ทั่วโลกปรับดอกเบี้ยครั้งใหญ่สู้เงินเฟ้อ ไทยรับมืออย่างไร | Techsauce

ทั่วโลกปรับดอกเบี้ยครั้งใหญ่สู้เงินเฟ้อ ไทยรับมืออย่างไร

อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสูงสุดในรอบ 13 ปี โดยเพิ่มขึ้นเป็น 7.1% จาก 5% ภายใน 1 เดือน เป็นการปรับตัวขึ้นที่รวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจระบบและยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอีก ด้านสหรัฐเองก็มีอัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 8.60% สูงสุดในรอบ 40 ปี ซึ่งเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นนั้นอยู่เหนือความคาดหมายของตลาดที่มองว่าเงินเฟ้อสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้วและมีแนวโน้มที่จะชะลอลง ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ผลักดันเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 ทั้งไทยและตลาดโลกยังคงมีสาเหตุเดียวกันกับระยะเวลาที่ผ่านมา คือมาจากราคาของอุปสงค์ที่เพิ่มมากขึ้น (Cost-push Inflation) เป็นผลมาจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน

โดยสินค้ากลุ่มพลังงานทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้าผันแปรต่างก็ปรับเพิ่มขึ้นมาก เมื่่อเทียบกับฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีที่แล้วที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากช่วงเวลานี้ของปีก่อนเป็นการปิดประเทศทำให้อุปสงค์ด้านพลังงานต่ำ อย่างไรก็ตามราคาข้าวสาร เครื่องนุ่งห่ม ค่าเช่าบ้าน ค่าเล่าเรียนยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.28% (YoY) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

สินค้าสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 7.10% 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการปรับตัวของค่าเงินเฟ้อครั้งใหญ่นี้มีที่มาจากกลุ่มพลังงานที่ปรับราคาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยกลุ่มพลังงานสูงขึ้น 37.24% โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับสูงขึ้น 35.89% ตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่วนค่ากระแสไฟฟ้าสูงขึ้น 45.43% ตามการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในรอบเดือนพฤษภาคม ถึง สิงหาคม 2565 และราคาก๊าซหุงต้มสูงขึ้น 8.00% ซึ่งเป็นการทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึง มิถุนายน 2565

ในกลุ่มอาหารก็ราคาปรับสูงขึ้น 6.18% โดยอาหารสดราคาเปลี่ยนแปลงตามต้นทุนการเพาะเลี้ยงและปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ส่วนเครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ราคาปรับขึ้นตามต้นทุน

สินค้าอุปโภคอื่น ๆ ราคาทยอยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย รวมถึงยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ตามต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะที่สินค้าบางรายการราคากลับลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่นกลุ่มข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลง 2.81% โดยเฉพาะราคาข้าวสารเนื่องจากปริมาณผลผลิตมีจำนวนมากกว่าปีที่ผ่านมา และค่าใช้จ่ายในการศึกษาลดลง 0.65% ตามค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาที่ปรับลดลงทุกระดับชั้นส่วนเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลง 0.06%

แนวโน้มเงินเฟ้อไทย

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ เดือนมิถุนายน 2565 อัตราเงินเฟ้อมีการขยายตัวต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงมีการขยายเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซล การปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้และการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) นอกจากนี้สินค้าอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปที่ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต รวมถึงต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์การระงับการส่งออกสินค้าในหลายประเทศ และอุปสงค์ที่เริ่มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ปี 2565 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 4.0 – 5.0% (ค่ากลางอยู่ที่ 4.5) ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง ส่วนการคาดการณ์เงินเฟ้อไตรมาส 2 มองว่าจะมากกว่า 4% แต่ต้องรอประเมินเงินเฟ้ออีกครั้ง ส่วนไตรมาส 3 หากทิศทางราคาน้ำมันยังสูงขึ้น เงินเฟ้อก็จะยังอยู่ในอัตราที่สูงอยู่เช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังคงต้องติดตาม ซึ่งการมีกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ชัดเจนนี้ช่วยให้ธุรกิจและครัวเรือนสามารถวางแผนการลงทุนและการใช้จ่ายสำหรับอนาคตได้

เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงหรือและความผันผวนของราคา สร้างความลำบากให้ธุรกิจในการตั้งราคาสินค้าและบริการ เช่นเดียวกับสร้างความลำบากให้กับคนทั่วไปในการวางแผนการใช้จ่าย แต่ถ้าเงินเฟ้อต่ำเกินไปหรือติดลบ บางคนอาจเลือกที่จะเลื่อนการใช้จ่ายไปก่อน เพราะเชื่อว่าในอนาคตราคาสินค้าจะลดลง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาที่ลดลงจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค แต่ถ้าหากทุกคนชะลอการใช้จ่ายเหมือนกัน ธุรกิจอาจต้องปิดตัว และหลายคนอาจตกงานได้ ซึ่งภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ก็ไม่ได้ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญจากในที่ช่วงไตรมาสแรก แม้จะมีการเริ่มดำเนินกิจการใหม่และเปิดประเทศอีกครั้งแต่ก็ยังไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจได้ทันที 

ปัญหาเชิงโครงสร้าง หนี้ครัวเรือน กับเงินเฟ้อ

ปัจจุบันระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวลไม่ว่าจะเทียบกับในอดีตหรือเทียบกับต่างประเทศโดยข้อมูลปี 2564 ชี้ว่าระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นสูงถึง 90.2% และเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ไทยมีระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเป็นอันดับที่ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลก และสูงเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียรองจากประเทศเกาหลีใต้ 

ส่งออก-ท่องเที่ยว: สองตัวแปรดึงเศรษฐกิจประเทศขึ้น

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ปรับเป้าส่งออกทั้งปีเป็นโต 5-8% คาดครึ่งปีหลังยังมีโอกาสโตภายใต้วิกฤต เนื่องจากวิกฤติอาหารโลก จะเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกอาหารได้เนื่องจากภาคการเกษตรโดยเฉพาะสินค้าจากข้าวและแป้งยังคงผลิตมากกว่าปีที่แล้ว ในภาคการท่องเที่ยวคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามามากขึ้น จากการเปลี่ยนกลยุทธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวของรัฐบาลที่มีการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดิอารเบีย ซึ่งมีกำลังการซื้อสูงแทนที่จะเน้นการท่องเที่ยวปริมาณมาก อีกเหตุผลมาจากนโยบายของจีน ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนยังไม่สามารถเดินทางมาแบบกรุ๊ปทัวร์เช่นในอดีตได้

ทั่วโลกต่างทำสถิติเงินเฟ้อสูงที่สุด

สำหรับอเมริกานั้นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคมพุ่งแตะระดับ 8.6% สูงสุดในรอบ 40 ปี ส่วนเงินเฟ้อของประเทศอื่นๆ ในเดือนเมษายน 2565 มีค่าดังนี้ ประเทศในกลุ่มยุโรปเฉลี่ยอยู่ที่ 7.4% อินเดีย  7.7% หรือประเทศที่อยู่ใกล้ไทยอย่างมาเลเซีย  2.3% สปป.ลาว 9.86% ฟิลลิปปินส์ 4.9% จีน  2.1% ญี่ปุ่น 2.5% อินโดนีเซีย 3.47% เป็นต้น สำหรับจีนนั้นเนื่องจากนโยบายการล็อคดาวน์ทำให้อุปสงค์ในการบริโภคสินค้ายังอยู่ในระดับต่ำ เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่ยังคงมีอัตราการบริโภคและการใช้เงินที่ต่ำ รวมถึงอัตราหนี้หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นที่สูงเป็นอันดับสองของโลกทำให้ยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคได้

แนวโน้มของอเมริกาและทั่วโลก

จากที่เงินเฟ้ออมเริกาทำสถิติสูงสุดทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปี (นับตั้งแต่ปี 2537) และลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ทางนักเศรษฐศาสตร์ของ Morgan Stanley คาดว่าเงินเฟ้อสหรัฐจะค่อย ๆ ผ่อนปรนลงในช่วงที่เหลือของปี 2565⁣ ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้นในเศรษฐกิจภาพรวมในระยะยาว และจะทำให้นักลงทุนเริ่มเบาใจกับภาวะเศรษฐกิจชะงักงันได้⁣⁣

ทั้งนี้มีหลากหลายปัจจัยที่เชื่อว่าสหรัฐฯ กำลังผ่านจุดสูงสุดของเงินเฟ้อแล้ว ทั้งการผ่อนปรนข้อพิพาทในส่วนของห่วงโซ่อุปทานและแนวทางการประเมินเงินเฟ้อ⁣⁣ Morgan Stanley ได้มองเห็นสัญญาณที่ดีว่า ปัญหาห่วงโซ่อุปทานเริ่มดีมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านพื้นจุดต่ำสุดไปแล้ว⁣⁣ หมายความว่าราคาที่เพิ่มสูงขึ้นที่เกิดจากภาวะขาดแคลนสินค้าจะเริ่มลดลงแล้ว จากอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐและยุโรปมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงเดือนที่ผ่านมา⁣⁣แล้ว นอกจากนี้ธนาคารกลางบราซิลยังประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.5% เป็น 13.25% หลัง FED ประกาศขึ้นดอกเบี้ย ส่วน⁣⁣ธนาคารกลางฮ่องกงประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 2% เป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 3 ในปีนี้ และหลายประเทศในยุโรปต่างพากันประกาศขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ จึงเป็นการส่งสัญญาณว่าอัตราเงินเฟ้อโลกมีแนวโน้มจะลดระดับลง

หากแนวโน้มเงินเฟ้อค่อย ๆ ผ่อนปรนลง ก็เริ่มเห็นสัญญาณบางอย่างได้ดังต่อไปนี้⁣⁣

  • อย่างแรกที่สำคัญก็คือ เงินเฟ้อสูงขึ้นในอัตราที่ลดลง จะช่วยลดความตื่นตระหนกเมื่อเทียบกับช่วงที่เงินเฟ้อสูงขึ้นและยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องช่วยให้ผู้คนลดความกลัวในตลาดได้ และทำให้นักลงทุนยังคงเชื่อมั่นในเสถียรภาพตลาดต่อไป 

  • อย่างที่สองก็คือ ความคาดหวังของนักลงทุนว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐไม่จำเป็นต้องเพิ่มมากขึ้น แนวคิดนี้จะช่วยให้ผลตอบแทนพันธบัตรมีเสถียรภาพ ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้ด้วยเช่นกัน ⁣⁣ข้อสังเกตคือตลาดดูเหมือนจะโฟกัสไปที่การเติบโตทางเศรษฐกิจและลดความกังวลเงินเฟ้อน้อยลง⁣⁣

ไทยกับการรับมือแรงกระแทกจากภาวะเงินเฟ้อ

ยิ่งไม่มีสัญญาณลดลงในราคาของภาคพลังงาน ความกังวลในเงินเฟ้อจะยิ่งเร่งให้คนกักตุนสินค้าที่มีแนวโน้มจะปรับตัวขึ้นในเวลาอันสั้น เช่น หากราคาน้ำมันจะปรับขึ้นวันพรุ่งนี้ก็จะเกิดอุปสงค์ (Demand) น้ำมันในวันนี้สูงขึ้น นอกจากนี้ราคาของอุปโภคบริโภคหลายอย่างก็เริ่มส่งสัญญาณการขึ้นราคาแล้ว เช่นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ส่งผลให้มีการกักตุนเพื่อรับมือกับราคาที่อาจจะขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ความกังวลนี้จะยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อตลาดการส่งออกและตลาดท่องเที่ยวของไทยยังไม่ทำได้เต็มที่ส่งผลให้การจ้างงานยังไม่กลับมาเท่าเดิมจึงยิ่งเสี่ยงกับภาวะ “Stagflation” หรือสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อกลับขึ้น ซึ่งนี่คือสัญญาณของสภาวะเศรษฐกิจที่ผิดปกติ หากเศรษฐกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ทันไตรมาสที่สามของปี 2565 นี้ ประเทศไทยก็จะเข้าสู่สภาวะ Stagflation แน่นอน 

ด้านการนำเข้าส่งออก

เนื่องจากสินค้านำเข้าของไทยส่วนใหญ่จำนวนมากถูกนำไปใช้ผลิตเพื่อการส่งออก ไม่ได้ใช้ในการบริโภคขั้นปลายหรือผลิตเพื่อการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ขณะที่สัดส่วนการนำเข้าต่ำเพียง 17% เท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เงินเฟ้อของไทยมีความอ่อนไหวต่อราคาสินค้านำเข้าต่ำ นอกจากนี้ภาวะที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า-เงินบาทอ่อนค่า เป็นอุปสรรคต่อเม็ดเงินไหลเข้าเนื่องจากตลาดอเมริกาเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกหลักของไทย

ตอนนี้ทั่วโลกต่างมีแนวโน้มที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อ ยกเว้นธนาคารแห่งประเทศไทยที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิมไว้เพื่อไม่ให้กระทบกับโครงสร้างเศรษฐกิจและหนี้ครัวเรือน ดังนั้นผู้ที่จะได้รับผลกระทบหนักจากภาวะเงินเฟ้อนี้คือคนที่มีอัตราการออมต่อรายได้ต่ำ และภาคธุรกิจที่ต้องมีการหมุนเวียนเงินและผูกพันกับสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐาน ซึ่งจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดและเสี่ยงต่อการล้มในระยะยาว แม้ว่าในแง่การแก้ปัญหาแล้วการขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นการลดเงินในระบบ ลดการจับจ่ายใช้สอยเพราะถึงแม้เก็บไว้ในธนาคารแล้วจะได้ดอกเบี้ย แต่ในขณะเดียวกันดอกเบี้ยเงินกู้ต่างก็ปรับตัวขึ้นอีก ซึ่งเป็นเหตุให้ไทยไม่พร้อมสำหรับการปรับดอกเบี้ยขึ้น แต่ถ้าหากยังมีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่องเกินกว่ากรอบที่ตั้งไว้ก็อาจทำให้ต้องปรับดอกเบี้ยตามประเทศอื่น ๆ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะช่วยลดแรงเสียดทานของเงินเฟ้อได้ แต่หากต้นทุนการผลิตยังสูงก็ยังทำให้ราคาของสินค้ายังปรับลงไม่ได้ง่าย ๆ อีกทั้งยังต้องการกลไกตลาดที่มีระยะเวลาในการปรับตัวของทั้งฝั่งอุปสงค์และอปุทานให้เข้าสู่จุดดุลยภาพ 

อ้างอิง: CNN, bloomberg, tradingeconomics, กระทรวงพาณิชย์





ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Founder Model วิถีผู้นำแบบ Brian Chesky CEO เบื้องหลังความสำเร็จของ Airbnb

Founder Mode เป็นแนวทางการบริหารที่กำลังได้รับความสนใจในวงการสตาร์ทอัพ โดยแนวคิดนี้ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางจาก Brian Chesky, CEO ผู้พา Airbnb เติบโตจนกลายเป็นธุรกิจระดับโลก ด้...

Responsive image

ไขความลับ Growth Hacking: บทเรียนจาก Spotify สู่ธุรกิจยุคใหม่

ในโลกธุรกิจที่การแข่งขันดุเดือดและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืนคือสิ่งที่ทุกธุรกิจต่างใฝ่ฝัน Growth Hacking กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ไขประตูสู่ความสำเร็จ ด้วย...

Responsive image

เปิดปรัชญาแห่งความเป็นผู้นำของ Steve Jobs

Steve Jobs ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple ที่โด่งดัง อาจไม่ใช่เจ้านายในฝันของใครหลายคน แต่ปรัชญาการบริหารของเขาพิสูจน์แล้วว่าทรงพลังและนำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ คำพูดที่สะท้อนแนวคิดนี้ได้...