต่ให้ซื้ออาหารสำหรับหนึ่งหรือสองอาทิตย์เผื่อไว้ตอนล็อกดาวน์เต็มรูปแบบก็พอ และขอให้ประชาชนรักษาระยะห่าง Social Distancing และอยู่กับบ้านให้ได้มากที่สุด ทุกคนจะปลอดภัยถ้าปฏิบัติตามนี้
ในภาวะวิกฤตแบบนี้ต้องสื่อสารให้เข้าใจง่าย ชัดเจน ตรงประเด็น จำง่าย ตบทีเดียวอยู่ คนฟังรู้ว่าต้องทำอะไรและต้องไม่ทำอะไร ที่สำคัญ ต้องทำให้คนฟังรู้ถึงความจริงจังของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น เพราะเมื่อเขาสัมผัสได้ว่ามันจริงจังและมีผลกระทบกับชีวิต เขาจะไม่ประมาท
Link : https://youtu.be/lNm31rnJauU
ในแถลงการณ์ของ Angela Markel นายกฯ ของประเทศเยอรมัน ที่กล่าวถึงความรุนแรงของโควิด-19 นั้น เต็มไปด้วยเรื่องเล็กๆ แต่มีผลต่อความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ เมื่อพูดถึงผลกระทบความรุนแรงของโควิด-19 แทนที่จะอธิบายด้วยตัวเลขผลกระทบทางเศรษฐกิจ Angela พูดถึงความรุนแรงในแง่ “ความรู้สึก” ซึ่งเชื่อมโยงกับคนได้มากกว่า เช่น บอกว่า “พวกเราเป็นล้านคนไม่สามารถไปทำงานได้ ลูกๆ ของเราไม่สามารถไปโรงเรียนได้ โรงภาพยนตร์และโรงละครปิด และสิ่งที่ดูจะยากที่สุดสำหรับพวกเราก็คือ เราทุกคนคิดถึงการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน การได้เจอหน้ากันอย่างที่ปกติได้ทำกัน” ซึ่งความรู้สึกที่คนไม่ได้เจอหน้ากันแบบปกตินี่แหละครับที่เชื่อมโยงกับคนฟังได้มากกว่าการอธิบายด้วยตัวเลขเป็นไหนๆ เพราะมันพูดถึงสิ่งที่คนฟังรู้สึกสั่นสะเทือนอยู่ข้างในไม่เพียงเท่านั้น ในแถลงการณ์ของ Angela Markel ยังขอบคุณบุคคลที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ชีวิตของประชาชนยังดำเนินได้เป็นปกติแต่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงและให้ความขอบคุณเท่าไร นั่นคือ
คนที่กำลังนั่งอยู่ที่โต๊ะคิดเงินและคอยเติมสินค้าบนชั้นซูเปอร์มาร์เก็ต พวกเขาคือคนที่กำลังทำงานหนักที่สุดในเวลานี้เหมือนกัน ขอบพระคุณที่อยู่เคียงข้างประชาชน และทำให้ร้านค้ายังดำเนินธุรกิจต่อไปได้ Angela Markel กล่าว
Angela ยังทำให้แถลงการณ์ที่เป็นทางการแบบนี้เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก โดยเปรียบเทียบ Social Distancing ว่าเป็นการแสดงออกถึงความห่วงใยกันและกันด้วย เราต้องอยู่ไกลกันเพราะเราเป็นห่วงกัน พอเปรียบเทียบว่า Social Distancing เท่ากับความห่วงใยที่เรามีให้กันได้แบบนี้ มันเข้าไปอยู่ในใจของคนได้มากกว่าการยัดข้อเท็จจริงทื่อๆ ใส่หัวคนฟังอีกครับ
ผู้นำที่ดีจะให้ความสำคัญกับเรื่องเล็กๆ และทำเรื่องเล็กๆ ให้เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่มีคุณค่าแบบนี้แหละครับ
Link : https://youtu.be/F9ei40nxKDc
ในแถลงการณ์ของ Angela Markel นายกฯ เยอรมัน แม้จะพูดถึงผลกระทบความรุนแรงของโควิด-19 ในฐานะภัยที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ Angela พูดไว้อย่างทรงพลังมากครับว่า
“ไม่มีใครไร้ค่าพอที่จะปล่อยให้เกิดการสูญเสีย ทุกคนมีคุณค่า การแก้ปัญหานี้ต้องการความร่วมมือจากพวกเราทุกคน นั่นคือสิ่งที่โรคระบาดครั้งนี้กำลังบอกเราว่าพวกเรามีความเปราะบางเพียงใด ว่าเราต้องพึ่งพาอาศัยกันมากแค่ไหน ว่าเราต้องคำนึงถึงพฤติกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อกันและกันเพียงใด และเมื่อเราร่วมมือกัน เราจะสามารถปกป้องกันและกัน และทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นไปด้วยกัน” --- “ไม่มีใครไร้ค่าพอที่จะปล่อยให้เกิดการสูญเสีย” คำนี้ทรงพลังมากจริงๆ ครับ
Jacinda Ardean นายกรัฐมนตรีประเทศนิวซีแลนด์ เป็นผู้นำอีกคนที่ผมประทับใจ และขอฝากตัวเป็น FC ด้วยคน Jacinda เลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบ “Go hard and go early” คือล็อกดาวน์ประเทศตั้งแต่จำนวนผู้ติดเชื้อยังน้อยเพื่อให้ทุกคนกักตัวอยู่ที่บ้าน ทำให้สถานการณ์ไม่ลุกลาม ซึ่ง Jacinda เองบอกว่า ครั้งหนึ่งอิตาลีก็เคยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเท่ากับนิวซีแลนด์ในตอนนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น รีบจัดการก่อนที่จะสายดีกว่า และ Jacinda มักจะใช้คำว่า “ทีมที่มีสมาชิกอยู่ 5 ล้านคน” เป็นการบอกว่าประชาชนนิวซีแลนด์ทุกคนคือทีมเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกันคือพาประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ให้ได้
กระนั้น แม้วิกฤตครั้งนี้จะรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศนิวซีแลนด์ แต่ Jacinda เน้นย้ำสิ่งสำคัญกับประชาชนว่า “Be kind” แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤตที่ชีวิตยากลำบาก แต่เราต้องไม่ลืมความอ่อนโยนของตัวเอง เพราะมนุษย์จะแข็งแกร่งที่สุดเมื่อเราพึ่งพาอาศัยดูแลกันและกัน เราไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว และต้องไม่ทำให้วิกฤตตครั้งนี้มาเปลี่ยนแปลงความงดงามในจิตใจมนุษย์
หนึ่งในแถลงการณ์ของ Jacinda ที่ผมประทับใจที่สุดคือ เมื่อ Jacinda กล่าวกับประชาชนว่า “จากนี้ ดิฉันขอให้ชาวนิวซีแลนด์ทำสิ่งที่เราทำได้ดีมากกันอยู่แล้ว เราคือประเทศที่มีความคิดสร้างสรรค์ ลงมือทำจริง และห่วงใยสังคม พวกเราอาจจะไม่เคยเจอประสบการณ์แบบนี้มาก่อนในชีวิตของเรา แต่ในเมื่อเรารู้วิธีที่จะร่วมมือกัน และรู้วิธีที่จะดูแลกันและกันอยู่แล้ว แล้วจะมีอะไรสำคัญในสถานการณ์แบบนี้ไปกว่าการรู้จักร่วมมือกันและดูแลกัน ขอบพระคุณในสิ่งที่คุณกำลังจะทำต่อไปจากนี้ โปรดเข้มแข็ง มีน้ำใจให้กันและกัน และรวมเป็นหนึ่งเดียวเพื่อสู้กับโควิด-19”
ถ้า “อ่านระหว่างบรรทัด” ดีๆ จะเห็นว่า Jacinda กำลังขอความร่วมมือจากประชาชนด้วยวิธีการพูดที่ทรงพลังมากครับ เพราะ Jacinda บอกว่าสิ่งที่ขอนี้เป็นสิ่งที่ชาวนิวซีแลนด์ทำได้ดีมากอยู่แล้ว อยู่ในสายเลือดของคนนิวซีแลนด์อยู่แล้ว นั่นคือการร่วมมือกันและดูแลกัน มันคือการร้องขอในสิ่งที่ผู้พูดชี้ให้เห็นว่ามีอยู่ในตัวผู้ฟังอยู่แล้ว ไม่ได้ยากเย็นอะไร และเมื่อทุกคนมีสิ่งนั้นอยู่แล้วและใช้มันให้เป็นประโยชน์โดยเฉพาะในเวลานี้ เราก็จะผ่านวิกฤตไปได้ --- เป็นสปีชที่ดีมากจริงๆ ครับ
เช่นเดียวกับการปรากฏตัวทุกครั้งของ Jacinda ที่ยังคงมีรอยยิ้มให้ทุกคนได้เสมอแม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก รอยยิ้มนี้เองที่เป็นการบอกว่าผู้นำมีความเชื่อมั่นแค่ไหนว่าจะฝ่าวิกฤตไปได้ และเป็นการส่งพลังกำลังใจให้คนรอบข้างไปด้วย
การสื่อสารในภาวะวิกฤตนี้ ผู้นำที่ดีต้องบอก “ข่าวร้าย” ที่เป็นความจริงให้คนทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ปัญหาร้ายแรงแค่ไหน สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นคืออะไร และพวกเขาต้องทำอะไรบ้างอย่างชัดเจน แต่สิ่งสุดท้ายและเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้นำต้องไม่ลืมคือ การทำให้คนรู้สึกมีความหวังแม้ในเวลาที่ยากลำบาก เพราะความหวังจะทำให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อเพื่อเจอสิ่งที่ดีขึ้น มีกำลังใจที่อยากจะร่วมมือกันปกป้องและทำประโยชน์ให้คนอื่นต่อไป
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่ผมนำมาแบ่งปันกับทุกท่าน ยังมีบทเรียนอีกมากมายจากผู้นำที่มีให้เราเห็นทุกวันจากทั่วโลก ผมเชื่อว่า วิกฤตโควิด-19 เป็นห้องเรียนชีวิตจริงให้เราได้เห็นตัวอย่างของผู้นำที่ดี ได้เรียนรู้จากพวกเขา ได้ซึมซับรับพลังบวกจากพวกเขา และนำไปใช้กับชีวิตของเราให้สร้างองค์กรที่ดีขึ้น สังคมที่ดีขึ้น โลกที่ดีขึ้นได้ครับ แล้ววันหนึ่ง สิ่งที่เราทำอาจเป็นบทเรียนและเป็นพลังใจให้คนอื่นๆ เหมือนกันกับที่เราได้จากผู้นำเหล่านี้ในวันนี้ครับ
Link : https://youtu.be/AvRuYrH5rjs
บทความโดย “ท้อฟฟี่ แบรดชอว์” หรือ ชญาน์ทัต วงศ์มณี เป็นนักเขียนเรื่องชีวิตมนุษย์ออฟฟิศในเพจ “ท้อฟฟี่ แบรดชอว์” และดำรงตำแหน่ง VP Content Management ที่ SCB
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด