ผ่านเกือบครึ่งทางแล้วกับซีรีส์ Start-up ที่ทั้ง 6 EP. นั้นมีความเข้มข้นและน่าติดตามเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องราวชีวิต ความสัมพันธ์ของทุกตัวละคร และการแข่งขันใน Sandbox ก็เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การคัดเลือก CEO ของทีม การคัดเลือกสมาชิกทีม การแข่ง Hackathon เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ และการ Pitching นำเสนอแผนธุรกิจที่ได้สร้างมาเพื่อเงินทุนและการไปต่อในการแข่งขันนี้
ในการแข่งขันแน่นอนว่าจะมีศัพท์มากมายเกี่ยวกับ Startup เราจึงได้ทำการรวบรวมศัพท์ที่พบเจอในทั้ง 6 EP. นี้มาอธิบายเพิ่มเติม พร้อมทั้งเก็บตกฉากที่มีการพูดถึงศัพท์เหล่านี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่มากขึ้น เพิ่มความสนุกและอรรถรสในการรับชมซีรีส์เรื่องนี้ต่อไป (ในบทความนี้อาจจะมีการเปิดเผยเนื้อหาในเรื่องบางส่วน)
Startup เป็นการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีหรือแนวคิดใหม่ๆ เข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งจะแตกต่างจาก SME ตรงนี้เน้นไปที่การแก้ปัญหา (pain point) ที่มีอยู่ และเป็นโมเดลธุรกิจที่เน้น "การเติบโตได้อย่างรวดเร็ว"
อ่านเพิ่มเติมที่ รู้จักธุรกิจ Startup เพิ่มเติมได้ที่ Startup Guide
Sandbox คือ พื้นที่สำหรับการทดสอบเทคโนโลยี โดยในซีรีส์ Start-Up เป็นสถานที่หลักของการดำเนินเรื่องของตัวละคร ที่เป็นพื้นที่ให้คนที่มีความฝันในการเป็นผู้ประกอบการสามารถเข้ามาเพื่อทดลองทำธุรกิจได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นเหมือนสนามเด็กเล่นสำหรับผู้มีไอเดียในการเริ่มต้นธุรกิจ ส่วนทำไมต้องเป็นการเล่นชิงช้าบนพื้นทรายนั้น ในตอนหนึ่งของซีรีย์ได้มีการอธิบายไว้ว่า
ถ้ามองไปที่สนามเด็กเล่นจะมีการเทพื้นทรายเพื่อไม่ให้เด็กๆเจ็บตอนหกล้ม ดังนั้นในการเริ่มทำธุรกิจก็เช่นกัน เพื่อเป็นการบอกผู้ประกอบการว่า อย่าเจ็บปวดแม้ธุรกิจจะล้มเหลว-ยุนซอนฮัก ประธาน Sandbox และ SH Venture Capital ในซีรี่ย์ Start-Up กล่าว
หากจะอธิบายตามนิยามที่ในซีรีส์ Start-Up ได้ให้ความหมายไว้ คือ นักลงทุนที่ให้คำแนะนำทางธุรกิจและสนับสนุนเงินให้ Startup ที่เพิ่งเริ่มต้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนอิสระที่ใช้เงินส่วนตัวในการลงทุน สำหรับการเข้ามามีบทบาทกับ Startup นั้นขึ้นอยู่กับการตกลง บ้างก็เข้ามามีส่วนร่วมมาก บ้างก็ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยว แต่ส่วนใหญ่แล้วนักลงทุนประเภทนี้จะเข้ามาช่วยให้เรื่องของการปั้นธุรกิจเกิดใหม่ให้เติบโต โดยที่ไม่ได้มองแค่ผลตอบแทนจากการลงทุนเพียงอย่างเดียว
Venture Capital หรือ VC คือ แหล่งเงินทุนอีกรูปแบบหนึ่งของการทำธุรกิจที่นอกเหนือจากสถาบันการเงิน ซึ่งดำเนินในรูปแบบของบริษัทเงินร่วมลงทุน โดยจะเป็นการลงทุนในธุรกิจที่มีความต้องการเงินเพื่อไปขยายธุรกิจต่อ อย่าง Startup ที่มีเทคโนโลยี และ แผนธุรกิจที่น่าสนใจ สามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าได้ในอนาคต ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดจากซีรีส์ Start-Up ที่เมื่อ Samsan Tech ชนะการแข่งขันที่ต่างประเทศ ก็มี VC หลายเจ้าเดินทางมาเพื่อพูดคุยและขอดูแผนธุรกิจของเทคโนโลยีที่พวกเขาทำและประเมินความคุ้มค่าที่จะลงทุน
โดยส่วนใหญ่ VC จะเข้ามามีบทบาทกับ Startup ตั้งแต่ในรอบการระดมทุนระดับ Series A เป็นต้นไป ซึ่งนอกจากเงินทุนแล้ว VC ยังให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ Startup ในการปลุกปั้นธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้น VC ก็จะหาจังหวะ Exit ทำกำไรด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การขายให้กับบริษัทขนาดใหญ่ การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นต้น
LP (Limited Partner) ถือเป็นผู้ที่ให้เงินแก่ Venture Capital (VC) ซึ่งอาจจะเป็นในรูปแบบของหน่วยงาน หรือบุคคลก็ได้ เมื่อได้รับเงินทุนมาแล้วหน้าที่ของ VC คือนำเงินไปบริหารจัดการลงทุนใน Startup เพื่อสร้างผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 6-10 เท่าจากการลงทุนในระยะเวลา 5-10 ปี ดังนั้นการลงทุนใน Startup จึงถือเป็นทางเลือกในการลงทุนอาจจะมีความเสี่ยงสูงมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ผลตอบแทนที่สูงมากเช่นกัน
ดังเช่นในซีรีส์ Start-Up ฉากหนึ่งที่พระรองกำลังนั่งประชุมกับทีมในการดูโมเดลธุรกิจของ Startup ที่มี Product เป็นลำโพงอัจฉริยะยองชิล แล้วมีการแผนของการสร้างผลตอบแทนที่ไม่ชัดเจน จึงทำให้ไม่มีการลงทุนใน Product นั้น ๆ ได้ เพราะอย่างที่บอกว่า เป้าหมายของ VC คือการทำกำไร สร้างผลตอบแทนจากเงินทุนนั่นเอง
(อ่านเรื่องราวแนวคิดการลงทุนใน Startup ของนักลงทุนระดับโลก เพื่อเข้าใจบริบทของ Limited Partner มากขึ้นได้ที่บทความนี้ )
Round หรือลำดับขั้นการเติบโตของธุรกิจที่อิงจากการได้รับเงินระดมทุน ซึ่งก็จะเริ่มต้นตั้งแต่ seed round หรือ Startup ระดับ seed หมายถึง บริษัทที่อยู่ระหว่างการค้นหาความลงตัวของ product ซึ่งจะเป็น Startup ที่อยู่ในระดับเริ่มต้นมาก ๆ และกำลังสร้างตลาด และมีพนักงานเพียงไม่กี่คน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเท่านั้น และผู้ที่จะให้เงินทุนสนับสนุน Startup ระดับนี้ส่วนใหญ่จะเป็น Angel Investor นั่นเอง
ต่อมาก็จะเป็นระดับ Series A โดย Startup ที่จะได้รับเงินระดมทุนในระดับนี้จะอยู่ในช่วงที่ต้องการขยายตลาด หรือฐานผู้ใช้เพิ่มมากขึ้น และนำเงินมาพัฒนา Product เพื่อให้สอดรับกับโมเดลธุรกิจที่วางไว้ หลังจากนั้นก็จะเป็น ระดับ Series B จะเป็นการขยายการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งอาจจะเป็นการขยายตลาดให้กว้างขึ้นในต่างประเทศ หรือ ระดับภูมิภาค หรือจะเป็นการซื้อบริษัทอื่นๆที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจก็สามารถทำได้ ต่อมาจะเป็นระดับ Series C D ..... ก็จะเป็นการขยายบริษัทให้เติบโตต่อไปเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตามในซีรีส์ Start-Up ได้มีการพูดถึง Pre-Series A ไว้ด้วย ซึ่งอาจจะเป็นการคาบเกี่ยวกันระหว่าง ระดับ Seed และ Series A ซึ่งจริงๆแล้ว Pre-Series A ก็ไม่ต่างอะไรกับระดับ Seed แต่เป็นขั้นของการที่อยู่ระหว่างพูดคุยหรือทำสัญญากับนักลงทุนที่จะมาลงทุน ดังที่พระรอง อย่าง ฮันจีพยองจาก SH Venture Capital ให้ความสนใจ กับ Samsan Tech ในงาน Networking Party นั่นเอง
Term Sheet หรือ เอกสารที่ระบุเงื่อนไขทางธุรกิจ เป็นข้อตกลงที่นักลงทุนจัดทำขึ้นเพื่อเป็นการกำหนดโครงและเป้าหมายในการลงทุน ซึ่งก็จะมีรายละเอียดต่างๆที่จะนำไปสู่ความผูกพันทางธุรกิจระหว่างกัน โดยแรกเริ่มอาจจะมีออกมาเป็นฉบับร่างเพื่อการเจรจาต่อรองระหว่างนักลงทุนกับ Startup ก่อน
และถ้าจะอธิบายต่อจากฉากในซีรีส์ Start-Up ในงาน Networking Party นั้น ถ้านักลงทุนมีการพูดถึง Term Sheet กับ Startup รายใดก็ตามมีความเป็นไปได้สูงมากว่าจะมีโอกาสได้รับเงินระดมทุน ซึ่งถือเป็นคำที่บ่งชี้ถึงความสำเร็จในระยะเบื้องต้นตามลำดับขั้นของธุรกิจได้เช่นกัน
Accelerating Center ในซีรีย์ (ในวงการ Startup จะรู้จักกันในคำว่า Accelerator) คือ สถาบันช่วยเหลือการลงทุน อบรม และสร้างเครือข่ายให้กับเหล่า Startup ที่มีความฝันและมีความสามารถทุกคน ซึ่งในซีรีส์เรื่องนี้ Sandbox นั้น ก็เป็น Accelerating Center ที่ให้เหล่า Startup มาทำตามความฝัน มีเป้าหมายเพื่อการเป็นศูนย์บ่มเพาะ Startup ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยการเข้าร่วมไม่จำกัดว่าจะมาเป็นทีม หรือมาเพียงคนเดียว ทุกคนสามารถเข้าร่วมเพื่อสร้างทีมที่มีความสนใจตรงกันได้ และที่นี่จะมี Startup รุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จคอยช่วยเหลือแนะนำรุ่นน้อง เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่มีให้ประสบความสำเร็จในธุจกิจที่ฝัน
Accelerator ในไทยที่โด่งดังได้แก่ dtac accelerate
Hackathon มาจากคำ 2 คำ คือ Hacking และ Marathon เป็นคำที่เริ่มใช้ในกิจกรรมของเหล่า Programmer ในการแข่งขันการพัฒนาโปรแกรมภายในเวลาอันรวดเร็ว ปัจจุบันได้มีบริบทที่นำมาใช้กับการทำธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะ Startup สำหรับกิจกรรมดังกล่าวนั้นเป็นการจัดเพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันรวมทีมกันเพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ผ่านการระดมไอเดีย หา Solution ต่าง ๆ เพื่อแก้ Pain point ตามโจทย์ที่ได้รับ ให้เกิดขึ้น และนำไปใช้ต่อยอดได้จริงภายในเวลาอันจำกัด
ปัจจุบันการจัด Hackathon ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากทั้งภาครัฐบาล และภาคเอกชน โดยเฉพาะองค์กรที่ต้องการพัฒนาหรือสนับสนุนให้พนักงานทำธุรกิจ Startup เพื่อค้นหา Product ใหม่ๆ ในการเข้ามาช่วยแก้ Pain point ที่องค์กรต้องพบเจอ หรือการหา Product ใหม่ เพื่อช่วยองค์กรสร้างธุรกิจที่สามารถเป็น New S-Curve ได้ในอนาคต ซึ่งเป็นกิจกรรมที่องค์กรสามารถจัดเพื่อการเพิ่มทักษะให้กับพนักงานภายในได้
ตัวอย่าง Hackathon ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยร่วมจัดงานโดย Techsauce เช่น Thailand Smart City Week 2020 Hackathon , ASEAN Startup Hackathon
Pitching คือ การนำเสนอแผนธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอในการแข่งขัน หรือว่าการนำเสนอต่อหน้านักลงทุนก็ตาม สำหรับ Startup แน่นอนว่าการเดินทางในการพัฒนา Product ให้มีความลงตัว และสร้างโมเดลธุรกิจที่สามารถนำไปใช้ได้จริงนั้นต้องผ่านความยากลำบากมาอย่างมาก แต่สิ่งที่สำคัญในการที่จะทำให้ธุรกิจไปต่อได้ก็หนีไม่พ้นเงินทุน ดังนั้นการ Pitching นั้นจะเป็นโอกาสที่จะทำให้ Startup ได้รับเงินทุนและก้าวสู่เป้าหมายอย่างมั่นคงและรวดเร็ว
อ่านเพิ่มเติม Pitch อย่างไรให้สำเร็จ มาดูแนวทางการ Pitch ที่ Startup ทั้งใหม่และเก๋าต้องรู้
หัวหน้าของทีม Startup เป็นผู้ที่คอยดูแลจัดการเรื่องต่างๆ อาจไม่ใช่คนที่เก่งเป็นเลิศที่สุดในทุกด้าน แต่บทบาทของหัวหน้าคือการสร้างแรงบันดาลใจ เป็นที่เชื่อมั่นและที่พึ่งพา คอยผสานคนในทีมให้เป็นหนึ่งเดียวกัน อย่างในซีรีส์ ที่นางเอกของเรา ซอดัลมีได้เป็น CEO ถึงแม้เธอจะไม่ได้เก่งในการเขียนโปรแกรม แต่เธอสามารถจัดการเรื่องต่างๆ และสามารถตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างเฉียบขาด
ตำแหน่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ เป็นผู้ดูแลในส่วนของเทคโนโลยี ผู้นำไอเดียต่างๆมาเขียนโปรแกรม สร้างให้เกิดเป็นสิ่งที่จับต้องได้ สำหรับซีรีส์เรื่องนี้ นัมโดซานได้รับตำแหน่ง CTO จากที่เขาเป็นคนเก่งและมีความสามารถในการเขียนโปรแกรมเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการแก้ไขการถูกแฮคเข้าระบบของธนาคาร การชนะรางวัลจากต่างประเทศด้วยการสร้าง AI และสำหรับการแข่งขันนี้เขาได้สร้างและพัฒนาต่อยอดจากไอเดียของคนในทีม แก้ปัญหาในด้านโปรแกรม ให้เทคโนโลยีที่มีสามารถสร้างโมเดลธุรกิจได้อย่างราบรื่น
ผู้บริหารด้านการเงิน เป็นผู้ควบคุม วางแผนด้านการเงินของธุรกิจ วางแผนในด้านการระดมทุนต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจมีเงินทุนหมุนเวียน และประเมินสถานการณ์ให้ธุรกิจได้รับกำไรตามที่หวัง
นักการตลาด ผู้ที่มีไอเดียและกลยุทธ์ในการนำเสนอ ซึ่ง Startup นั้นจะต้องรู้ว่า ธุรกิจที่กำลังทำนั้นมีความโดดเด่นและแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร เพื่อให้เทคโนโลยีและธุรกิจในมือประสบความสำเร็จ กลยุทธ์การนำเสนอจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่ทำให้ผู้บริโภคสนใจและติดตามต่อไป
Silicon Valley ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องของการเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลก และเป็นที่ตั้งของสำนึกงานใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกอย่าง Google Facebook Twitter Apple Microsoft Amazon เป็นต้น สำหรับอาณาจักรแห่งนี้ถือเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจด้านเทคโนโลยีสูงมาก จนถึงขนาดที่ว่ามีมูลค่าทางการเงินคิดเป็น 1 ใน 3 ของ VC ทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ในพื้นที่ของ Silicon Valley นั้นยังมีการสร้างระบบนิเวศน์ (ecosystem) ที่เอื้อต่อการเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ สูงมาก รวมถึงเป็นที่บ่มเพาะบุคคลผู้ทรงอิทธพลในการเปลี่ยนแปลงโลกมากมาย จึงทำให้อาณาจักรแห่งนี้เป็นฝันของเหล่า Startup ทั่วโลกที่ต้องการเข้าไปทำงานหรือ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทที่ตั้งอยู่ที่นั่น
(อ่านเรื่องราวที่จะทำให้คุณรู้จัก Silicon Valley มากขึ้นได้ที่นี่ )
ในซีรีย์ Start-Up หลายคนอาจจะยังสงสัยในสิ่งที่ Samsan Tech ทำคืออะไร แล้วจะนำไปใช้อะไรในธุรกิจ Startup สำหรับสิ่งที่นัมโดซาน และเพื่อนผู้ร่วมก่อตั้งทั้ง 2 คน ได้กำลังพัฒนาอยู่นั้นก็คือ AI (Artificial Intelligence) หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นระบบประมวลผลที่สามารถวิเคราะห์เชิงลึกผ่านการเรียนรู้จากข้อมูล (Data) ได้ หรือพูดง่าย ๆก็คือ เครื่องจักรที่มีความสามารถในการเรียนรู้
โดย AI จะสามารถทำงานได้หลากหลายรูปแบบ ความฉลาดและความแม่นยำของมันจะขึ้นอยู่กับปริมาณของข้อมูล โดยองค์ประกอบสำคัญภายในกระบวนการเรียนรู้ของ AI นั้นคือ Machine Learning (ML) เป็นการสอนอัลกอริทึมให้เรียนรู้ทำความเข้าใจและตัดสินใจได้ด้วยตัวเองจากข้อมูลที่ป้อนให้
ส่วน Deep Learning หรือ อัลกอริทึมที่มีกระบวนการเรียนรู้เชิงลึก ผ่านการสร้างโครงข่ายประสาทเทียม ซึ่งเป็น Algorithm ที่สร้างเพื่อเลียนแบบการประมวลผลในสมองของมนุษย์ โดยโครงข่ายเหล่านี้มีเซลล์ประสาทที่เชื่อมต่อกันเป็นระบบประสาทและสื่อสารกัน โดยใช้วิธีประมวลผลแบบขนาน (parallel processing) เพื่อทำให้มันสามารถเข้าใจและเรียนรู้จากข้อมูลจำนวนมากที่ได้รับอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการนำ AI ไปประยุกต์ใช้กับการทำงานในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การทำงานซ้ำ ๆ โดย AI จะสามารถเรียนรู้ผ่านรูปแบบ (Pattern) จากข้อมูลที่มีอยู่ นอกจากนี้ยังมีการนำ AI ไปใช้ในแง่ของการคัดแยก คัดเลือก หรือแม้กระทั่งการคาดการณ์ โดยในปัจจุบันเป็นเทคโนโลยีที่เป็นหนึ่งในองค์ประกอบการทำธุรกิจของ Startup ที่จะใช้เทคโนโลยีอย่าง AI มาเป็นพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจเพื่อการต่อยอด และนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้
(อ่านเรื่องราวของ AI , Machine Learning และ Deep Learning ฉบับเข้าใจง่ายได้ที่บทความนี้)
ผ่านมาไม่ถึงครึ่งทางแต่คำศัพท์ต่างๆของวงการ Startup นั้นก็มีให้ได้ทำความเข้าใจจำนวนไม่น้อยเลย แถมยังเป็นคำศัพท์ที่มีความสำคัญมากในแวดวงธุรกิจอีกด้วย เรื่องราวในซีรีส์ก็กำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จากการแข่งขันที่ผ่านการ Pitching นำเสนอแผนธุรกิจ จนได้รับเงินลงทุนก้อนแรกเป็นที่เรียบร้อย เรื่องราวต่อไปจะเป็นเช่นไร จะมีคำศัพท์ของธุรกิจ Startup คำไหนเพิ่มขึ้นมาให้ได้เรียนรู้ ติดตามกันได้ที่ Techsauce ที่นี่ ที่เดิม
อ่านเพิ่มเติม : สรุปภาพรวมการลงทุนใน Startup ไทย (เดือนมกราคม -ตุลาคม 2563)
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด