ในวันนี้หลายรู้จัก GO-JEK ในหลายรูปแบบ บางคนรู้จักว่าเป็นยูนิคอร์นรายใหม่แห่งอินโดนีเซีย บางคนรู้จักว่าเป็นเป็นสตาร์ทอัพผู้ให้บริการเรียกรถแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์ (Ride-hailing) ผู้กินส่วนแบ่งในตลาดอินโดนีเซียไปมากที่สุด ซึ่งตอนนี้สตาร์ทอัพยูนิคอร์นตัวนี้กำลังขยายตัวจากในประเทศออกสู่ตลาดนอกประเทศ
แต่วันนี้เราจะพาไปดูเส้นทางคร่าวๆ ของ GO-JEK ที่มาไกลได้จนวันนี้เขามีจุดเริ่มต้นมาจากอะไร และเติบโตขึ้นมาเป็นยูนิคอร์นได้อย่างไร คำถามก็คือทำไมเราต้องพาไปรู้จักกับสตาร์ทอัพรายนี้ล่ะ?
คำตอบก็คือเพราะสตาร์ทอัพรายนี้กำลังขยายตลาดเข้าสู่ประเทศอื่นๆ ได้แก่ เวียดนาม, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์ และไทย ล่าสุด Techsauce เราก็เคยรายงานไปแล้วว่า GO-JEK มุ่งสู่ประเทศเวียดนามภายใต้ชื่อ GO-VIET และมุ่งสู่ประเทศไทยในชื่อ GET เรียกได้ยูนิคอร์นตัวนี้ว่ามาไกลกว่าที่ใครหลายคนคิดจริงๆ
INRIX บริษัทที่ทำงานเกี่ยวการวิจัยข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ข้อมูลที่ชื่อว่า INRIX Global Traffic Scorecard ซึ่งระบุว่ากรุงจาร์ตาจากประเทศอินโดเซียมีการจราจรที่คับคั่งเป็นอันดับที่ 17 ของโลก (เป็นรองจากกรุงเทพมหานครของเราอยู่ในอันดับที่ 16 ของโลก และเป็นรองเมืองคานสค์จากประเทศรัสเซียซึ่งอยู่ในอันดับที่ 15) ซึ่งชาวอินโดนีเซียต้องใช้เวลาไปกับการเดินทางมากถึง 63 ชั่วโมงต่อปี
นอกจากนี้ข้อมูลจาก AirVisual แอปที่ตรวจสอบคุณภาพอากาศจากทั่วโลก ก็ระบุว่า กรุงจาร์กาตา ประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นเมืองที่ติด Top 10 เมืองที่มีสภาพอากาศเป็นมลพิษที่สุดในโลกอีกด้วย
ถือได้ว่า กรุงจาร์กาตา เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย มีสถิติด้านเมืองรถติดระดับโลกมาหลายปีแล้ว ประกอบกับจำนวนรถจักรยานยนต์ที่ลงทะเบียนในระบบซึ่งมีมากถึง 76 ล้านคัน (ข้อมูลเมื่อปี 2012)
ทำให้ชายหนุ่มที่ชื่อว่า Nadiem Makarim อดีตนักศึกษา Harvard Business School (ปัจจุบันเป็น CEO ของ GO-JEK) ซึ่งในระหว่างเรียน เขาคิดว่าจะทำสตาร์ทอัพอะไรดี?
และด้วยเหตุผลที่เราเล่ามาข้างต้น จึงทำให้เขาก่อตั้งบริการเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้าง (อินโดนีเซียเรียกบริการแบบนี้ในชื่อ Ojek) ขึ้นมา รูปแบบที่เปิดให้บริการครั้งแรก คือ การให้ผู้ใช้บริการโทรเข้ามาที่ศูนย์ เพื่อให้มอเตอร์ไซค์มารับไปส่งถึงที่หมาย ในเวลานั้นมีรถมอเตอร์ไซค์ให้บริการแค่ 20 คันเท่านั้น ถือเป็นการเปิดตัวหลังจาก Uber ก่อตั้งมาได้ประมาณ 1 ปีแล้ว (Uber ก่อตั้งเมื่อปี 2009)
ต่อมาไม่นานนักในเดือนมกราคม 2015 เปิดตัวแอปชื่อว่า GO-JEK บน iOS และ Android เพื่อให้บริการรับส่งคน สินค้า และบริการสั่งซื้อสินค้าต่างๆ ในกรุงจาร์กาตา (เมืองหลวงของอินโดนีเซีย) และตามหัวเมืองสำคัญๆ ในประเทศอินโดนีเซีย เริ่มมีคนขับอยู่ที่ประมาณ 800 คน
ประกอบกับบริการ Ride-Hailing ชื่อดังอย่าง Uber เริ่มทำตลาดมากขึ้นในทั่วโลก ทำให้นักลงทุนในอินโดนีเซียต่างเริ่มสนใจมาลงทุนกับ Go-Jek
Ajey Gore, CTO ของ GO-JEK กล่าวไว้ในงาน Techsauce Global Summit 2018 ว่าการเปิดตัว GO-JEK ในช่วงแรก มีผู้เข้าใช้แอปจำนวนมาก เนื่องจากมันได้ช่วยเข้าไปแก้ปัญหาให้ผู้คนได้ ไม่ว่าใครจะลืมของไว้ที่บ้านและต้องการให้คนนำมันไปส่ง บ้างต้องการอาหารไปส่งยังออฟฟิศ
"Go-Jek สามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าได้ จากการที่เราได้ทำการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการคืออะไร ทำให้เราสามารถหาโอกาสในการเข้าไปยังตลาดใหม่ๆ ได้" CTO ของ GO-JEK กล่าว
พูดง่ายๆ ก็คือ GO-JEK มองออกแล้วว่าลูกค้าต้องการอะไร จึงออกบริการที่ตรงใจลูกค้าออกมาได้นั่นเอง
ต่อมาในปี 2016 GO-JEK มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ประมาณ 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (อ้างอิงข้อมูลจาก CB Insights) และผ่านไปปีกว่าๆ หลังจากการเปิดตัวครั้งแรก ช่วงกุมภาพันธ์ 2016 Go-Jek มีจำนวนคนขับรถให้บริการอยู่ที่ 200,000 คนแล้ว
หลังจากนั้นไม่นาน ในเดือนสิงหาคม 2016 Go-Jek ได้รับเงินระดมทุน 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากบริษัทต่างๆ ได้แก่ กูเกิล (Google), วอร์เบิร์ก พินคัส (Warburg Pincus), เคเคอาร์ (KKR), เทนเซ็นต์ (Tencent) และเหม่ยถวน-เตี้ยนผิง (Meituan-Dianping) ทำให้มีมูลค่าบริษัทพุ่งสู่ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นยูนิคอร์นตัวแรกของอินโดนีเซียไปในที่สุด
ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพที่กลายเป็นยูนิคอร์นไปแล้ว 4 ราย ได้แก่ รายแรกคือ GO-JEK, รายที่ 2 คือ Traveloka, รายที่ 3 คือ Tokopedia และรายที่ 4 คือ Bukalapak
เราไม่ได้ต้องการที่จะไปแข่งขันกับใคร เพียงแค่ต้องการร่วมมือกับสตาร์ทอัพอื่นๆ และเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้คนในพื้นที่ - Ajey Gore, CTO of GO-JEK
Go-Jek ยูนิคอร์นแห่งอินโดนีเซีย เริ่มต้นจากการรับขนส่ง On-Demand ต่อมาก็ขยายสู่การขนส่งเฉพาะทาง อย่างเช่น บริการสั่งซื้อ-ขนส่งยารักษาโรค ผ่านบริการที่ชื่อว่า Go-MED แล้วยังรวมไปถึงบริการจองการใช้บริการต่างๆ เช่น หมอนวด และยังมีบริการอีกสารพัด
ที่น่าทึ่งหลังจากนั้น คือการมาถึง GO-PAY ซึ่งเป็นบริการ Payment และ E-Wallet ของ GO-JEK เอง ที่เปิดให้คนใช้บริการต่างๆ ของ GO-JEK จ่ายออนไลน์ได้สะดวกสบาย และยังรวมไปถึงบริการอื่นๆ อย่างเช่น การเติมเงินมือถือ เป็นต้น
แค่เฉพาะในเดือนมกราคม 2017 มีคนโหลดแอปมากกว่า 30 ล้านครั้ง ส่วนตอนนี้ ในปี 2018 มียอดผู้ดาวน์โหลดแอป Go-Jek ไปมากกว่า 98 ล้านครั้งแล้ว
สิ่งสำคัญไม่ใช่การเติบโตของธุรกิจเท่านั้น แต่คือการพยายามสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนให้ได้มากที่สุด - Nadiem Makarim, CEO of GO-JEK
นอกจากนี้ CTO ของ GO-JEK ยังระบุว่าแพลตฟอร์มของ GO-JEK นั้นได้สร้างผลกระทบขนาดใหญ่ต่อสังคมอินโดนีเซีย โดยมีเป้าหมายในการเชื่อมต่อผู้คนด้วยที่มีความต้องการบางอย่างร่วมกัน รวมถึงยังมองว่าเรื่องของความสะดวกสบายนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้ GO-JEK นั้นเป็นประโยชน์ทั้งกับลูกค้าและตัว GO-JEK เองด้วย ซึ่งในปี 2018 นี้ GO-JEK ได้มีบริการให้ใช้ได้มากถึง 18 บริการแล้ว
"เราจึงมีความท้าทายในเรื่องของการขยายและพัฒนาตัวแอปพลิเคชัน ให้สามารถรองรับความหลากหลายของบริการเหล่านี้ ซึ่งเราสามารถรับมือกับมันด้วยสุดยอดเทคโนโลยีที่เรามี และทีมที่มีศักยภาพ" Andre Soelistyo, President ของ GO-JEK ให้สัมภาษณ์กับทาง Techsauce ไว้เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และภาพบริการที่เราคลี่ออกมาให้ดูข้างต้น ก็พอสะท้อนให้เห็นว่า GO-JEK กลายเป็นแพลตฟอร์มแบบเต็มตัวไปแล้ว และมีแนวโน้มจะพัฒนาบริการอยู่เดิมและสร้างบริการใหม่ๆ ต่อไป
และเมื่อแพลตฟอร์มใหญ่อย่าง Uber โบกมือลาตลาด Southeast Asia (ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ทำให้ GO-JEK ประกาศขอบคุณ Uber และลั่นวาจาพร้อมขยายบริการออกสู่นอกประเทศเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค และไม่ให้มีผู้บริการรายใหญ่แค่เจ้าเดียว นั่นคือ Grab
"ผู้บริโภคต่างมีความสุขเมื่อพวกเขามีทางเลือกเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในไทย เวียดนาม สิงคโปร์ หรือ ฟิลิปปินส์ คือ พวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่มีทางเลือกมากพอ สำหรับบริการ Ride-hailing" President ของ GO-JEK กล่าว
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมในเวลาต่อมา GO-JEK ออกประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะทำการขยายตลาดสู่ 4 ประเทศใน Southeast Asia ได้แก่ เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และไทย
นอกจากนี้ President ของ GO-JEK ให้คำแนะนำต่อ Startup อื่นๆ ที่อยากขยายสู่ตลาด Southeast Asia โดยกล่าวว่า "สิ่งสำคัญคือต้องทำความเข้าใจแต่ละตลาดอย่างลึกซึ้ง ต้องไม่มองเพียงความท้าทายและโอกาสที่จะได้รับเท่านั้น แต่ต้องมองให้ลึกไปถึงการใช้ชีวิตของผู้คนในประเทศนั้นด้วย"
ซึ่งคำแนะนำดังกล่าวก็ทำให้เป็นแนวทางที่ GO-JEK ใช้ในการสร้าง Branding ให้แตกต่างออกไปตามแต่ละท้องถื่นนั้นนั่นเอง อย่าง GO-VIET เป็นชื่อบริการในเวียดนาม ส่วน GET เป็นชื่อบริการในประเทศไทย ซึ่งคุณภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GET ก็ย้ำว่า Localization มีความสำคัญและไม่ใช่เพียงการแปลภาษาเท่านั้น "แต่คือการทำให้ทั้งบริษัท ตั้งแต่ทีมผู้บริหาร และกฎระเบียบทุกอย่างเข้ากับนิสัยของผู้ให้บริการและผู้บริโภคคนไทย"
หลังจากนี้คงต้องจับตาแบบไม่กะพริบกับการต่อสู้ยกแรกของ GO-JEK ที่ส่ง GET เข้ามาในตลาดประเทศไทยว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะตอนนี้ GO-VIET ในเวียดนามก็เริ่มนำร่องให้บริการเรียกมอเตอร์ไซค์และส่งพัสดุไปก่อนแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก Techsauce (1) (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8) (9), TechCrunch (1) (2) และ CNBC (1) (2) (3)
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด