ขณะนี้ทั้งโลกกำลังเข้าสู่ภาวะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าหรือ COVID-19 และสิ่งที่เราเห็นคือมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการ “กระชับพื้นที่” ของแต่ละประเทศ ซึ่งแตกต่างกันออกไปตามแต่บริบท แต่ทั้งนี้ เป้าหมายหลักที่มีร่วมกันก็เป็นไปเพื่อ Flattening the Curve หรือ “การลดจำนวนผู้ติดเชื้อ” ให้ต่ำที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่น้อยก็ตาม แต่ทำไมการลดจำนวนผู้ติดเชื้อถึงสำคัญสำหรับการควบคุมโรคระบาดในครั้งนี้ การเว้นระยะพร้อมดูแลสุขอนามัยอย่างเข้มข้นขึ้นของเราเองก็มีส่วนช่วยให้สถานการณ์บรรเทาลงได้เป็นอย่างมาก
เราทราบกันดีว่าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าหรือ COVID-19 มีความรุนแรงสูงถึงชีวิต ซึ่งจากสถิติโดย Our World in Data ที่เก็บสถิติจากผู้ป่วยในประเทศจีนทั้งหมด 44,415 คน บุคคลที่ติดเชื้อนี้และแสดงอาการกว่า 81 เปอร์เซ็นต์จะหายได้เองด้วยการรักษาตามอาการ ราว 14 เปอร์เซ็นต์จะมีอาการรุนแรง (หายใจติดขัด ปอดติดเชื้อ) ส่วน 5 เปอร์เซ็นต์มีอาการเข้าขั้นวิกฤติ (ช็อก อวัยวะภายในหยุดทำงาน) และจากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด มีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ราว 2.3 เปอร์เซ็นต์
Our World in Data ยังมีสถิติสัดส่วนผู้เสียชีวิตรายอายุอยู่ด้วย โดยพบว่ากลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป มีอัตราการเสียชีวิตเมื่อพบโรคถึง 14.8 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือกลุ่มอายุ 70-79 ปี และ 60-69 ปี ส่วนวัยทำงานแม้จะมีอัตราการเสียชีวิตเกิดขึ้นไม่มาก แต่จากรายงานพบว่าหากเป็นโรคที่เสี่ยงอยู่แล้ว เช่น โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ก็จะเพิ่มโอกาสเสียชีวิตอยู่มากทีเดียว ทั้งนี้ ในรายงานพบว่าเด็กที่ติดเชื้อ COVID-19 มีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำมาก แต่เราก็ยังควรเฝ้าระวังกลุ่มเด็กทารกอยู่ดี
จากสถิติที่ได้ชมไปแล้ว เราอาจสรุปได้ว่า บุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะมีอาการรุนแรงไปจนถึงเสียชีวิต คือ ผู้สูงอายุ เด็กทารก และผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อน ซึ่งอาการและลักษณะติดต่อของเชื้อไวรัสมีลักษณะคล้ายเชื้อหวัด คือติดได้จากการช่องทางที่เข้าไปในร่างกาย ทั้งนี้หากเชื้อเข้าไปในบุคคลที่ร่างกายแข็งแรง ก็อาจจะไม่แสดงอาการเลย แต่ยังคงแพร่ออกจากร่างกายผ่านการไอ จาม พูด ที่นำสารคัดหลั่งออกมาด้วย และเนื่องจากบุคคลเหล่านี้ร่างกายแข็งแรง จึงยากต่อการตรวจพบและรักษาจนหมดเชื้อ
ในประเทศที่มีจำนวนประชากรสูง มีอัตราประชากรต่อพื้นที่หนาแน่น หากผู้ที่ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการยังคงใช้ชีวิตตามปกติ เช่น เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะที่หนาแน่น ยังคงชมกีฬาหรือกิจกรรมสันทนาการที่มีคนจำนวนมาก หรือร่วมงานสังคมต่างๆ บุคคลเหล่านี้ก็จะเป็น Super Spreader ที่แพร่เชื้อไปยังคนรอบข้าง ซึ่งเพิ่มโอกาสที่เชื้อจะเข้าถึงกลุ่มเสี่ยงอย่างผู้สูงอายุ เด็กทารก และผู้ป่วยเสี่ยงโรคแทรกซ้อนมากขึ้น
และหากเชื้อเข้าถึงคนกลุ่มนี้พร้อมกันเป็นจำนวนมากโดยไม่มีมาตรการควบคุม จำนวนผู้ป่วยโรคติดเชื้อในระดับรุนแรงและวิกฤติก็จะเพิ่มสูงขึ้นในระยะเวลาอันสั้นจนทำให้เกินความสามารถของระบบการรับมือของสาธารณสุขในขณะนั้น องค์การอนามัยโลกหรือ WHO คาดการณ์ว่า 1 ใน 4 ของผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เมื่อเครื่องมือไม่พอก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสเสียชีวิตให้พุ่งสูงขึ้นไปอีก
จากกราฟด้านบนแสดงถึงการคาดการณ์ระหว่างการแพร่ระบาดโรคที่ไม่มีมาตรการควบคุม กับ การแพร่ระบาดที่มีการควบคุม โดยการแพร่ระบาดที่ขาดมาตรการควบคุม แม้จะจบในระยะสั้น แต่จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นสูงมากในระยะอันสั้น เป็นเพิ่มภาระงานให้กับสาธารณสุขที่ไม่ได้มีหน้าที่ดูแลแค่โรคระบาดชนิดเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องดูแลเหตุฉุกเฉินอื่น ผลกระทบจึงไม่ได้อยู่แค่กับผู้ป่วยจากโรคที่แพร่ระบาด แต่ผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ผู้มีอาการฉับพลันจากโรคประจำตัว ก็ไม่สามารถเข้ารับบริการได้
ดังนั้น การออกมาตรการควบคุมเพื่อให้จำนวนผู้ติดเชื้อจากโรคระบาดมีจำนวนต่ำกว่าขีดจำกัดของระบบสาธารณสุขจึงสำคัญมากในเวลานี้ ซึ่งวิธีการก็เป็นไปตามลักษณะการแพร่ของเชื้อ โดยในกรณีของ COVID-19 ก็คือการทำ Social Distancing การเว้นระยะระหว่างการออกใช้ชีวิตทางสังคม ร่วมกับการเพิ่มความเข้มข้นในการรักษาสุขอนามัย ทั้งการใส่หน้ากากและการล้างมืออย่างถูกวิธี
ติดตามจากบทความ
อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดความชันของกราฟจำนวนผู้ติดเชื้อคือการประกาศควบคุมกิจกรรมสาธารณะ ซึ่งหลายประเทศเริ่มประกาศออกมาโดยมีเกณฑ์ที่ต่างออกไป รวมถึงประเทศไทยที่ล่าสุดประกาศปิดสถานศึกษาและสถานบริการเป็นเวลา 14 วัน
ติดตามจากข่าว
แน่นอนว่าหากเราไม่ออกไปไหน โอกาสติดเชื้อก็จะต่ำลง เชื้อจะเข้าถึงกลุ่มเสี่ยงได้ยากขึ้น โอกาสเกิดผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติก็จะลดลงตามไปด้วย การ Flattening the Curve จึงเป็นวิธีการที่ลดความเสี่ยงของตัวเองและช่วยให้ระบบสาธารณสุขไม่ Overload และไว้เพื่อรักษาชีวิตในกรณีฉุกเฉินจริงๆ
แม้ว่าเราจะมีหนทางฝ่าวิกฤติไปได้อย่างปลอดภัยแล้ว แต่ยังคงมีประเด็นมากมายให้เราต้องตระหนักเพื่อกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข แต่ก่อนที่จะคำนึงถึงประเด็นหลังจากนี้ การรักษาสุขอนามัยตามที่ WHO แนะนำ พร้อมกับพยายามใช้ชีวิตให้มีความสุข ไม่ส่งต่อข่าวปลอมและฉวยโอกาสเอาเปรียบ ก็เป็นวิธีสนับสนุนให้สังคมรอดพ้นจากโรคระบาดได้ด้วยกันเป็นอย่างดี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ourworldindata.org
ขอบคุณภาพประกอบจาก Photo by Anthony Tran on Unsplash
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด