วิธีที่ Satya Nadella ปฏิวัติ Microsoft ให้พนักงานมีความสุข บริษัทกลับมายิ่งใหญ่เท่า Apple | Techsauce

วิธีที่ Satya Nadella ปฏิวัติ Microsoft ให้พนักงานมีความสุข บริษัทกลับมายิ่งใหญ่เท่า Apple

หากพูดถึงบริษัทในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ Microsoft คงอยู่ในลิสต์บริษัทต้นๆ ที่หลายคนรู้จักและอยากร่วมงานด้วย แต่รู้หรือไม่ว่า Satya Nadella เป็นผู้ที่ทำให้ Microsoft กลับมาเฉิดฉายอีกครั้งจนถึงขั้นบริษัทมีมูลค่าพุ่งแซงคู่แข่งอย่าง Apple ในปี 2018 และเทียบเท่า Amazon แม้ว่าจะเข้าตลาดช้ากว่าหลายปี จนกลายเป็นหนึ่งในผู้นำด้าน Cloud Computing ระดับโลก ซึ่งเคล็ดลับความสำเร็จส่วนหนึ่งของ Microsoft นั้นมาจากการที่ Satya Nadella ปฏิวัติวัฒนธรรมองค์กรใหม่จนฟื้นกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง บทความนี้จะพาไปดูเคล็ดลับกลยุทธ์การสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ภายใต้การนำของ Satya Nadella

 Satya Nadella

หัวใจสำคัญของวัฒนธรรมองค์กร Microsoft คือ ‘Growth Mindset’

Microsoft ภายใต้ยุค Satya Nadella ได้เน้นย้ำถึงการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ พูดง่ายๆ ก็คือ การปลูกฝัง Growth mindset ให้กับพนักงาน โดย Nadella เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างภาวะผู้นำให้กับพนักงานทุกระดับ และทำให้พนักงานสามารถรับมือกับวิกฤติต่างๆ ได้ ซึ่งแนวคิดนี้สะท้อนออกมาให้เห็นผ่านโปรแกรมต่างๆ ของ Microsoft ดังนี้

  • Hackathon – Microsoft เปิดโอกาสให้พนักงานก้าวออกมาจากการทำงานประจำ และพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำผ่านการจัด Hackathon ประจำปี โดยการให้พนักงานในฝ่ายต่างๆ ที่มีความสนใจเหมือนกันสมัครเข้ามาอยู่ทีมเดียวกัน เพื่อพัฒนาแผนธุรกิจ และนำเสนอให้กับบริษัท ทีมที่ชนะก็จะได้รับเงินทุนเพื่อพัฒนาโปรเจกต์นั้นให้สำเร็จ

  • High-risk project – Microsoft สนับสนุนพนักงานให้ทำโปรเจกต์ที่มีความเสี่ยงสูง อีกทั้งยังให้รางวัลในการลองผิดลองถูกนี้ ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม เพียงแค่ต้องมีข้อมูลเชิงลึกที่จะขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้า ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ โปรเจกต์ Hololens เป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาผ่านการร่วมมือกับ NASA ซึ่งมีโอกาสล้มเหลวสูงมาก แต่สุดท้าย Microsoft ก็ได้เปิดตัว Hololens ออกมาจำหน่าย สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้พนักงานได้พัฒนาทักษะความเป็นผู้นำได้ผ่านการกล้าเสี่ยงลองผิดลองถูก 

  • Talent program – Microsoft สร้างโปรแกรมที่เรียกว่า Talent Talks โดยในแต่ละปีซีอีโอและทีมผู้บริหารจะเข้าไปพูดคุยกับหัวหน้าของแต่ละฝ่าย เพื่อหารือเกี่ยวกับการย้ายพนักงานหรือการทำงานข้ามทีม รวมถึงหาวิธีพัฒนาทักษะให้กับพนักงานด้วย 

การให้พนักงานทุกระดับพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ ทำให้องค์กรสร้างผู้ที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ อีกทั้งยังเป็นการดึงคนเก่งๆ ที่เห็นวัฒนธรรมองค์กรแล้วอยากเข้ามาทำงานได้ด้วย เรียกได้ว่าเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว นี่จึงเป็นเคล็ดลับอย่างหนึ่งที่ทำให้ Microsoft เติบโตและผ่านอุปสรรคมาได้จนถึงทุกวันนี้

Flexible Working เทรนด์การทำงานที่กำลังมาแรง

สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจสงสัยคือ เราจะสร้างสมดุลเรื่องความยืดหยุ่นได้อย่างไร เมื่อบางคนบางคนต้องการทำงานที่บ้าน แต่บางคนกลับต้องการเข้าออฟฟิศและมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้ Microsoft จึงสร้างบรรทัดฐานใหม่ขึ้นมา นั่นคือ การให้อำนาจเมเนเจอร์แต่ละทีมในการตัดสินใจ โดยการดูว่าคนในทีมมีเงื่อนไขในชีวิตแบบไหน และพิจารณาจากบริบทของสิ่งที่ทีมนั้นพยายามจะทำให้สำเร็จด้วย เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่สามารถใช้กับทีมนั้นได้จริงๆ เช่น ถ้าคนในทีมมีลูกเล็กที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ก็สามารถทำงานทางไกลได้ 

สังคมทุกวันนี้มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของความคาดหวัง นิสัย หรือความต้องการในที่ทำงาน สิ่งเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เราสามารถออกแบบพื้นที่ให้ตรงกับความต้องการของทุกคนได้ เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพนักงานมีอำนาจมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง Great Resignation ทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองมีโอกาสและมีทางเลือก ทำให้องค์กรต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของพนักงาน สิ่งที่จะทำให้รักษาพนักงานไว้ได้มีอยู่ด้วยกัน 2 ประการ 

อย่างแรก เริ่มจากทางฝั่งเมเนเจอร์ มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “ไม่มีใครลาออกจากบริษัท พวกเขาลาออกจากเมเนเจอร์” พูดง่ายๆ ก็คือ สิ่งที่ทำให้ผู้คนลาออกไม่ใช่บริษัท แต่เป็นเพราะคนที่ต้องทำงานด้วย ดังนั้น Microsoft จึงช่วยให้เมเนเจอร์สามารถสรรหาและรักษาคนเก่งๆ เอาไว้ผ่านกรอบการทำงานที่เรียกว่า “Model Coach Care” โดยเมเนเจอร์จะต้องสวมบทบาทเป็นผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดใหญ่นี้

ต่อมาคือด้านพนักงาน Microsoft พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้พนักงานรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจองค์กรและเพื่อนร่วมงาน โดยการให้พัฒนาความสัมพันธ์ผ่านการทำงานร่วมกับทีมโดยตรง แม้ในช่วงการระบาดใหญ่ทางองค์กรก็นำเครื่องมือซอฟต์แวร์ต่างๆ เข้ามา ไม่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนในที่ทำงานขาดหายไป

จากการวิเคราะห์ข้อมูลใน Microsoft 365 ก็พบว่า คนในองค์กรมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นประมาณ 26% ไม่ว่าจะผ่านอีเมล การประชุม Teams และการสื่อสารประเภทอื่นๆ กับคนในทีม และอีกหนึ่งในซอฟต์แวร์ที่ใช้รักษาความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงานก็คือ Microsoft Viva เป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้พนักงาน เช่น การสื่อสาร การอัปเดทข่าวสารต่างๆ ในองค์กร หรือรวบรวมแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ ไว้

นอกจากนี้ Microsoft ยังเชื่อว่าการทำงานติดๆ กันเยอะเกินไปจะส่งผลต่อความสุขของพนักงาน ดังนั้นจึงไม่สนับสนุนการทำงานล่วงเวลาวันละหลายชั่วโมง อีกทั้งยังไม่สนับสนุนการประชุมหลายๆ ชั่วโมง โดยไม่ได้อะไรกลับมา เนื่องจากมีผลวิจัยชี้ให้เห็นว่าการประชุม 27 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จะทำให้ความสุขลดลง ทำให้ Microsoft ตัดสินใจไม่จัดประชุมขนาดใหญ่ที่มีคน 20-30 คน แต่มีคนพูดอยู่เพียงแค่ 2-3 คน ดังนั้นจึงให้พนักงานเข้าประชุมที่สำคัญๆ เท่านั้น เพื่อให้ทุกคนโฟกัสกับงานของตนเองได้อย่างเต็มที่

Microsoft เดินหน้าสู่ Metaverse สร้าง Digital Workplace 

ในโลกปัจจุบันคำกล่าวที่ว่า “ทุกบริษัทเป็นบริษัทเทคโนโลยี” คงอยู่ไม่ไกลนัก เนื่องจากประสบการณ์ดิจิทัลที่ไร้รอยต่อของพนักงานในองค์กรสำคัญพอๆ กับประสบการณ์ในโลกจริงๆ ของพนักงาน เพราะการระบาดใหญ่ก่อให้เกิดความกดดันในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาวะความเป็นอยู่ วัฒนธรรม และการฝึกอบรมต่างๆ

คำถามสำคัญที่ผู้นำขององค์กรต่างๆ ต้องเผชิญคือ เราจะสื่อสารและทำงานร่วมกันอย่างไรในสภาพแวดล้อมการทำงานแบบไฮบริดหรือระยะไกล ความต้องการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงผลักดันให้เกิดการสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนการทำงานให้กับทุกคน

หลายคนคงทราบกันดีว่าในปีที่ผ่านมามีปรากฏการณ์ Great reshuffle เกิดขึ้น ทำให้อัตราการลาออกและการเปลี่ยนงานสูงขึ้น หลายบริษัทจึงต้องหาวิธีใหม่ๆ เพื่อแย่งชิงผู้ที่มีความสามารถกับบริษัทอื่นๆ ซึ่งการสร้างสถานที่ทำงานที่มีสุขภาวะและวัฒนธรรมที่ดีก็เป็นเรื่องที่ตอบโจทย์ และหนึ่งในสิ่งที่จะทำให้องค์กรสามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้ก็คือ เทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่กำหนดประสบการณ์ของพนักงานในช่วงการทำงานที่ห่างไกลและไฮบริด

จากดัชนีแนวโน้มการทำงานในปี 2021 ของ Microsoft พบว่า 46% ของพนักงานกำลังย้ายที่อยู่ เพราะตอนนี้สามารถทำงานทางไกลได้ และจากการวิจัยโดย Qualtrics ก็ชี้ให้เห็นว่า พนักงาน 35% มีแนวโน้มที่จะหางานใหม่หากต้องกลับไปทำงานในออฟฟิศ ทำให้นายจ้างหลายๆ คนต้องปรับตัวตามความต้องการนี้ด้วย เมื่อแนวโน้มนี้ยังคงอยู่ เทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะส่งเสริมวัฒนธรรมในที่ทำงานและสร้างประสิทธิภาพในการทำงาน อีกทั้งยังสามารถรักษาคนเก่งๆ ขององค์กรเอาไว้ได้ จากงานวิจัยของ Qualtrics ก็พบว่า 85% มีแนวโน้มที่จะทำงานต่อเกิน 3 ปี หากรู้สึกว่ามีเทคโนโลยีที่สนับสนุนในที่ทำงาน

เมื่อพูดถึงเรื่องเทคโนโลยีแล้ว Microsoft เองก็มีเทคโนโลยีที่สนับสนุนการทำงานของพนักงานหลายอย่าง ซึ่งอย่างแรกที่กล่าวไปแล้วคือ Microsoft Viva และอีกอย่างหนึ่งคือ ในปีที่ผ่านมา Microsoft ได้จับมือ Meta เดินหน้าสู่ Metaverse เพื่อสร้าง Digital Workplace การสร้างความร่วมมือนี้ทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างฟีเจอร์ต่างๆ ของทั้งสองแอป ซึ่งจะทำให้พนักงานมีประสบการณ์ในการเชื่อมต่อสังคม ผู้คน และบริการการทำงานต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีล้ำสมัยได้ดียิ่งขึ้นต่อไปแน่นอน

Microsoft ติดอันดับบริษัทที่พนักงานมีความสุขที่สุด

Comparably ได้มีการจัดอันดับพนักงานที่มีความสุขที่สุดในแต่ละปี ซึ่งมีการพิจารณาถึง 70,000 บริษัทในสหรัฐอเมริกา และหาว่าบริษัทใดที่พนักงานมีความพึงพอใจกับสภาพแวดล้อมในการทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ และเป้าหมายของบริษัทมากที่สุด

การจัดอันดับนี้ขึ้นอยู่กับการให้คะแนนของพนักงานในเรื่องของการสร้างความสุขโดยรวมในที่ทำงาน เป็นเวลาถึงหนึ่งปี ตัวอย่างคำถามที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเช่น

  • สภาพแวดล้อมการทำงานดีหรือไม่ดี?

  • คิดว่าได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่?

  • พอใจกับสวัสดิการหรือไม่?

  • รู้สึกหมดไฟในการทำงานหรือไม่?

  • เป้าหมายของบริษัทชัดเจนหรือไม่ แล้วคุณเอาด้วยกับเป้าหมายนั้นหรือไม่?

  • รู้สึกตื่นเต้นในการไปทำงานแต่ละวันหรือไม่?

  • มีความคิดที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานหรือไม่?

  • รู้สึกภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทหรือไม่?

  • จากคะแนน 1-10 มีแนวโน้มที่จะแนะนำบริษัทให้กับเพื่อนเท่าไหร่?

จากข้อมูลทั้งในปี 2020 และปี 2021 พบว่า Microsoft ติดอันดับบริษัทที่พนักงานมีความสุขที่สุดทั้งสองปี โดยในปี 2020 อยู่อันดับที่ 3 และในปี 2021 อยู่อันดับที่ 5 นอกจากนี้ นิตยสาร Forbes ก็ได้จัดอันดับนายจ้างที่ดีที่สุด 750 บริษัท ผ่านการสำรวจความคิดเห็นของพนักงาน ซึ่งรวมทั้งพนักงานประจำและพนักงานพาร์ทไทม์ โดยคำถามก็คล้ายๆ กับคำถามของ Comparably เช่น จะแนะนำบริษัทให้กับเพื่อนเพื่อให้เข้ามาทำงานที่เดียวกันหรือไม่ และ Microsoft ก็ติดอันดับ 3 จากทั้งหมด 750 บริษัท ตัวเลขอันดับเหล่านี้ก็ชี้ไปในทางเดียวกันว่า Microsoft ให้ความสำคัญกับ ‘ผู้คน’ อย่างที่พูดไว้จริงๆ เพราะคะแนนทั้งหมดมาจากการประเมินโดยพนักงานขององค์กรเอง

แล้วความสุขของพนักงานเกี่ยวอะไรกับความสำเร็จขององค์กร? งานวิจัยโดย Christian Krekel, George Ward และ Jan-Emmanuel ชี้ให้เห็นว่า ความพึงพอใจของพนักงานมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับ Customer loyalty และมีความเชื่อมโยงเชิงลบกับการลาออกของพนักงานเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ความพึงพอใจของพนักงานยังมีความสัมพันธ์กับการมีประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้นและผลกำไรที่สูงขึ้นด้วย 

โดยงานวิจัยดังกล่าวอิงข้อมูลตาม Gallup ที่รวบรวมข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานเกือบ 1.9 ล้านคน 230 องค์กร ใน 73 ประเทศ และถึงแม้ว่าการวัดว่าบริษัทไหนเป็นนายจ้างที่ดีอาจเป็นเรื่องที่กำหนดได้ยาก แต่เราก็สามารถรับรู้ได้เมื่อเราอยู่ในบริษัทนั้นๆ เช่น แม้ว่าจะทำงานหนัก แต่บริษัทก็ให้เวลาพักฟื้นที่เพียงพอ หรือห้ามกลั่นแกล้งและล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน พูดง่ายๆ ก็คือ พนักงานได้รับการปฏิบัติเป็นเหมือนคนคนหนึ่ง ไม่ใช่สิ่งของที่ใช้เท่าไหร่ก็ได้โดยไม่เหลียวแล 

A Happier Company is a Healthier Company.


การสร้างวัฒนธรรมแห่งความสุข จะนำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่า พนักงานที่มีจุดมุ่งหมายและรู้สึกมีส่วนร่วมกับองค์กรถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ยิ่งใหญ่มากๆ สำหรับอนาคตขององค์กร เพราะความสุขจะนำไปสู่การมีประสิทธิภาพที่มากขึ้น ขาดงานน้อยลง ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพลดลง และสามารถรักษาพนักงานเก่งๆ ไว้ได้มากขึ้น ซึ่งหลักฐานก็มีให้เห็นแล้วว่าการที่ Microsoft ปฏิวัติวัฒนธรรมองค์กรใหม่โดยหันมาให้ความสำคัญกับผู้คน จนกลับมาแข็งแกร่งและเฉิดฉายได้อีกครั้ง และทุกวันนี้ Microsoft ก็มีมูลค่าบริษัทเป็นแค่ที่สองรองจาก Apple เท่านั้น

อ้างอิง CNBC (1) (2), Forbes, Inc., Economist, HBR (1) (2) (3)

ถึงเป็นธุรกิจเล็ก วัฒนธรรมองค์กรก็สำคัญ
เริ่มเปลี่ยนวันนี้ก่อนสาย

.
หากองค์กรของคุณกำลังเจอปัญหา … พนักงานหมดไฟ…ทุกการตัดสินใจล่าช้าเพราะต้องรอ CEO … พนักงานลาออกเยอะ แต่ไม่รู้สาเหตุ และอีกมากมายปัญหาในองค์กรที่คุณแก้ไม่ตก
.
Peoplesauce ช่วยธุรกิจ SMEs /Startups ที่กำลัง Scale up สร้าง “คน” และ“Culture” เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

เริ่มเปลี่ยนไปพร้อมกับเราได้ตั้งแต่วันนี้ที่

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำยังไง ถ้าไม่ได้เป็น ‘ลูกรัก’ เจ้านาย

‘ระบบลูกรัก’ ที่ฝังรากลึกในองค์กร เป็นอีกหนึ่งปัญหาช้างในห้อง (Elephant In The Room) ปัญหาใหญ่ที่คนส่วนใหญ่รับรู้ แต่ไม่มีใครอยากพูดถึง หรือพูดไม่ได้ ทำยังไงดี...

Responsive image

รู้จักประโยชน์ Reverse Mentoring ที่ให้คนรุ่นใหม่มาสอนผู้ใหญ่ในองค์กร

เมื่อนึกถึงการทำงานในองค์กรแล้วส่วนใหญ่คนที่อายุมากกว่าหรืออาวุโสจะต้องให้คำแนะนำรุ่นน้อง แล้วถ้ากลับกันลองให้รุ่นน้องเป็นคนแนะนำผู้ใหญ่บ้างจะเป็นอย่างไร?...

Responsive image

พนักงาน 47% ไม่คิดอยากเลื่อนขั้น เพราะต้องทำงานหนักกว่าเดิม

จากสำรวจล่าสุดพบว่ามนุษย์เงินเดือนไม่ต้องการเลื่อนขั้น เพราะต้องการความสุขและพึงพอใจในบทบาทปัจจุบัน มากกว่าต้องก้าวหน้าไปรับผิดชอบงานที่มากขึ้น...